• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์ 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์ 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 106 เดือนกุมภาพันธ์ 2563

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการลงทุนในเครื่องจักรเป็นจำนวน 1.5 เท่า

ข่าวภาษี
1. มาตรการการคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8943/2560
ระหว่าง          บริษัท ช.      โจทก์
              กรมสรรพากร    จำเลย
เรื่อง ผลกำไรสำหรับค่าความนิยม อันเกิดจากการโอนกิจการทั้งหมด

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการลงทุนในเครื่องจักรเป็นจำนวน 1.5 เท่า
      พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 690) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
      ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
      ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2M7f8tP

ข่าวภาษี
1. มาตรการการคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคม
      เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของมูลนิธิหรือสมาคมเหลืออัตราร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งนี้ เฉพาะรายได้ส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
      ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
      ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3eCrx6g

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8943/2560
ระหว่าง          บริษัท ช.      โจทก์
              กรมสรรพากร    จำเลย
เรื่อง ผลกำไรสำหรับค่าความนิยม อันเกิดจากการโอนกิจการทั้งหมด

ประเด็นข้อพิพาท : การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรที่เกิดจากการโอนกิจการ

ข้อเท็จจริง : บริษัท ช. ทำสัญญาโอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัท บ. จำนวน 998,000,000 บาท โดยราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดที่มาจากการประเมินราคาโดยผู้ประเมินราคาอิสระ ณ วันที่โอนกิจการ ซึ่งตามการประเมินดังกล่าวบริษัท ช. มีมูลค่า 1,081,368,626.10 บาท เมื่อหักด้วยมูลค่าหนี้สินแล้ว คงเหลือเป็นราคาทรัพย์สินสุทธิ 293,300,378.95 บาท ดังนั้น ราคาโอนจึงมีส่วนที่เกินจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิจำนวน 704,699,621.05 บาท ซึ่งบริษัท ช. อ้างว่าเป็นค่าความนิยมของบริษัท ช. และได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 74 (1) (ข) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

      ต่อมา เจ้าพนักงานสรรพากรเห็นว่า ค่าความนิยมดังกล่าว เป็นส่วนล้ำของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ จึงเป็นค่าตอบแทนจากการขายกิจการ ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานจึงมีหนังสือแจ้งการประเมินมายังบริษัท ช. ส่งผลให้บริษัท ช. ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้นิติบุคล 190,293,972.15 บาท เบี้ยปรับ 190,293,972.15 บาท และเงินเพิ่ม 190,293,972.15 บาท

คำพิพากษา : ศาลฎีกา เห็นว่า เมื่อรายการทรัพย์สินที่ผู้ประเมินราคาอิสระได้ประเมินไว้ จำนวน 1,081,368,626.10 บาท เป็นราคาตลาดของทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว ดังนั้น เมื่อนำมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดหักกับหนี้สินแล้วได้มูลค่าของทรัพย์สินสุทธิจำนวน 293,300,378.95 บาท มูลค่าดังกล่าวจึงเป็นราคาตลาดเช่นกัน และเมื่อบริษัท บ. ตกลงซื้อกิจการบริษัท ช. ในราคา 998,000,000 บาท กรณีจึงเป็นราคาที่สูงกว่าจำนวนเงินอันเป็นราคาทรัพย์สินสุทธิของบริษัท ช. เป็นเงินจำนวน 704,699,621.05 บาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่บริษัท ช. ได้กำไรจากการขายทรัพย์สินสูงกว่ามูลค่าราคาตลาดของทรัพย์สินสุทธิตามที่เจ้าพนักงานสรรพากรประเมิน

