จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคม 2561

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 87 มีนาคม 2561

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนยุติธรรม

2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ

 

ข่าวภาษี

1. มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม

2. มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนที่ลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น

3. มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2640/2560

ระหว่าง             บริษัท อ.                        โจทก์

กรมสรรพากร                 จำเลย

เรื่อง                  ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบัตรเติมเงินเกมออนไลน์

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนยุติธรรม

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 651) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาค 2 เท่า เมื่อบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนยุติธรรม ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

– สำหรับบุคคลธรรมดาต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น

– สำหรับนิติบุคคลบริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สินก็ได้

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/n6FtfM

 

 2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 652) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่นิติบุคคลที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/2rjqXg

 

ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่… ) พ.ศ. … โดยยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเป็นจำนวน 2 เท่า ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่บริจาคเงิน ให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ กฎหมายมีผลใช้บังคับ ถึงวันที่  31 ธันวาคม 2562

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/Hm8JAX

 

2. มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนที่ลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยยกเว้นเงินได้ให้แก่ นักลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับการจ่ายเงินลงทุนในหุ้นเพื่อจัดตั้งหรือลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนให้แก่นิติบุคคล (SMEs) ที่ประกอบกิจการเป้าหมายและจัดตั้งขึ้นในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/Hm8JAX

 

3. มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคลที่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับรายจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง ในระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2561 เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 15 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/Hm8JAX

 

4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเป็นจำนวน 2 เท่า เมื่อบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

– สำหรับบุคคลธรรมดา ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น

– สำหรับนิติบุคคลบริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สินก็ได้

ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถาบันดังกล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/rPTzQE

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2640/2560

ระหว่าง             บริษัท อ.                        โจทก์

กรมสรรพากร                 จำเลย

เรื่อง                  ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบัตรเติมเงินเกมออนไลน์

 

         โจทก์ตกลงทำสัญญาให้บริษัท ฟ. สามารถใช้บัตรเติมเงินเกมออนไลน์ของโจทก์มาเล่นเกมของบริษัท ฟ. ได้ โดยผู้เล่นเกมสามารถซื้อบัตรเติมเงินเกมออนไลน์ของโจทก์แล้วนำรหัสประจำบัตร (Serial Code) และรหัสผ่าน (Password) ของบัตรที่ซื้อมาไปกรอกในช่องข้อมูลเพื่อแลกคะแนนในเว็บไซต์ของโจทก์และเลือกเล่นเกมออนไลน์ของบริษัท ฟ. จากนั้นผู้เล่นเกมจะได้รหัสลำดับ (Serial Code) และรหัสผ่าน (Password) อีกชุดของบริษัท ฟ. ที่โจทก์จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของโจทก์ โดยผู้เล่นเกมจะต้องเข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัท ฟ. ที่เชื่อมต่อกับเว็บไซต์ของโจทก์ และนำรหัสลำดับและรหัสผ่านที่ได้รับมาไปกรอกเพื่อแลกคะแนนในเว็บไซต์ของบริษัท ฟ.อีกครั้งจากนั้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนราคาหน้าบัตรเติมเงินเกมออนไลน์ดังกล่าวเป็นคะแนนเพื่อให้ผู้เล่นเกมใช้ซื้อของสมมติในเกมออนไลน์ของบริษัท ฟ. ต่อไป ในการนี้ ระบบของโจทก์จะทำหน้าที่บันทึกการใช้บัตรเติมเงินเกมออนไลน์เพื่อการเล่นเกมของบริษัท ฟ. และสรุปรายงานการใช้บัตรดังกล่าวไปยังบริษัท ฟ. ในแต่ละรอบเดือน เมื่อบริษัท ฟ. ได้รับสรุปรายงานการใช้บัตรจากโจทก์ก็จะออกใบเรียกเก็บเงินตามราคามูลค่าบัตรเติมเงินเกมออนไลน์ที่ใช้ โดยหักส่วนลดให้แก่โจทก์ในอัตราที่ตกลงกัน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่โจทก์และบริษัท ฟ. ซื้อขายสิทธิในการแลกคะแนนเพื่อซื้อสิ่งของสมมติในการเล่นเกมของบริษัท ฟ. และบริษัท ฟ. ตกลงจะให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนขณะขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด แต่มีลักษณะเป็นการหักค่าบริการที่โจทก์ได้ดำเนินการวางระบบโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อเว็บไซต์ของโจทก์กับเว็บไซต์ของบริษัท ฟ. เพื่อให้ผู้ถือบัตรเติมเงินเกมออนไลน์ของโจทก์สามารถเข้าเล่นเกมของบริษัท ฟ. ได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เงินส่วนที่บริษัท ฟ. หักลดให้แก่โจทก์จึงเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่โจทก์ต้องนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือน โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวจากบริษัท ฟ. ไม่ใช่นำไปหักลดกับค่าซื้อสิ่งของสมมติจากเกมที่โจทก์ต้องจ่ายแทนผู้ถือบัตรเติมเงินเกมออนไลน์ของโจทก์

