จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมิถุนายน 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 110 เดือนมิถุนายน 2563

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งเสริมการบริโภคในประเทศ หรือชิมช้อปใช้
2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF พิเศษ)

ข่าวภาษี

1. มาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package)

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่     6735/2559
ระหว่าง             บริษัท ส. จำกัด     โจทก์
                  กรมสรรพากร      จำเลย
เรื่อง : ดอกเบี้ยในเงินภาษีอากรคืน

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งเสริมการบริโภคในประเทศ หรือชิมช้อปใช้

     กฎกระทรวง ฉบับที่ 362 (พ.ศ. 2563) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งเสริมการบริโภคในประเทศ หรือชิมช้อปใช้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/36DeRZl

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF พิเศษ)

     กฎกระทรวง ฉบับที่ 363 (พ.ศ. 2563) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตามจำนวนที่จริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น
     ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2Ag0rSN

ข่าวภาษี

1. มาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package)

     เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้
     1. สำหรับการลงทุนตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติเป็นจำนวน 2 เท่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
     2. สำหรับรายจ่ายที่เป็นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตามสัญญาจ้างแรงงานในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 1.5 เท่า
ทั้งนี้ เฉพาะที่จ่ายจริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อเดือน
     3. สำหรับรายจ่ายที่ใช้ในการฝึกอบรม หรือส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3gw7RC0

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่     6735/2559
ระหว่าง             บริษัท ส. จำกัด     โจทก์
                  กรมสรรพากร     จำเลย
เรื่อง : ดอกเบี้ยในเงินภาษีอากรคืน

ประเด็นข้อพิพาท : บริษัท ส. มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในเงินภาษีอากรคืนหรือไม่

ข้อเท็จจริง : บริษัท ส. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ประจำเดือนภาษีมิถุนายน 2551 เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด เนื่องจากบริษัท ส. มีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายเป็นเครดิตภาษีที่ชำระเกินและพันยอดสะสมยกมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 ต่อมากรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.72) จำนวน 91,618,809.58 บาท โดยได้หักกลบลบหนี้ค่าภาษีที่บริษัท ส. ต้องชำระของปี 2549 และ 2551 คงเหลือเงินคืน 77,584,628.79 บาท แต่ไม่พิจารณาให้ดอกเบี้ยในเงินภาษีอากรคืน กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการตามข้อ 1 (2) และข้อ 1 วรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) แก่บริษัท ส.

     กรมสรรพากรอ้างว่า กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการตามข้อ 1 (2) และข้อ 1 วรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) นั้น จะต้องเป็นกรณีขอคืนเงินภาษีที่ชำระตามแบบ ภ.พ.30 ที่ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อเท่านั้น แต่ที่บริษัท ส. ขอคืนนั้นเป็นการยื่นขอคืนภาษีที่พันยอดสะสมยกมาซึ่งเกิดจากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายโดยไม่มีการชำระภาษีไว้ มิใช่เป็นการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท ส. ชำระไว้เกิน จึงไม่ใช่การขอคืนภาษีที่ชำระตามแบบ ภ.พ. 30 บริษัท ส. จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยตามมาตรา 84/3 ประกอบมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร หรือหากบริษัท ส. มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ก็คงได้รับเฉพาะดอกเบี้ยที่คิดจากจำนวนภาษีคงเหลือหลังจากการหักกลบลบหนี้แล้ว

คำพิพากษา : ศาลฎีกา เห็นว่า ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้กรณีหากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ให้เป็นเครดิตภาษีและให้ผู้ประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไปนั้น รวมไปถึงกรณีที่บริษัท ส. ยื่นคำร้องขอคืนอันเกิดจากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายหรือมีเครดิตภาษียกมาด้วย เนื่องจากต่างก็เป็นกรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) มิใช่เป็นดังที่จำเลยเข้าใจว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระพร้อมแบบ ภ.พ.30 จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ เพราะหากเป็นเช่นนั้น บริษัท ส. จะไม่มีจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืน แต่กลับต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย และเป็นการตีความกฎหมายที่เป็นผลร้ายต่อผู้เสียภาษีอากรให้แก่รัฐ

     นอกจากนี้ ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ยังบัญญัติให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ได้รับคืน ดังนั้น จำนวนเงินภาษีที่บริษัท ส. ได้รับคืนจึงหมายถึงจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมสรรพการอนุมัติให้คืนแก่บริษัท ส. และใช้จำนวนนี้เป็นฐานในการคำนวณดอกเบี้ย หาใช่จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มหลังจากได้มีการหักกลบลบหนี้กันภายหลังจากการมีคำสั่งแจ้งคืนเงินไม่ บริษัท ส. จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในเงินภาษีอากรคืนในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินจำนวน 91,618,809.58 บาท

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา ด้วยเหตุที่ว่า การตีความบทบัญญัติของกฎหมายที่กรมสรรพากรอ้างว่า “กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการตามข้อ 1 (2) และข้อ 1 วรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) นั้น จะต้องเป็นกรณีขอคืนเงินภาษีที่ชำระตามแบบ ภ.พ.30 ที่ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อเท่านั้น” เป็นการตีความเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นการตีความที่ปิดช่องทางมิให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากการขอคืนภาษีได้เลย เนื่องจากหากเดือนภาษีใดมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ผู้เสียภาษีก็จะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนต่างนั้น ๆ และไม่มีภาษีที่สามารถขอคืนได้ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น การที่ผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะสามารถขอคืนภาษีได้ จึงต้องเป็นกรณีที่มีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย และถึงแม้ว่าจะเกิดจากเครดิตภาษีที่ผู้เสียภาษีสะสมยกมาจากเดือนภาษีก่อน ๆ ก็ตาม เมื่อผู้เสียภาษีตัดสินใจที่จะขอคืนภาษีดังกล่าว ผู้เสียภาษีก็มีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดให้ไว้ และจำนวนดอกเบี้ยจะต้องคำนวณจากเงินภาษีอากรที่ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับคืน ก็คือจำนวนที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร การหักกลับลบหนี้นั้น เป็นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังและไม่ได้ทำให้จำนวนเงินภาษีอากรที่ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับลดลงแต่อย่างใด ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยจึงไม่สามารถนำจำนวนเงินภาษีอากรที่คงเหลือจากการหักกลับลบหนี้มาเป็นฐานในการคำนวณดอกเบี้ยได้

     ผู้เขียนเห็นว่า หากท่านเป็นผู้ประกอบการที่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรและได้ยื่นคำร้องเพื่อขอคืนเงินภาษีอากรตามกฎหมาย เมื่อได้รับหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีจากกรมสรรพากรแล้ว ท่านควรตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนเงินที่ได้รับคืน และจำนวนดอกเบี้ยว่าถูกต้องตามสิทธิที่ท่านพึงมีหรือไม่ หากไม่แล้ว ท่านก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ได้รับตามสิทธิของท่านต่อไป

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760
Email: achirayas@dlo.co.th