• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคม 2560

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคม 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 75 เดือนมีนาคม 2560

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560

2. มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล

3. มาตรการภาษีสำหรับนิติบุคคล เมื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท

4. แก้ไขอัตราการหักค่าใช้จ่ายของบุคคลธรรมดา สำหรับค่าแห่งกู๊ดวิลล์หรือสิทธิอย่างอื่น

5. ขยายเวลามาตรการภาษี สำหรับการแปรสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

6. ขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย

7. ยกเว้นเงินได้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

8. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวมครั้งเดียว

9. สรรพากร ออกระเบียบเกี่ยวกับระบบ E – Tax Invoice by Email

 

ข่าวภาษี

ครม. อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อจูงใจผู้มีความสามารถสูงให้มาทำงานในไทย

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

                คำพิพากษาฎีกาที่ 1485/2559

                ระหว่าง                 นาย จ.                                                               โจทก์

กับ                       กรมสรรพากร                                                      จำเลย

เรื่อง                    การยกที่ดินให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

 

 

 

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 และพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่มเติมโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย การหักค่าลดหย่อน การกำหนดเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ การกำหนดเงินได้พึงประเมินที่ต้องยื่นแบบสำหรับบุคคลธรรมดา และอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปี 2560 และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2561 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/RPYlrr, https://goo.gl/vJLrS0, https://goo.gl/zCoj2f

2. มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 630) พ.ศ.2560 ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ เนื่องจากการแปรสภาพธุรกิจจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคลให้แก่บุคคลธรรมดา (ผู้โอน) และนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (ผู้รับโอน) โดยนิติบุคคลดังกล่าวต้องจดทะเบียนจัดตั้งในระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/ETa9vV

3. มาตรการภาษีสำหรับนิติบุคคล เมื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 632) พ.ศ. 2560 ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายในการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบทเป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายจัดให้มีระบบไฟฟ้าหรือน้ำประปา เป็นต้น และต่อมาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกิดจากการลงทุนดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561

นอกจากนี้ นิติบุคคลดังกล่าวยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือกระทำตราสาร เนื่องจากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกิดจากการลงทุนดังกล่าวข้างต้นในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่ส่วนราชการ องค์การของรัฐบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยนิติบุคคล (ผู้โอน) จะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/L5wGaJ

4. แก้ไขอัตราการหักค่าใช้จ่ายของบุคคลธรรมดา สำหรับค่าแห่งกู๊ดวิลล์หรือสิทธิอย่างอื่น

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 634) พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาซึ่งมีเงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ยังให้สิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้ โดยต้องมีหลักฐานพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานสรรพากร ซึ่งเดิมเฉพาะค่าแห่งลิขสิทธิ์เท่านั้นที่สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท และไม่มีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงแต่ค่าแห่งกู๊ดวิลล์และค่าสิทธิอย่างอื่นไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/IRNq8G

5. ขยายเวลามาตรการภาษี สำหรับการแปรสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 635) พ.ศ. 2560 ขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เมื่อได้รับเงินได้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นใบทรัสต์ และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการแปรสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://goo.gl/lyFLrx และ https://goo.gl/v0WRF5

6. ขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 637) พ.ศ.2560 ขยายเวลาการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคล ที่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการจากกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งเดิมจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็นจดทะเบียนจัดตั้งภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก  https://goo.gl/zAJrQ9 และ https://goo.gl/dDAIvO

7. ยกเว้นเงินได้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 638) พ.ศ.2560 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยให้สิทธิผู้บริจาคสามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่ได้บริจาคในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 มาหักเป็นค่าลดหย่อนหรือหักรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เพิ่มอีกเป็นจำนวนร้อยละ 50 ของเงินที่บริจาคหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก  https://goo.gl/bI3mPj

8. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวมครั้งเดียว

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.155/2560 แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542 เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้า หรือให้บริการพร้อมการชำระค่าบริการที่ขายสินค้าหรือให้บริการชนิดและประเภทเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการรายหนึ่งรายใด สามารถจัดทำใบกำกับภาษี (แบบเต็มรูป) รวมเพียงครั้งเดียวใน 1 วัน สำหรับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการรายนั้นก็ได้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/rcqgKm

9. สรรพากร ออกระเบียบเกี่ยวกับระบบ E – Tax Invoice by Email

กรมสรรพากร ได้ออกระเบียบเพื่อรองรับการใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560   เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email พ.ศ.2560 ประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/n3BWWG

 

ข่าวภาษี

ครม. อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อจูงใจผู้มีความสามารถสูงให้มาทำงานในไทย

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คณะรัฐมนตรมีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ… โดยลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่ผู้มีความสามารถสูงระดับโลกให้มาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออกในประเทศไทย โดยให้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราปกติ หรือเสียในอัตราร้อยละ 17

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายประกาศกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/6Q4niX

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

                คำพิพากษาฎีกาที่ 1485/2559

                ระหว่าง                 นาย จ.                                                               โจทก์

กับ                       กรมสรรพากร                                                      จำเลย

เรื่อง                    การยกที่ดินให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่ถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

 

โจทก์ซื้อที่ดินและได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นแปลงย่อย ประมาณ 70 แปลง และโจทก์ได้ยื่นคำขอขยายเขตการจำหน่ายไฟฟ้าลงในที่ดินดังกล่าว เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ส่อแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าเป็นการดำเนินการดังกล่าวเพื่อขาย ดังนั้นการที่โจทก์นำที่ดินที่แบ่งแยกโดยได้จัดทำถนนและสิ่งสาธารณูปโภคไว้ไปจดทะเบียนโอนให้บุคคลทั่วไป จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/4 (6) ประกอบมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 และมาตรา 4 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541

แม้ต่อมาโจทก์ยกที่ดินจำนวน 49 แปลงที่เหลือจากการขายให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งถือเป็นการขายตามประมวลรัษฎากรตามมาตรา 91/1 (4) จึงย่อมเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรทา 4 (4)แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จึงไม่ต้องพิจารณาว่าเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 4 (6) (ง) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอีก โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะจากการยกที่ดิน 49 แปลง ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องนำเงินได้จากการยกที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48 (1) (2) แห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคำพิพากษาฎีกาข้างต้น เป็นกรณีของการโอนที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโดยปกติการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายผู้มีเงินได้จะได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 4(6)(ง) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 แต่ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ปรากฏว่าโจทก์ได้โอนที่ดินให้แก่บุตรภายหลังการแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 4(4) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ที่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นของศาลฎีกาในประเด็นที่ว่า การที่โจทก์โอนที่ดินภายหลังจากการแบ่งแยกไว้เพื่อขายให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้การโอนที่ดินนั้นจะไม่มีค่าตอบแทนก็ตาม ก็ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากรทั้งยังถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ การโอนที่ดินที่แบ่งแยกไว้เพื่อขายให้แก่บุตรจึงไม่ถือเป็นการโอนที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด

ดังนั้น หากประสงค์ที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและโดยไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์นั้น จะต้องไม่มีการแบ่งแยกหรือจัดสรรที่ดินไว้เพื่อขาย เพราะว่าเมื่อมีการจัดสรรที่ดินแล้วโอนขายไม่หมด จะนำมาโอนให้แก่บุตรโดยอ้างว่าไม่ได้เป็นการโอนเพื่อขายนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้โดยชอบ

กฤษติยา วาระเพียง

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

 

 

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th

สุนทรี จุงเลียก

+662 680-9753

soontreej@dlo.co.th

ราชศักดิ์ กุลกัลยา

+662 680-9708

ratchasakk@dlo.co.th

ชัยศิริ ลิ่วสัมฤทธิ์

+662 680-9708

chaisiril@dlo.co.th