ความเห็น

การให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีนั้น จะต้องเป็นการให้ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ลดให้ในขณะขายสินค้าหรือให้บริการ และได้หักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าวออกจากราคาสินค้าหรือค่าบริการ โดยได้แสดงให้เห็นไว้โดยชัดแจ้งว่าได้มีการหักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้ง ตามมาตรา 79 วรรคสาม (1) แห่งประมวลรัษฎากร

          กรณีนี้ มีความเชื่อมโยงกันระหว่างกรณีที่ บริษัท ฟ. ขายสินค้าไม่มีรูปร่างให้แก่ผู้เล่นเกมออนไลน์ซึ่งมิได้ขายให้โจทก์โดยให้ส่วนลด กับกรณีโจทก์ได้รับส่วนลดจากการเชื่อมต่อเว็บไซต์ของโจทก์กับเว็บไซต์ของบริษัท ฟ. โดย บริษัท ฟ. พิจารณาให้ส่วนลดจากมูลค่าที่ผู้เล่นเกมออนไลน์ซื้อสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง

          สำหรับความแตกต่างของการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างและกรณีการให้บริการนั้น การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างเป็นกรณีของโอนกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีลักษณะที่ไม่สามารถจับต้องได้แต่ทรัพย์สินดังกล่าวอาจมีราคาหรือถือเอาได้ตามมาตรา 77/1(8) มาตรา 77/1(9) และมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการให้บริการนั้น หมายถึง การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่า ซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

      การดำเนินงานของโจทก์ ที่มีการวางระบบโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อเว็บไซต์ของโจทก์กับเว็บไซต์ของบริษัท ฟ. เพื่อให้ผู้ถือบัตรเติมเงินเกมออนไลน์ของโจทก์สามารถเข้าเล่นเกมของบริษัท ฟ. ได้นั้น มีลักษณะเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์อันมีมูลค่า การที่โจทก์ได้ส่วนลดจากบริษัท ฟ. โดยคำนวณจากค่าซื้อสิ่งสมมติในเกมออนไลน์ เพื่อให้ผู้เล่นเกมออนไลน์ซื้อต่อจากโจทก์นั้น มีลักษณะเป็นการซื้อสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งส่วนลดดังกล่าวจะต้องได้รับในขณะที่มีการซื้อสินค้าหรือได้รับบริการและได้รับในลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการฝ่ายเดียว แต่กรณีตามข้อเท็จจริง ส่วนลดที่โจทก์ได้รับมีผลมาจากการที่โจทก์ได้ให้บริการแก่บริษัท ฟ. ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ส่วนลดดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นค่าตอบแทนหรือค่าบริการที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าบริการดังกล่าวมารวมเป็นเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนด้วย ผู้เขียนจึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา

 

นางสาววรรณนิภา  สงวนราษฎร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: kamphols@dlo.co.th

 

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th