จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนสิงหาคม 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 112 เดือนสิงหาคม 2563

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นจำนวน 1.5 เท่า
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม เป็นจำนวน 3 เท่า
3. ยกเว้นภาษีจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้สถาบันการเงินและลูกหนี้อื่น

ข่าวภาษี

1. มาตรการปรับปรุงและกำหนดอัตราภาษีป้ายขึ้นใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่     5659/2561
ระหว่าง             บริษัท ล. จำกัด     โจทก์
                 กรมสรรพากร      จำเลย
เรื่อง เงินรางวัล ส่วนลด ประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นจำนวน 1.5 เท่า
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 707) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 เฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 1.5 เท่า
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3mrTfGA

2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม เป็นจำนวน 3 เท่า
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 708) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมในเดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ตามจำนวนที่จ่ายจริงและลูกจ้างได้รับค่าจ้างนั้นไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท เป็นจำนวน 3 เท่า
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3hvkr3v

3. ยกเว้นภาษีจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 709) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้สถาบันการเงิน และลูกหนี้อื่น ๆ
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2E4kFRA

ข่าวภาษี

1. มาตรการปรับปรุงและกำหนดอัตราภาษีป้ายขึ้นใหม่
     เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการปรับปรุงอัตราภาษีป้ายเดิม และกำหนดอัตราภาษีป้ายขึ้นใหม่สำหรับป้ายที่ใช้เครื่องจักรกล ป้ายอักษรวิ่ง และป้ายจออิเล็กทรอนิกส์ที่มีการโฆษณามากกว่าหนึ่งภาพในหกสิบวินาที โดยกำหนดให้อัตราภาษีป้ายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/32yFttV

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่     5659/2561
ระหว่าง             บริษัท ล. จำกัด     โจทก์
                 กรมสรรพากร      จำเลย
เรื่อง เงินรางวัล ส่วนลด ประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย

ประเด็นข้อพิพาท : เงินสนับสนุนการขายที่จ่ายให้ตัวแทนจำหน่ายเป็นการให้บริการด้านโฆษณาหรือไม่

ข้อเท็จจริง : บริษัท ล. จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ โดยสั่งซื้อรถยนต์จากบริษัท ต. จำกัด และนำไปขายต่อให้กับผู้ซื้อลำดับสุดท้าย ซึ่งเข้าลักษณะเป็นตัวแทนจำหน่าย บริษัท ล. ได้รับเงินสนับสนุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดการส่งเสริมการขายเป็นจำนวนร้อยละ 80 ของจำนวนค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่บริษัท ล. ได้จ่ายไปในการจัดงานส่งเสริมการขายแต่ละครั้ง เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า เงินสนับสนุนดังกล่าวที่บริษัท ล. ได้รับนั้น เข้าลักษณะเป็นค่าบริการด้านการโฆษณาเพื่อให้รถยนต์ของบริษัท ต. ผู้ผลิตเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น บริษัท ล. จึงถือเป็นผู้ให้บริการที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการ เมื่อบริษัท ล. มิได้นำค่าบริการดังกล่าวมารวมเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงได้ประเมินเบี้ยปรับแก่บริษัท ล.

     บริษัท ล. อ้างว่า เงินสนับสนุนดังกล่าว เป็นเงินที่บริษัท ต. ให้เปล่า โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ และบริษัท ล. ไม่มีหน้าที่ดำเนินการสิ่งใดตอบแทน การส่งเสริมการขายที่จัดขึ้น บริษัท ล. เป็นผู้วางแผนและจัดการเองทั้งหมด ทั้งยังออกจ่ายใช้จ่ายทดรองไปก่อน ซึ่งหากค่าใช้จ่ายเกินกว่าเงินสนับสนุนที่ตั้งงบประมาณไว้ บริษัท ล. ก็จะไม่ได้รับเงินในส่วนต่างดังกล่าวนั้น การส่งเสริมการขายจึงมีวัตุประสงค์เพื่อประโยชน์ของบริษัท ล. โดยเฉพาะ เงินสนับสนุนดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ซึ่งบริษัท ล. ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณมูลค่าฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545