      นอกจากนี้ การที่บริษัท ช. อ้างว่า เงินจำนวน 704,699,621.05 บาท นั้น เป็นค่าความนิยมที่บริษัท ช. ตีตามราคาตลาด อันมีผลให้ไม่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธินั้น ค่าความนิยมดังกล่าว ไม่ได้ปรากฎเป็นรายการแยกต่างหากในรายงานการประเมินราคาตลาดแต่อย่างใด หากบริษัท ช. จะถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าความนิยม ก็ควรจะระบุแยกออกมาให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น อีกทั้ง ในรายงานและงบการเงินของบริษัท ช. ก็แสดงเงินจำนวน 704,699,621.05 บาท ในงบกำไรขาดทุนส่วนของรายได้ว่า เป็นกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินตามสัญญาขายและโอนกิจการ นอกจากนี้ มาตรฐานการบัญชีก็ได้กำหนดว่า กิจการไม่สามารถรับรู้ถึงค่าความนิยมเป็นทรัพย์สินของกิจการตนได้ เนื่องจากค่าความนิยมเป็นผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่จะได้รับจากทรัพย์สินซึ่งไม่มีความแน่นอน จึงยังไม่สามารถระบุและรับรู้เป็นรายการแยกออกมาได้ และบริษัท ช. ก็ไม่เคยบันทึกค่าความนิยมไว้เป็นสินทรัพย์ของบริษัท ดังนั้น บริษัท ช. จะถือว่าค่าความนิยมดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ที่ขายไปให้กับบริษัท บ. ไม่ได้ และต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับศาลฎีกา เนื่องจากกรณีนี้เป็นการโอนกิจการจากบริษัท ช. ไปยังบริษัท บ. เมื่อรายการประเมินราคาของผู้ประเมินราคาปรากฏว่า ราคาทรัพย์สินสุทธิ คือ 293,300,378.95 บาท แต่บริษัท บ. กลับตกลงซื้อในราคา 998,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าเป็นจำนวน 704,699,621.05 บาท ส่วนล้ำที่เกินมาจึงถือเป็นกำไรจากการโอนกิจการ ซึ่งต้องนำไปถือเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

      แต่อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาคำพิพากษาของศาลฎีกา เห็นว่า เหตุผลที่ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับบริษัท ช. ว่าส่วนล้ำจากราคาทรัพย์สินสุทธินั้น คือ ค่าความนิยมของบริษัท ช. ซึ่งบริษัทผู้ซื้อกิจการเล็งเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ที่จะสามารถได้กลับคืนในอนาคต จึงตกลงซื้อกิจการในราคาที่สูงกว่าราคาทรัพย์สินสุทธินั้น เป็นเพราะเหตุที่บริษัท ช. ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ค่าความนิยมดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร ใช้การคำนวณอย่างไร และอีกทั้งยังไม่มีปรากฏอยู่ในรายการประเมินทรัพย์สินอีกด้วย อีกทั้ง ในงบกำไรขาดทุนของบริษัท ช. ก็ได้บันทึกเงินจำนวนดังกล่าวว่า เป็นกำไรจากการขายทรัพย์สิน จึงเป็นเหตุสนับสนุนให้ข้ออ้างของกรมสรรพากรมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าของบริษัท ช.

      อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตามความเข้าใจทั่วไปของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายกิจการ จะเข้าใจได้ว่า ส่วนล้ำที่เกินมานั้น คือ ค่าความนิยม ซึ่งได้ใช้วิธิการคำนวณตามมาตรฐานโดยผู้ประเมินอิสระแล้วก็ตาม แต่ศาลกลับเห็นว่า บริษัท ช. ควรจะมีแหล่งอ้างอิงของการคำนวณค่าความนิยมนี้มาแสดงและนำสืบให้ศาลเห็นให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การทำรายงานเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการนำสืบ หรือการระบุค่าความนิยมพร้อมกับวิธีการคำนวณไว้ในรายการประเมินทรัพย์สินตั้งแต่ต้น

      ในส่วนของการที่บริษัท ช. บันทึกในงบกำไรขาดทุนว่าเงินจำนวนดังกล่าวนั้น เป็นกำไรจากการขายทรัพย์สิน ผู้เขียนเห็นว่า วิธีการดังกล่าว ได้กระทำถูกต้องในทางบัญชีแล้ว เนื่องจากงบกำไรขาดทุน จะต้องบันทึกเงินจำนวนดังกล่าว เป็นรายได้ เพื่อให้สะท้อนถึงกำไรตามความเป็นจริงของกิจการ ซึ่งอาจจะมิใช่เงินได้ที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเสมอไปทุกรายการ

      ด้วยเหตุนี้ จากการพิจารณาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า หากเตรียมพยานหลักฐานที่แสดงให้ศาลเห็นได้ถึงวิธีการคำนวณค่าความนิยมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ผลแห่งคดีมีการเปลี่ยนแปลงไป

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: achirayas@dlo.co.th