• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์ 2560

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์ 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 74 เดือนกุมภาพันธ์ 2560

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจ่ายเงินเพื่อการลงทุน

2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SME ที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

3. ยกเว้นเงินได้จากเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

 

ข่าวภาษี

1. สรรพากรไม่บังคับทำพร้อมเพย์ ยังจ่ายเช็คคืนภาษีตามปกติ

2. สรรพากรชี้แจงมาตรการภาษียกเว้นเงินได้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้

3. สรรพากรชี้แจงมาตรการหักลดหย่อนภาษีในกรณีค่าซ่อมบ้านและรถยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วม

4. สรรพากรชี้แจงขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อการลงทุน

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

                คำพิพากษาฎีกาที่ 4862/2559

ระหว่าง                    ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.                                             โจทก์

กับ                          กรมสรรพากร                                                      จำเลย

เรื่อง                       การออกใบกำกับภาษีเนื่องจากการโอนสินค้าจากสำนักงานใหญ่ให้แก่สาขา

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจ่ายเงินเพื่อการลงทุน

                พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 626) พ.ศ.2560 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา) แต่ต้องไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เป็นจำนวน 100% (1 เท่า) ของรายจ่ายนั้นโดยต้องเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

                ทั้งนี้ ลักษณะทรัพย์สิน หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่จะได้รับยกเว้นต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ และที่อธิบดีประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก  https://goo.gl/9oiuHZ

2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SME ที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 627) พ.ศ.2560 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคลที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา) เท่านั้นเป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1)   ต้องจดทะเบียนตั้งนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท

2)   มีรายได้จากกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชี

3)   ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

4)   ไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก  https://goo.gl/zAJrQ9 และ https://goo.gl/GNJ2kf

3. ยกเว้นเงินได้จากเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพ

กฎกระทรวงฉบับที่ 324 (พ.ศ.2560) แก้ไขเพิ่มเติมการยกเว้นเงินได้ในข้อ 2 (92) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) เพื่อกำหนดให้ยกเว้นเงินได้จากเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่บุคคลธรรมดาได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป โดยหน่วยลงทุนดังกล่าวต้องเป็นหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ได้จากการโอน หรือเกี่ยวเนื่องจากการโอนมาจากกองทุนสํารองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ขายหน่วยลงทุนนั้นเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์และมีระยะเวลาการเป็น สมาชิกกองทุนสํารองเลี้ยงชีพกับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือทุพพลภาพหรือตาย

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/lQe1jC

 

ข่าวภาษี

1. สรรพากรไม่บังคับทำพร้อมเพย์ ยังจ่ายเช็คคืนภาษีตามปกติ

สรรพากรชี้แจงไม่บังคับให้ประชาชนสมัครพร้อมเพย์เพื่อรับเงินภาษีคืน แต่เพื่อให้ได้รับเงินภาษีคืนอย่างรวดเร็ว สรรพากรจะโอนเงินภาษีคืนผ่านระบบพร้อมเพย์ก่อน หลังจากนั้นจึงจะจ่ายเป็นเช็คคืนภาษีให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้สมัครพร้อมเพย์

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/9sALpa

2. สรรพากรชี้แจงมาตรการภาษียกเว้นเงินได้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมทางภาคใต้ โดยให้สิทธิผู้บริจาคสามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่ได้บริจาคในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 มาหักเป็นค่าลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ 1.5 เท่า โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

1) บุคคลธรรมดา ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น

2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สินก็ได้

3) ต้องมีหลักฐานการรับบริจาคในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 โดยระบุว่าเป็นโครงการหรือการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ และอาจระบุช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย หรือหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในช่วงเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ โปรดติดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/YzDokb

3. สรรพากรชี้แจงมาตรการหักลดหย่อนภาษีในกรณีค่าซ่อมบ้านและรถยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วม

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ในระหว่างวันที่ 1   ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 โดยให้สิทธิผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีค่าซ่อมบ้านตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และค่าซ่อมรถยนต์ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาทตามที่กรมสรรพากรได้ออกหนังสือแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดดังกล่าว