คำพิพากษา : บริษัท ต. ผู้จัดจำหน่ายได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเพื่อจัดกิจกรรมที่จะให้เงินสนับสนุนไว้เพียงกว้าง ๆ เท่านั้น ส่วนรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการ บริษัท ล. ตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้คิดและดำเนินการทั้งหมด โดยได้เน้นให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มยอดขายของบริษัท ล. เป็นสำคัญ และบริษัท ล. เป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วค่อยนำมาเบิกคืนทีหลังอีกด้วย การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาสินค้าจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าใจถึงคุณสมบัติของสินค้าและตัดสินใจซื้อสินค้าจากบริษัท ล. ส่วนประโยชน์ที่บริษัท ต. ได้รับนั้น เป็นการได้รับประโยชน์โดยปริยายเท่านั้น เพราะเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าจากบริษัท ล. เพิ่มมากขึ้น บริษัท ล. ก็ย่อมสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ต. เพิ่มขึ้นตามไปด้วยอยู่แล้ว

     นอกจากนี้ หากบริษัท ล. รับจ้างโฆษณาสินค้าให้แก่บริษัท ต. จริงก็ควรคิดค่าจ้างมากกว่าค่าใช้จ่ายที่บริษัท ล. ได้จ่ายไป แต่บริษัท ล. กลับได้รับเงินเพียงร้อยละ 80 เท่านั้น จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะถือว่าเป็นการรับจ้างโฆษณา เงินสนับสนุนที่บริษัท ต. จ่ายให้กับบริษัท ล. ทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มยอดขายจนบริษัท ต. ได้ประโยชน์จากยอดขายไปด้วย เป็นเงินสนับสนุนการขายที่บริษัท ต. จ่ายให้บริษัท ล. ซึ่งซื้อรถยนต์ไปขายต่อ เพื่อให้มีผลต่อการขายรถยนต์ดังกล่าวของบริษัท ล. ให้ได้มากขึ้น ไม่ใช่ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการให้บริการโฆษณาโดยบริษัท ล. แต่อย่างใด แต่เข้าลักษณะเป็นเงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัท ล. จึงไม่ต้องนำเงินสนับสนุนดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องจากตามปกติของการประกอบธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการย่อมต้องการให้สินค้าหรือบริการของตนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพื่อขยายขอบเขตของผู้สนใจที่จะมาซื้อสินค้าหรือบริการของตน จึงต้องมีการลงทุนด้านการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต หรือว่าตัวแทนจำหน่ายก็ตาม ย่อมต้องการให้สินค้าของตนเป็นที่สนใจให้ได้มากที่สุดเท่านั้น

     การที่บริษัท ล. ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย ประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาสินค้า โดยมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายนั้น แม้บริษัท ล. จะได้รับเงินสนับสนุนการจัดกิจกรรมมาจากบริษัท ต. ผู้ ผลิตสินค้าก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาว่าเป็นการรับจ้างหรือการให้บริการด้านโฆษณาได้อย่างแน่นอน แต่จะต้องพิจารณาถึงลักษณะของการจัดกิจกรรมและจำนวนเงินสนับสนุนที่ได้รับด้วย ดังเช่นที่ศาลฎีกาเห็นว่า หากเป็นการรับจ้างจริง จำนวนเงินสนับสนุนที่ได้รับควรจะต้องมีจำนวนมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป เนื่องจาก โดยหลักแล้วไม่มีผู้ประกอบการใดที่จะให้บริการแล้วเกิดผลขาดทุนอย่างแน่นอน ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏเช่นนี้ พฤติการณ์ที่บริษัท ล. ได้รับเงินสนับสนุนจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการแต่อย่างใด

     ในทางกลับกัน หากเป็นการให้เงินสนับสนุนให้ตัวแทนจำหน่ายจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามแผนการ วิธีการที่บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดรายละเอียดแล้ว ก็จะเข้าลักษณะเป็นการให้บริการด้านการโฆษณา เนื่องจากบริษัทผู้จ่ายเงินสนับสนุนมีอำนาจที่จะควบคุมการจัดกิจกรรม และตัวแทนจำหน่ายไม่มีอิสระในการจัดกิจกรรมของตน จึงเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของบริษัทผู้จ่ายเงินสนับสนุน มิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวแทนจำหน่ายโดยเฉพาะ จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่เจ้าพนักงานสรรพากรจะเห็นว่าการได้รับเงินสนับสนุนดังกล่าว เกิดจากการให้บริการด้านโฆษณาที่จะต้องนำไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไป

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: achirayas@dlo.co.th