จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคม 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 99 มีนาคม 2562

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ เพิ่มเติม
2. ยกเว้นภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรให้กับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สำนักงานดังกล่าว
3. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์และธนาคารพาณิชย์ที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กัน

ข่าวภาษี

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่          5330/2561
ระหว่าง                              บริษัท อ. จำกัด                 โจทก์
กรมสรรพากร                   จำเลย
เรื่อง การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ เพิ่มเติม
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 49) พ.ศ. 2562 กำหนดให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการแก่
1.1 องค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามความตกลงที่จะต้องปฏิบัติ
เท่าเทียมกับสถานเอกอัครราชทูต องค์การสหประชาชาติหรือทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ
1.2 สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2TDohjo

2. ยกเว้นภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรให้กับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สำนักงานดังกล่าว
พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ (676) พ.ศ. 2562 กำหนดให้ยกเว้นภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรให้กับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สำนักงานดังกล่าว
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2VJJV2K

3. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์และธนาคารพาณิชย์ที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กัน
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 677) พ.ศ. 2562 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์และธนาคารพาณิชย์ที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการให้แก่กัน เฉพาะธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน แต่ไม่หมายความรวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน
3. ยกเว้นมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์โอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งอาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย โดยยกเว้นตามสัดส่วนของมูลค่าของสินทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนด
5. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการเลิกหรือการปรับปรุงแก้ไขสัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า สัญญาจ้างทำของ หรือสัญญาบำรุงรักษา ที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือที่เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ อันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน โดยยกเว้นตามสัดส่วนของมูลค่าของสินทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนด
6. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการรื้อถอนเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ อันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน โดยยกเว้นตามสัดส่วนของมูลค่าของสินทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนด
อนึ่ง การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามข้อ 4 – 6 จะต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2H6cFiY

ข่าวภาษี

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5330/2561
ระหว่าง                  บริษัท อ. จำกัด                  โจทก์
กรมสรรพากร                    จำเลย
เรื่อง การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น

ข้อเท็จจริง : โจทก์ประกอบกิจการรับจ้างผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องนุ่งห่ม ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากการที่โจทก์บริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิตสินค้า (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิ ส.

ประเด็นที่ต้องพิจารณา : การที่โจทก์บริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิตสินค้า (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิ ส. ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกา : บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ในมาตรา 81 (1) (ธ) เป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรที่ได้รับจากการบริจาคไปจ่ายในทางอื่น นอกเหนือจากกิจกรรมเพื่อการศาสนาหรือการสาธารณกุศลเป็นสำคัญ หากเข้าลักษณะดังกล่าวแล้ว ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์บริจาคของเสียให้แก่มูลนิธิ ส. นั้น ได้ความจากผู้รับมอบอำนาจมูลนิธิ ส. ว่ามูลนิธิ ส. นำสิ่งของที่โจทก์บริจาคไปจำหน่าย เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายมาหมุนเวียนในโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิ ส. ทั้งนี้ มูลนิธิ ส. มีวัตถุประสงค์และภารกิจหลักในการช่วยเหลือผู้ยากไร้ในสังคมเป็นการทั่วไป การบริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิต (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิ ส. จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร
ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว เนื่องจากตามมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น เมื่อกรณีของโจทก์ที่มีการบริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิต (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิ ส. เข้าลักษณะที่ถือว่าเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นการขายสินค้าเพื่อประโยชน์แก่การสาธารณกุศลภายในประเทศ โดยนำผลกำไรที่ได้รับมาใช้ในการดำเนินงานสาธารณกุศลแล้ว จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกประการ

นอกจากนี้ ประมวลรัษฎากรยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การบริจาคที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในมาตรา 81 (1) (น) อีกส่วนหนึ่ง โดยกำหนดให้การขายสินค้าหรือให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 (4) (ข) กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือสถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรณีจึงเห็นได้ว่า หากเป็นการบริจาคให้แก่ผู้รับที่ระบุเฉพาะเจาะจงตามที่รัฐมนตรีประกาศแล้ว ก็จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ต้องพิจารณาว่าจะเป็นการบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์ใดอีกด้วย
ดังนั้น เมื่อการบริจาคของโจทก์เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 81 (1) (ธ) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงชอบที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย

นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760