ทั้งนี้ โปรดติดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก  https://goo.gl/VSRTxQ และ https://goo.gl/mA98tN

4. สรรพากรชี้แจงขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อการลงทุน

ตามที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559 กำหนดให้หักรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน ต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ต้องไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมได้เพิ่มอีก 1 เท่า (รวมเป็น 2 เท่า) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 นั้น

ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายเวลามาตรการภาษีดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2560 โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขบางส่วน เช่น สิทธิในการหักรายจ่ายจากเดิมหักได้ 1 เท่า (รวมเป็น 2 เท่า) เหลือ 0.5 เท่า (รวมเป็น 1.5 เท่า) เท่านั้น

ทั้งนี้ โปรดติดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/A1JYu5 และ https://goo.gl/Vko6P7

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

                คำพิพากษาฎีกาที่ 4862/2559

ระหว่าง                    ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.                                             โจทก์

กับ                          กรมสรรพากร                                                      จำเลย

เรื่อง                       การออกใบกำกับภาษีเนื่องจากการโอนสินค้าจากสำนักงานใหญ่ให้แก่สาขา

 

โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสถานประกอบการสองแห่ง คือ สำนักงานใหญ่ และสาขา เมื่อโจทก์โอนน้ำมันจากสำนักงานใหญ่ไปยังสาขา สำนักงานใหญ่ออกใบกำกับภาษีขายให้แก่สาขา โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และสาขานำใบกำกับภาษีที่ได้รับไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 ประกอบมาตรา 77/1 (5) (17) และ (18) กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยการคำนวณภาษีซื้อหักภาษีขายตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 (1) ซึ่งภาษีซื้อและภาษีขายต้องเกิดจากการขายระหว่างผู้ประกอบการกับบุคคลอื่นตามมาตรา 77/1 (17) และ (18) เมื่อสำนักงานใหญ่และสาขาต่างมีฐานะเป็นบุคคลเดียวกัน การโอนน้ำมันจากสำนักงานใหญ่ไปยังสาขาจึงเป็นเพียงการจัดการภายในของโจทก์เอง ไม่ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น เมื่อสำนักงานใหญ่ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และสาขานำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร จึงถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคำพิพากษาฎีกาข้างต้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีโดยผู้ไม่มีสิทธิออก ซึ่งมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ห้ามมิให้นำภาษีซื้อซึ่งออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้เขียนเห็นพ้องกับศาลฎีกาในกรณีที่มีการโอนสินค้าจากสำนักงานใหญ่ให้แก่สาขา ถือว่าเป็นเพียงการจัดการภายในของนิติบุคคล สำนักงานใหญ่จึงไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่สาขา เพราะถือเป็นเป็นนิติบุคคลเดียวกันตามประมวลรัษฎากร นอกจากนี้หากให้มีการออกใบกำกับภาษีระหว่างสำนักงานใหญ่และสาขาได้ ก็อาจจะเกิดกรณีโยกย้ายภาษีซื้อและภาษีขาย เพื่อให้แต่ละสถานประกอบการเสียภาษีลดลงหรือมากขึ้นตามแต่ใจของผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นกิจการเดียวกัน เมื่อสำนักงานใหญ่เป็นผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และสาขานำใบกำกับดังกล่าวไปใช้เป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงถือเป็นการแจ้งยอดภาษีซื้อไว้เกิน ทำให้สาขาต้องรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 86/13 ประกอบมาตรา 88/1 แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าในการออกใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังมีแนวทางปฏิบัติในการออกใบกำกับภาษีตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542 เพื่อจะสามารถนำใบกำกับภาษีที่ได้รับไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และทำให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงที่จะต้องถูกประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกด้วย

ผกามาศ สงวนราษฎร์

                หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

 

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th

สุนทรี จุงเลียก

+662 680-9753

soontreej@dlo.co.th

ราชศักดิ์ กุลกัลยา

+662 680-9708

ratchasakk@dlo.co.th

ชัยศิริ ลิ่วสัมฤทธิ์

+662 680-9708

chaisiril@dlo.co.th