จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมกราคม 2564

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 115 เดือนมกราคม 2564

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. หลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
2. หลักเกณฑ์และวิธีการ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย โดยจำนองที่อยู่อาศัยนั้นเป็นประกันการกู้ยืม
3. หลักเกณฑ์และวิธีการ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย
4. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคล สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค Covid-19

ข่าวภาษี
1. -ไม่มี-

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9150/2560
ระหว่าง         บริษัท ด. จำกัด     โจทก์
              กรมสรรพากร      จำเลย
เรื่อง ภาระภาษีของผู้รับจ้างในสัญญาจ้างทำของกรณีที่มีการแยกค่าสัมภาระและค่าติดตั้งออกจากกัน

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. หลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 396) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่จะหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ต้องมีหลักฐานจากเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมที่พิสูจน์ได้ว่า ได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินด้วย
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/35kzAla

2. หลักเกณฑ์และวิธีการ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย โดยจำนองที่อยู่อาศัยนั้นเป็นประกันการกู้ยืม
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 397) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่จะหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมยืมเพื่อที่อยู่อาศัยต้องมีหลักฐานจากเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมที่พิสูจน์ได้ว่า ได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินด้วย
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2LcCGAO

3. หลักเกณฑ์และวิธีการ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 398) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่จะหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมยืมเพื่อที่อยู่อาศัยต้องมีหลักฐานจากเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมที่พิสูจน์ได้ว่า ได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินด้วย
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3npplC8

4. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคล สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค Covid-19
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 399) กำหนดให้นิติบุคคลที่จะได้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายที่เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค Covid-19 เฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 ถึง 31 ธ.ค. 2563 ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
     1. มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการในรอบบัญชี 12 เดือนสุดท้าย ก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2562 ไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน
     2. มีการยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาตาม 1. ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
     3. ต้องแสดงความยินยอมต่อสถาบันการเงินผู้ให้กู้ เพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดเงินกู้ยืมที่ผู้กู้ได้รับต่อกรมสรรพากร
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2JTeOkW

ข่าวภาษี
1. -ไม่มี-

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9150/2560
ระหว่าง         บริษัท ด. จำกัด     โจทก์
              กรมสรรพากร      จำเลย
เรื่อง ภาระภาษีของผู้รับจ้างในสัญญาจ้างทำของกรณีที่มีการแยกค่าสัมภาระและค่าติดตั้งออกจากกัน

ประเด็นข้อพิพาท : กรณีที่มีการแยกค่าสัมภาระและค่าติดตั้งออกจากกัน จะเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าแยกกับสัญญาจ้างทำของหรือไม่

ข้อเท็จจริง : โจทก์เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในประเทศฝรั่งเศส มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย โจทก์ทำสัญญาค้าร่วมกับกิจการร่วมค้า J ซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย 2 บริษัท จากนั้นกิจการค้าร่วมเข้าทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างจัดหาและติดตั้งสินค้าให้กับบริษัทในประเทศไทย ซึ่งโจทก์อ้างว่า การทำสัญญาดังกล่าว คู่สัญญามีเจตนาแยกงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการซื้อขายที่โจทก์เป็นผู้ผลิตในประเทศฝรั่งเศสแล้วขายและได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าสินค้าจากผู้ว่าจ้าง และส่วนของการจ้างทำของซึ่งงานเกิดขึ้นในเทศไทย โดยกิจการร่วมค้า J จะเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากร ส่งมอบ และติดตั้งสินค้าดังกล่าวให้กับผู้ว่าจ้าง โดยมีการแยกค่าตอบแทนของงานทั้ง 2 ส่วนออกจากกัน สัญญาดังกล่าวจึงสามารถแยกเป็นสัญญาซื้อขายและสัญญาจ้างทำของได้อย่างชัดเจน ต่อมากิจการร่วมค้า J ประสบปัญหาด้านการเงินไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ สำนักงานสาขาของโจทก์ในประเทศไทยจึงเข้าดำเนินการแทนเฉพาะในส่วนของสัญญาจ้างทำของ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้หรือกำไรเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการรับจ้างทำของซึ่งเป็นของสำนักงานสาขาไทยประเทศไทยมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย แต่ไม่ต้องนำเงินได้จากการขายสินค้ามาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย เนื่องจากได้รับยกเว้น

     กรมสรรพากรให้การว่า ในการลงนามทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว ผู้จัดการสาขาในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น กรณีของโจทก์จึงเป็นการขายสินค้าผ่านสถานประกอบการสาขาในประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิในประเทศไทยตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ไม่ส่งมอบเอกสารต้นทุนสินค้าให้กับกรมสรรพากรตรวจสอบ เจ้าพนักงานจึงไม่สามารถหากำไรสุทธิได้ จึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับทั้งหมดก่อนหักรายจ่ายใด ๆ

คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์และกิจการร่วมค้า J ได้ลงนามในสัญญาฉบับเดียวกัน และสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจ้างทำของจนสำเร็จที่ตกลงให้ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ ไม่มีข้อความที่ระบุว่าคู่สัญญามีเจตนาแยกเป็นสัญญาซื้อขายกับสัญญาจ้างทำของออกจากกัน ทั้งการติดตั้งสินค้ายังเป็นสาระสำคัญของการว่าจ้างอีกด้วย แม้การจัดหาสินค้าจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าผลิตจากโรงงานในต่างประเทศของโจทก์ อีกทั้ง ตามข้อตกลงกิจการค้าร่วมระหว่างโจทก์และกิจการร่วมค้า J ยังระบุให้เป็นการรับผิดร่วมกันและแทนกันต่อบริษัทผู้ว่าจ้างอีกด้วย ซึ่งเห็นได้จาก โจทก์ได้ให้สำนักงานสาขารับผิดชอบหน้าที่แทนกิจการร่วมค้า J เมื่อกิจการร่วมค้า J ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ หากเป็นการแยกหน้าที่โดยเด็ดขาดแล้ว โจทก์ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการแทนกิจการร่วมค้า J เช่นนี้ การแยกค่าตอบแทนออกจากกันนั้น ทำไปเพื่อประโยชน์ในการเสนอราคาให้กับบริษัทผู้ว่าจ้างเท่านั้น ดังนั้น การจัดหาสินค้าจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจรับจ้างทำของในประเทศไทยของโจทก์ ค่าสินค้าจึงเป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย

     นอกจากนี้ ผู้จัดการสาขาของโจทก์ยังเป็นผู้เจรจาเกี่ยวกับส่วนลดของค่าสินค้าดังกล่าวกับบริษัทผู้ว่าจ้าง และยังเป็นผู้ลงนามในสัญญาดังกล่าวอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า สำนักงานสาขาของโจทก์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การเจรจาต่อรองทำสัญญา จึงเข้าลักษณะที่โจทก์มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อน มิใช่เป็นการลงนามแทนเพื่อความสะดวกตามที่โจทก์อ้าง และสำนักงานสาขายังรับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตั้งสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจตามสัญญาเดียวกันที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่า สำนักงานสาขาเป็นสถานประกอบการถาวรของโจทก์เฉพาะการรับจ้างทำของเท่านั้น กรณีจึงถือว่า โจทก์ประกอบธุรกิจในส่วนการจัดหาสินค้าตามสัญญาโดยผ่านสถานประกอบการถาวรประเภทสาขาของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นวิสาหกิจต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยผ่านสถานประกอบการถาวร กำไรของโจทก์จึงย่อมต้องเสียภาษีในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อน ดังนั้น กำไรจากการจัดหาสินค้าย่อมต้องถือเป็นกำไรของสถานประกอบการถาวรของโจทก์ด้วยทั้งหมด

     เมื่อโจทก์ไม่ยอมส่งมอบเอกสารต้นทุนสินค้าให้กับกรมสรรพากรตรวจสอบ ทำให้เจ้าพนักงานไม่สามารถหากำไรสุทธิในส่วนการจัดหาสินค้าของโจทก์ได้ และกรณีย่อมถือว่ารายได้ทั้งหมดของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิได้ไปด้วย เนื่องจากกำไรสุทธิจะต้องคำนวณจากรายได้และรายจ่ายจากกิจการทุกส่วนของโจทก์ ไม่ใช่แยกการคำนวณเป็นรายกิจการไป ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานสรรพากรประเมินภาษีของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับทั้งหมดก่อนหักรายจ่ายใด ๆ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงนับว่าถูกต้องแล้ว

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องจากตามข้อเท็จจริงแล้วนั้น โจทก์และกิจการร่วมค้า J ทำสัญญากับบริษัทในประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การติดตั้งสินค้าจนสามารถใช้งานได้ โดยผู้รับจ้างมีหน้าที่จัดหาสินค้าหรือสัมภาระดังกล่าว และเนื่องจากว่าสินค้าดังกล่าวผลิตในต่างประเทศ โจทก์และกิจการร่วมค้า J จึงแบ่งหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าวกัน ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์และกิจการร่วมค้า J เท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อสัญญาที่ทำกับบริษัทในประเทศไทย จนทำให้สัญญาดังกล่าวแบ่งแยกออกเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าและสัญญาจ้างทำของ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด เห็นได้จาก โจทก์ยังคงต้องรับผิดในสัญญาดังกล่าวหากไม่สามารถติดตั้งสินค้าดังกล่าวได้ ดังนั้น เมื่อเป็นสัญญาจ้างทำของสัญญาเดียวมิได้มีการแบ่งแยก การจัดหาสินค้าของโจทก์จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามสัญญาจ้างทำของนั้น จึงถือว่า โจทก์ได้ประกอบธุรกิจผ่านทางสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย โจทก์ต้องเสียภาษีจากกำไรทั้งหมดที่เกิดจากกิจการของสถานประกอบการถาวรนั้นในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงกำไรจากมูลค่าของสินค้าและการติดตั้งสินค้านั้นด้วย

     ด้วยเหตุนี้ หากต้องการแยกสัญญาออกเป็น 2 สัญญา โดยแบ่งการดำเนินงานและความรับผิดออกจากการอย่างชัดเจนแล้ว ก็ควรจะจัดทำสัญญาออกเป็น 2 ฉบับ มิใช่ทำเป็นสัญญาฉบับเดียว เพราะแม้จะมีการแยกราคาสินค้าออกจากราคาการติดตั้งสินค้า หรือแบ่งแยกหน้าที่ในสัญญากันแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงกันเองระหว่างผู้รับจ้าง ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ว่าจ้างแต่อย่างใด เพราะผู้รับจ้างก็ยังคงต้องรับผิดต่อผู้ว่าจ้างร่วมกันอยู่เช่นเดิม

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: achirayas@dlo.co.th

บทความที่เกี่ยวข้อง