จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายน 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 113 เดือนกันยายน 2563

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น
2. ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
3. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรในระบบอัตโนมัติ เป็นจำนวน 2 เท่า
4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับค่าจ้างลูกจ้างที่มีทักษะสูง เป็นจำนวน 1.5 เท่า
5. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง เป็นจำนวน 2.5 เท่า
6. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ เป็นจำนวน 2 เท่า
7. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข่าวภาษี
1. มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9144/2560
ระหว่าง         บริษัท พ. จำกัด     โจทก์
             กรมสรรพากร       จำเลย
เรื่อง การเพิ่มทุนและลดทุน

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น
     กฎกระทรวง ฉบับที่ 367 (พ.ศ. 2563) ได้ประกาศยกเลิกความในข้อ 6 จัตวาเดิม และได้กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สำหรับหนี้ส่วนที่ได้ปลดให้แก่ลูกหนี้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3c79tjF

2. ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
     คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 328/2563 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราสำหรับการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทต่าง ๆ อาทิ บุคคลธรรมดา นิติบุคคลในหลายกรณี โดยเงินได้ที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ให้หักไว้อัตราร้อยละ 2.0
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2FK3Sny

3. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรในระบบอัตโนมัติ เป็นจำนวน 2 เท่า
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 710) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรในระบบอัตโนมัติ ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 2 เท่า
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3kUppZC

4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับค่าจ้างลูกจ้างที่มีทักษะสูง เป็นจำนวน 1.5 เท่า
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 711) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานให้แก่ลูกจ้างที่มีทักษะสูง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 1.5 เท่า
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2KtASTr

5. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง เป็นจำนวน 2.5 เท่า
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 712) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม หรือจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง ในหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2563 เป็นจำนวน 2.5 เท่า
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3nEljGD

6. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ เป็นจำนวน 2 เท่า
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นจำนวน 2 เท่าของเงิน หรือรายจ่ายที่บริจาค แล้วแต่กรณี
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/36RlGXJ

7. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 715) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ขยายระยะเวลาและคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/35KDaFO

ข่าวภาษี
1. การกำหนดจำนวนรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
     เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการของลักษณะ การดำเนินการด้านการพาณิชย์หรือการเงินที่เชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไรระหว่างกันของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
     และเห็นชอบหลักการยกเว้นให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ต่อรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสองร้อยล้านบาทไม่ต้องรายงานข้อมูลและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี โดยให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3kNaFM2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9144/2560
ระหว่าง         บริษัท พ. จำกัด     โจทก์
             กรมสรรพากร       จำเลย
เรื่อง การเพิ่มทุนและลดทุน

ประเด็นข้อพิพาท : การเพิ่มทุนและลดทุนเพื่ออำพรางการให้เปล่า

ข้อเท็จจริง : บริษัท พ. ซื้อหุ้นในบริษัท ส. เป็นจำนวน ร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมด และบริษัททั้งสองมีกรรมการส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกันและมีสถานประกอบการอยู่ที่เดียวกัน ในปี 2539 – 2543 บริษัท ส. ได้กู้ยืมเงินจากบริษัท พ. และมีดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวนมาก โดยในช่วงเวลาเดียวกันบริษัท ส. ได้ทำการเพิ่มทุนและลดทุนหลายครั้ง โดยบริษัท พ. ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ส. เช่น

     1. ปี 2542 บริษัท ส. ลดทุนจำนวน 97,000,000 บาท แต่ต่อมาก็เพิ่มทุน 97,000,000 บาท โดยบริษัท พ.เป็นผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด ด้วยวิธีแปลงหนี้เป็นทุน
     2. ปี 2543 บริษัท ส. เพิ่มทุนอีก 87,000,000 บาท และบริษัท พ. เป็นผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดด้วยการชำระเป็นเงินสด แต่เพียงแค่สองเดือนต่อมาบริษัท ส. ก็ได้ลดทุนลงจำนวน 87,000,000 บาท

