จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายน 2564

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 122 เดือนกันยายน 2564

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี
2. การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตรออมทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก
3. การดำเนินการทางภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ
4. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ จ่ายที่ สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax

ข่าวภาษี
1. กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากดอกเบี้ยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 3874/2560
ระหว่าง     กรมสรรพากร                โจทก์
         บริษัท อ. จำกัด และพวกรวม 8 คน     จำเลย
เรื่อง สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างในการเรียกเอาเงินค่าหุ้นที่ยังใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ย

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 724) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละหกจุดสาม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3zwlF8x

2. การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตรออมทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก
     กฎกระทรวง ฉบับที่ 376 (พ.ศ. 2564) กำหนดให้บุคคลที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย และประสงค์จะยื่นคำร้องขอคืนตามมาตรา 63 สำหรับดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตรออมทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกเฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นก่อนการเป็นผู้ทรงพันธบัตรออมทรัพย์ของบุคคลนั้น สามารถยื่นคำร้องขอคืนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันการเงินที่ได้มีความตกลงเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการขอคืนภาษีอากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้กับกรมสรรพากรแล้วได้
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3zuC51i

3. การดำเนินการทางภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ
     กฎกระทรวง ฉบับที่ 377 (พ.ศ. 2564) กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำ ส่ง รับ หรือเก็บรักษาเอกสารหลักฐาน และวิธีการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3gJXM67

4. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ จ่ายที่ สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax
     คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 336/2564 กำหนดให้ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ จ่ายที่เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3yxsxkK

ข่าวภาษี
1. มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
     เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยังคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3sULUmI

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 3874/2560
ระหว่าง     กรมสรรพากร                โจทก์
         บริษัท อ. จำกัด และพวกรวม 8 คน     จำเลย
เรื่อง สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างในการเรียกเอาเงินค่าหุ้นที่ยังใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ย

ประเด็นข้อพิพาท : โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นหรือไม่

ข้อเท็จจริง : บริษัท อ. จำกัด จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าเครื่องเรือนและเครื่องเฟอร์นิเจอร์ มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนมูลค่าหุ้นตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 บริษัท อ. จำกัด ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) โดยชำระภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วน เจ้าพนักงานของโจทก์จึงได้ตั้งเป็นยอดภาษีอากรค้างไว้ตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร ต่อมาเจ้าพนักงานได้เร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้าง โดยการอายัดบัญชีเงินฝากของ บริษัท อ. จำกัด และบริษัท อ. จำกัด ไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอื่น มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แบ่งทุนเป็นหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นผู้ถือหุ้น และได้ชำระค่าหุ้นไว้แล้วเพียงหุ้นละ 25 บาท ยังมีมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบอีกหุ้นละ 75 บาท โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้ บริษัท อ. จำกัด นำเงินไปชำระหนี้ภาษีอากร และขอให้บอกกล่าวให้ผู้ถือหุ้นนำเงินมาชำระค่าหุ้นให้ครบถ้วนตามจำนวนหุ้นที่แต่ละบุคคลถือไว้ แต่บริษัท อ. จำกัด ก็ไม่ได้นำเงินมาชำระหนี้ภาษีอากรให้แก่โจทก์ และไม่ใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระเงินค่าหุ้น โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากร จึงได้ใช้สิทธิเรียกร้องแทน บริษัท อ. จำกัด ลูกหนี้ โดยมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ในฐานะผู้ถือหุ้น เพื่อให้นำเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ บริษัท อ. จำกัด ค้างชำระแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มิได้นำเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ ศาลภาษีอากรกลางจึงพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่มีสิทธิ์คิดดอกเบี้ย โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

