จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤศจิกายน 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

 

 

ฉบับที่ 83 เดือนพฤศจิกายน 2560

กฎหมายใหม่ล่าสุด
  1. เพิ่มประเภทบริการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริการประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากร
  2. แก้ไขหลักเกณฑ์การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงินได้จากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ภาคตะวันออก)

 

ข่าวภาษี
  1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคให้แก่กองทุนยุติธรรม
  2. มาตรการภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
  3. มาตรการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีขายเหรียญที่ระลึกเพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย
  4. คลังเร่งกฎหมายเพื่อเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 6897/2559

ระหว่าง   บริษัท ท.                                โจทก์

กรมสรรพากร                         จำเลย

เรื่อง       ฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. เพิ่มประเภทบริการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริการประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 217) กำหนดให้บริการประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากรเป็นบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/DvpMiz

 

2. แก้ไขหลักเกณฑ์การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้รับเงินได้จากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ภาคตะวันออก)

ตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 306) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้ (ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยหรือลูกจ้าง) ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยองนั้น

ต่อมาประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 310) ได้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 306) จากเดิม กรณีได้รับเงินได้ตามสัญญาจ้างแรงงานจากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าวเป็นได้รับเงินได้จากการปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานจากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้รับสิทธิ BOI ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 4/2560ฯ และเพิ่มเงื่อนไขกรณีบุคคลธรรมดามีเงินได้จากการปฏิบัติงานในกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายและกิจการอื่น ต้องกำหนดในสัญญาจ้างแรงงานชัดเจนว่าจำนวนเงินได้จากการทำงานในกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวนไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน

ติดตามรายละเอียดจาก   https://goo.gl/kfxGwT และ  https://goo.gl/68xWHS และ https://goo.gl/s2PfYh

 

ข่าวภาษี

1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคให้แก่กองทุนยุติธรรม

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนยุติธรรม โดยให้สิทธิผู้บริจาคกรณีเป็นบุคคลธรรมดาสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ส่วนกรณีนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/4fYe4V

 

2. มาตรการภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/uSXnQD

 

3. มาตรการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีขายเหรียญที่ระลึกเพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการขายเหรียญที่ระลึกของกรมธนารักษ์ เนื่องในวโรกาสสำคัญต่าง ๆ และนำรายได้จากการขายเหรียญดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/uSXnQD

 

4. คลังเร่งกฎหมายเพื่อ เก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ปลัด กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติ เก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาและจะมีผลใช้บังคับในปีงบประมาณ 2561

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว  กำหนดให้เก็บภาษีเงินได้จากผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้วก่อให้เกิดรายได้ในประเทศไทย ซึ่งจะให้เสียภาษีโดยผู้จ่ายเงินเป็นผู้มีหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่ายไม่เกิน 15% และนำส่งให้กรมสรรพากร ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/xDJuB8

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 6897/2559

ระหว่าง   บริษัท ท.                                โจทก์

กรมสรรพากร                         จำเลย

เรื่อง       ฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

 

การขายอสังหาริมทรัพย์ระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อมีข้อตกลงว่า ผู้ซื้อจะเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องสัญญาทางแพ่งที่คู่สัญญาสามารถตกลงกันได้ ไม่ขัดต่อมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเมื่อค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเงินที่ผู้ซื้อชำระให้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ ดังนั้นจึงไม่ถือเป็นเงินที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโจทก์ตามมาตรา 91/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และที่จำเลยอ้างตามข้อ 6 (4) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 ที่กำหนดให้ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมารวมเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ศาลเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายที่จะใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป เป็นเพียงคำสั่งภายในของจำเลยที่ให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติเท่านั้น จึงไม่อาจใช้บังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ต้องดำเนินการได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ผู้ซื้อออกแทนโจทก์มารวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะจึงเป็นการไม่ชอบ

 

ความเห็น

การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น จะต้องนำยอด “รายรับ” ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ มารวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5 (6) ประกอบมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (1) ให้นิยามคำว่า “รายรับ” ว่าหมายความถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ

ถึงแม้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 457 บัญญัติไว้ว่า “ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย”  ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงอาจตกลงกำหนดให้ผู้ซื้อเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดก็ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว ผู้ซื้อชำระให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินโดยตรง กรณีจึงไม่ได้ก่อให้เกิดรายรับแก่โจทก์แต่ประการใด เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับจากการประกอบกิจการที่ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้เขียนจึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาฎีกาที่ว่า การที่โจทก์ไม่นำค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไปรวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นจึงเป็นการชอบแล้ว

อย่างไรก็ดี กรณีที่สัญญาซื้อขายมีข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ซื้อเป็นผู้ออกภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกรวมว่า “ภาษี”) แทนผู้ขาย ซึ่งผู้ขายมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องชำระภาษีนั้น การที่ผู้ขายไม่ต้องจ่ายชำระค่าภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องชำระนั้น จึงเข้าลักษณะเป็นเงินที่ผู้ขายได้รับหรือพึงได้รับอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของผู้ขาย และเป็นฐานในการคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5(6), มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร

ประเด็นต่อมา กรณีที่ศาลพิเคราะห์ว่าคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 ไม่ใช่กฎหมายนั้น ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยคำพิพากษากฎีกาข้างต้นเช่นกัน โดยขออธิบายเพิ่มเติม ดังนี้ คำสั่งกรมสรรพากรนั้นมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ

1. คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร จึงถือเป็นอนุบัญญัติ (กฎหมายลูก) หมายความว่า คำสั่งกรมสรรพากรที่ออกเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไป (ท.ป. หมายความว่า ทั่วไป)

2. คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. ออกโดยไม่ได้อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานกรมสรรพากร เมื่อประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติมิได้ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรที่จะออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปได้ อธิบดีฯ จึงมีเพียงอำนาจในการสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ซึ่งหากคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. ขัดหรือแย้งกับประมวลรัษฎากรแล้วย่อมไม่ผูกพันผู้เสียภาษีให้ต้องปฏิบัติตาม

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นพ้องกับคำพิพากษาฎีกาข้างต้นเช่นกัน เนื่องจากคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 ไม่มีลักษณะเป็นกฎหมาย แต่เป็นเพียงแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น

 

ธนินท์รัฐ เหลืองถาวรพจน์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด เลขที่ 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทรศัพท์ (66) 2680 9777 Email: kamphols@dlo.co.th

 

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th