     นอกจากนี้ ในปี 2546 บริษัท พ. ยังขายหุ้นที่ถือในบริษัท ส. จำนวน 60,000 หุ้น ให้กับบริษัทบริษัทในเครือ ในราคาหุ้นละ 151 บาท มีต้นทุนของหุ้นที่ขาย หุ้นละ 520.94 บาท โดยลงบัญชีว่ามีผลขาดทุนจากการขายหุ้นดังกล่าวจำนวน 22,510,855.26 บาท

     เจ้าพนักงานตรวจสอบและประเมินภาษีบริษัท พ. ด้วยเหตุที่ว่า การที่บริษัท พ. ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ส. เป็นการหลีกเลี่ยงการให้กู้ยืมเงิน อันมีผลต่อรายได้ดอกเบี้ย และการลดทุนเป็นการหลีกเลี่ยงการคืนเงินกู้ยืม จึงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต บริษัท พ. แสดงรายรับและรายจ่ายไม่เป็นไปตามประมวลรัษฎากร และมีความเห็นว่าเงินลงทุนในหุ้นที่ขายมีจำนวน หุ้นละ 75 บาท จึงประเมินรายได้จากผลกำไรจากการขายหุ้นจำนวน 4,460,000 บาท ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และบวกกลับผลขาดทุนในการขายหุ้น เนื่องจากเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า การที่บริษัท พ. ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมดในบริษัท ส. ทำให้การเพิ่มทุนและลดทุนในบริษัท ส. ย่อมเป็นการเพิ่มทุนและลดทุนเฉพาะในส่วนของบริษัท พ. เกือบทั้งจำนวน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทุนและลดทุนเป็นจำนวนมากในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน จำนวนเดียวกัน โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าบริษัท ส. มีความจำเป็นในทางการค้าหรือแผนการดำเนินงานทางธุรกิจที่จะต้องเพิ่มหรือลดทุนอย่างไร นอกจากนี้ หลังจากที่บริษัท ส. มีความสามารถในการทำกำไรหรือมีผลประกอบการดีขึ้นเรื่อย ๆ บริษัท พ. ย่อมต้องหวังผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลจากการถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวในอนาคต แต่บริษัท พ. กลับขายหุ้นดังกล่าวให้กับบริษัทในเครือ อันเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของการลงทุนอีกด้วย

     พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า บริษัท พ. มีเจตนาสร้างขั้นตอนการเพิ่มทุนและลดทุนในบริษัท ส. เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงที่จะให้ความช่วยเหลือในลักษณะเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือเพื่อให้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัท ส. ได้รับจากบริษัท พ. ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินหรือรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการซึ่งบริษัท ส. จะต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนบริษัท พ. ก็เลี่ยงจากการให้เงินช่วยเหลือหรือเงินให้เปล่าแก่บริษัท ส. มาเป็นการซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพื่อลดหนี้ของบริษัท ส. โดยให้บริษัท ส. นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปชำระหนี้ที่บริษัท พ. เคยให้กู้ยืม ส่งผลให้บริษัท พ. ไม่ต้องมีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัท พ. เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง และบริษัท พ. ยังสามารถนำผลขาดทุนที่เกิดจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนและลดทุนดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ดังนั้น ผลขาดทุนที่เกิดจากการหุ้นให้กับบริษัทในเครือ จำนวน 22,510,855.26 บาท จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

     การเพิ่มทุนและลดทุนดังกล่าว ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหุ้นของเงินลงทุนในบริษัท ส. ของบริษัท พ. สูงขึ้นจากราคาที่ซื้อมาราคาหุ้นละ 75 บาท เป็นราคาหุ้นละ 520.94 บาท และทำให้บริษัท พ. อ้างว่ามีผลขาดทุนจากการขายหุ้นนั้น เมื่อการเพิ่มทุนและลดทุนดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อบิดเบือนและหลีกเลี่ยงการให้เงินเปล่าแก่บริษัท ส. แล้ว บริษัท พ. จึงไม่สามารถนำผลของการเพิ่มทุนและลดทุนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นต้นทุนเงินลงทุนของบริษัท พ. ได้ แต่จะต้องใช้ราคาถัวเฉลี่ยของราคาหุ้นที่ไม่รวมผลของการเพิ่มทุนและลดทุนในช่วงเวลาดังกล่าว คำนวณได้เป็นราคาหุ้นละ 60.94 บาท ทำให้แท้จริงแล้วบริษัท พ. มีกำไรจากการขายหุ้น 4,812,347.36 บาท การประเมินรายได้เพิ่มเติมจำนวน 4,812,347.36 บาท และการบวกกลับรายจ่ายต้องห้ามจำนวน 22,510,855.26 บาท ของกรมสรรพากรจึงชอบแล้ว