คำพิพากษา : ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ยังชำระเงินค่าหุ้นแก่บริษัท อ. จำกัด ไม่ครบถ้วน โจทก์ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องแทนบริษัท อ. จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เพื่อให้นำเงินค่าหุ้นที่ยังส่งชำระไม่ครบมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ บริษัท อ. จำกัด ค้างชำระแก่โจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต้องชำระเอาไว้ในหนังสือดังกล่าว แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้น ตามมาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 225 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 กำหนดให้ภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง เมื่อถึงกำหนดชำระแล้วถ้ามิได้เสียหรือนำส่งให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง และวรรคสอง กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างได้โดยไม่ต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 2332 กำหนดให้กรณีลูกหนี้ขัดขื่นไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเรียกในการเรียกให้ผู้ซึ่งเป็นหนี้ลูกหนี้จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์นั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแทนลูกหนี้ก็ได้ มาตรา 1105 วรรคสาม3 กำหนดให้การใช้เงินค่าหุ้นครั้งแรก ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ มาตรา 1110 วรรคสอง4 ในการประชุมตั้งบริษัท ให้กรรมการเรียกให้ผู้ถือชำระค่าหุ้นครั้งแรกไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้นที่จองชื่อซื้อไว้ มาตรา 11205 กำหนดให้กรรมจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้นส่วนที่ยังชำระไม่ครบอีกเมื่อไหร่ก็ได้ และมาตรา 11226 กำหนดให้กรณีผู้ถือหุ้นมิได้ชำระค่าหุ้นส่วนที่ยังชำระไม่ครบภายในเวลาที่กรรมการกำหนด ผู้ถือหุ้นนั้นต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ชำระจนถึงวันที่ได้ชำระครบ

     จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่บริษัท อ. เป็นหนี้ภาษีอากรค้าง ย่อมทำให้กรมสรรพากรมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท อ. ซึ่งมีอำนาจในการเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้างได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล กล่าวคือ มีอำนาจในการยึดทรัพย์สินของบริษัท หรืออายัดสิทธิเรียกร้องของบริษัทได้ กล่าวคือ กรณีที่บริษัท อ. มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่หนี้นั้นถึงกำหนดชำระแล้ว กรมสรรพากรก็มีอำนาจที่จะอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นเพื่อมาชำระหนี้ต่อกรมสรรพากรได้ และในส่วนของบริษัท อ. ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นส่วนที่ยังชำระไม่ครบย่อมทำให้บริษัท อ. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ถือหุ้นดังกล่าว

     ด้วยเหตุนี้ การที่บริษัท อ. เป็นเจ้าหนี้ของผู้ถือหุ้น และกรมสรรพากรมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท อ. และเมื่อบริษัท อ. เป็นหนี้ภาษีอากรค้างแล้วหากบริษัท อ. มิได้เรียกให้ผู้ถือหุ้นซึ่งยังชำระค่าหุ้นไม่ครับ กรมสรรพากรก็มีสิทธิใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ กล่าวคือ ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัท อ. เรียกให้ผู้ถือหุ้นซึ่งยังชำระค่าหุ้นไม่ครบให้ชำระค่าหุ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ เพื่อนำค่าหุ้นนั้นมาชำระหนี้ภาษีอากรค้างต่อไป

     อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นมิได้ชำระค่าคุ้นที่ยังชำระไม่ครบภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ผู้ถือหุ้นจึงมีหน้าที่ต้องเสียดอกเบี้ยจากค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบนับแต่วันที่กำหนดให้ชำระจนถึงวันที่ได้ชำระครบตามนัยของกฎหมายข้างต้น

     ดังนั้น การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

1มาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้ว่า
“ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งตามลักษณะนี้เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่ง ให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง
เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าวอธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรเขตก็ได้…”

2มาตรา 233 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ว่า
“ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”

3มาตรา 1105 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ว่า
“อันหุ้นนั้น ท่านห้ามมิให้ออกโดยราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้
การออกหุ้นโดยราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้นั้น หากว่าหนังสือบริคณห์สนธิให้อำนาจไว้ ก็ให้ออกได้ และในกรณีเช่นนั้น ต้องส่งใช้จำนวนที่ล้ำมูลค่าพร้อมกันไปกับการส่งใช้เงินคราวแรก
อนึ่ง เงินส่งใช้ค่าหุ้นคราวแรกนั้น ต้องมิให้น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้”

4มาตรา 1110 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ว่า
“เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัทแล้ว ให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทมอบการทั้งปวงให้แก่กรรมการของบริษัท
เมื่อกรรมการได้รับการแล้ว ก็ให้ลงมือจัดการเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้งหลายใช้เงินในหุ้นซึ่งจะต้องใช้เป็นตัวเงิน เรียกหุ้นหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า ตามที่ได้กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนบอกกล่าวป่าวร้องหรือหนังสือชวนให้ซื้อหุ้น”

5มาตรา 1120 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ว่า
“บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น”

6มาตรา 1122 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ว่า
“ถ้าและเงินอันจะพึงส่งใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้นผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวันกำหนดไซร้ ผู้นั้นจำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ”

นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9785
Email: warinthorns@dlo.co.th