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องจากตามมาตรา 65 ตรี (13) ที่ไม่ให้ถือรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ กำหนดไว้เพื่อป้องกันมิให้บริษัทหรือนิติบุคคลใดสร้างรายจ่ายที่ไม่จำเป็นขึ้น เพื่อทำให้กำไรในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง ทำให้บริษัทนั้นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงตามไปด้วย เพราะฉะนั้น หากบริษัท พ. ให้เงินสนับสนุนแก่บริษัท ส. โดยที่ไม่มีเหตุอันสมควร บริษัท พ. ก็ไม่สามารถนำเงินให้เปล่าดังกล่าวมาบันทึกเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้ นอกจากนี้ หากบริษัท พ. ให้การสนับสนุนบริษัท ส. ในรูปแบบของการให้กู้ยืมเงิน บริษัท พ. จำเป็นต้องเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากบริษัท ส. ด้วย และดอกเบี้ยที่ได้รับก็จะถือเป็นรายได้ของบริษัท พ. ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิ ซึ่งทำให้บริษัท พ. ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น หากกำไรของกิจการเพิ่มมากขึ้น

     แต่การซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นไม่เหมือนกันกับกรณีที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากหากบริษัท พ. ลงทุนในบริษัท ส. ด้วยวิธีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้ว เงินส่วนที่บริษัท พ. ชำระค่าหุ้นไปจะไม่ถือว่าเป็นการให้เปล่าและการให้กู้ยืมเงิน แต่จะเข้าลักษณะที่บริษัท พ. ซื้อทรัพย์สิน คือ หุ้น ซึ่งมีราคาเท่ากับจำนวนเงินที่บริษัท พ. ได้จ่ายไป และบริษัท ส. ได้รับเงินจากการขายหุ้นก็ไม่ต้องบันทึกเป็นรายได้ของบริษัท ส. แต่เข้าลักษณะของส่วนผู้ถือหุ้น ด้วยเหตุนี้ หากบริษัท ส. ทำการลดทุนในภายหลัง ทำให้มูลค่าหุ้นที่บริษัท พ. ถืออยู่นั้นลดลง เมื่อบริษัท พ. ขายหุ้นดังกล่าวให้กับบริษัทอื่น บริษัท พ. ก็สามารถนำผลเสียหายจากการขายหุ้นดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้ ดังนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่า การกระทำของบริษัท พ. และบริษัท ส. เป็นการร่วมกันสร้างขั้นตอนการเพิ่มทุนและลดทุนที่ไม่จำเป็นขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดรายได้และเพิ่มรายจ่ายของทั้งสองบริษัท ทำให้กำไรสุทธิของบริษัท พ. มีจำนวนลดลง และส่อเจตนาที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงได้พิจารณาที่ไม่ลดหรืองดเบี้ยปรับให้กับบริษัท พ.

     ผู้เขียนเห็นว่า การกระทำของบริษัท พ. นั้น มิใช่การวางแผนเพื่อให้สามารถเสียภาษีให้น้อยลง เนื่องจากการวางแผนภาษีนั้น คือการวิเคราะห์และพิจารณาถึงสิทธิตามกฎหมายของผู้เสียภาษีว่ามีทางใดที่สามารถทำให้เสียภาษีได้น้อยที่สุด แต่วิธีการนั้นจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ มิใช่เป็นการวางแผนเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายและไม่ตรงไปตรงมาอย่างที่กล่าวมาข้างต้น การวางแผนภาษีที่ดีจึงควรกระทำโดยที่นักวิชาชีพที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภาษีอากร มิฉะนั้น จะมีความเสี่ยงที่กรมสรรพากรจะตรวจพบความผิดปกติ และนำไปสู่การประเมินภาษีอากรในที่สุด

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: achirayas@dlo.co.th