• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • สรรพากรเพิ่มเจ้าหน้าที่อีก 2 พันอัตรา กางแผนที่ GPS กะเพิ่มผู้เสียภาษีใหม่เข้าระบบอีก 3.4 แสนราย

สรรพากรเพิ่มเจ้าหน้าที่อีก 2 พันอัตรา กางแผนที่ GPS กะเพิ่มผู้เสียภาษีใหม่เข้าระบบอีก 3.4 แสนราย

นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การขยายการจัดเก็บภาษีไปยังฐานกลุ่มใหม่ ยังเป็นแนวทางที่ทำได้

โดยในปีงบประมาณ 2552 กรมสรรพากร ได้ตั้งเป้าขยายฐานภาษีจำนวนถึง 342,000 ราย และตัวเลขงบช่วง 10 เดือน ( ตุลาคม 2551- กรกฎาคม 2552 ) ก็ใกล้เคียงเป้าหมาย ซึ่งน่าจะเกินเป้าที่กำหนดในสิ้นงบประมาณ 2552 นี้

• "เศรษฐกิจไม่ดี ใช่จะมาเหมารวมว่า ทุกอย่างไม่ดีไม่ได้ เรากำลังดูอยู่ ธุรกิจบางอย่างดีแน่นอน เช่น ธุรกิจอาหาร เพราะคนต้องบริโภค บางทีอาจดีกว่าภาวะเศรษฐกิจปกติด้วยซ้ำ ถ้าเป็นรายที่ยังไม่เสียภาษี ก็ให้ทางพื้นที่หรือสรรพากรเขตไปแนะนำ ให้มายื่นเสียภาษีอย่างถูกต้อง

ซึ่งส่วนใหญ่ได้จาก แผนที่ดาวเทียมจีพีเอส ( Global Position System : GPS ) ตัวอย่างเช่น เราไปห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อย่างมาบุญครอง โบ๊เบ๊ เราตามตลอด ผู้ค้าเป็นรายย่อยก็จริง แต่รายได้ดี จะเห็นว่าธุรกิจบางอย่าง บางรายขายดี สวนทางกลับกับภาวะเศรษฐกิจที่โดยรวมอาจไม่ดี " นายวินัยกล่าว

• แนวทางในการขยายฐานภาษีของกรมที่ผ่านมา โดยการขอความร่วมมือไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอแผนที่จีพีเอส ซึ่งจะบอกได้ว่าบริเวณไหนที่มีธุรกิจหนาแน่น จากนั้น จึงนำข้อมูลมาป้อนใส่คอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงกับแบบรายการที่กรมสรรพากรมีอยู่ว่า ใครยังไม่เสียภาษี

• อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า ส่วนใหญ่ฐานภาษีที่เข้ามาใหม่เป็นบุคคลธรรมดา และได้มาจากการสำรวจของสรรพากรพื้นที่เขต กรมยังเชื่อว่า เฉพาะในกรุงเทพฯ ยังมีผู้ที่ไม่เสียภาษีจำนวนมาก

นอกจากข้อมูลจากแผนที่จีพีเอสแล้ว กรมสรรพากรยังอาศัยข้อมูลจากส่วนงานราชการ อื่น เช่น กรมศุลกากร ซึ่งมีข้อมูลของผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก กรมสรรพสามิตเป็นข้อมูลด้านผู้ประกอบการสุรา-บุหรี่ และยังได้ตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ อาทิ

จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนิติบุคคล ต้องไปขึ้นทะเบียนการค้าอยู่แล้ว

"ข้อมูลเราเชื่อมโยงกันหมด ตอนนี้กรมสรรพากรได้มีระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งบันทึกโดยเครื่อง จึงสามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วมาก"

หลังการเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร นายวินัยเปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่กรมสรรพากรดำเนินการทางซัพพลายเชน โดยเจาะฐานข้อมูลผู้ยังไม่เข้าระบบภาษี จากฐานข้อมูลของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายใหญ่ 2 ช่องทาง คือ จากต้นทางสินค้าที่ผลิตแล้วนำไปขายต่อในแต่ละทอด

ไปยังผู้ประกอบการยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เอเยนต์ (ตัวแทนจำหน่าย ) จนถึงปลายทางผู้บริโภค และจากฐานข้อมูลด้านวัตถุดิบที่ซื้อมาผลิต ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้ จะจัดทำเป็นระบบ โดยกรมได้ดำเนินการแล้วกับหลายกิจการ อาทิ โครงการกระดาษ ผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศและกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง

สำหรับเป้าการขยายฐานภาษีรายใหม่ในปีงบประมาณ 2553 คาดว่าจะไม่น้อยกว่าปีงบ 2552 ประมาณ 320,000-340,000 ราย

การตั้งเป้าขยายฐานจัดเก็บภาษีรายใหม่เพิ่ม เป็นหนึ่งในแผนงานที่มีการบันทึก ในข้อตกลงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อพิจารณาขออัตรากำลังคนเพิ่มอีก 2,000 อัตรา

โดยก่อนหน้านี้ ทางกรมสรรพากรได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันทรัพยากรมนุษย์ จัดทำโครงการพัฒนา " HR Planing Resourse " เสนอเข้ามาแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยเห็นว่า ขอบข่ายงานที่มีอยู่จำเป็นต้องเพิ่มอีก 2,000 อัตรา จากปัจจุบันข้าราชการกรมสรรพากรมีจำนวน 19,590 อัตรา

" ถ้าเราได้อัตรากำลังคนส่วนนี้ ก็จะทำให้การจัดเก็บภาษีมีความคล่องตัวและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบัน งานสรรพากร ต้องทำงานในเวลา ขณะเดียว ก็ทำงานโอทีด้วย เพราะถ้าไม่ทำโอที กระบวนงานก็ไม่ได้ และเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ต้องรับผิดชอบมากถึง 200-300 ราย งานจึงโหลด"

อธิบดีกรมสรรพากร ยังได้คาดว่า ตัวเลขจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2552 น่าจะอยู่ในประมาณการ ซึ่งนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า จะอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดเก็บรายได้จากภาษีนิติบุคคลในรอบปี 2551 ซึ่งจะครบกำหนดชำระในเดือนสิงหาคมนี้ จากฐานการจัดเก็บภาษีในรอบ 10 เดือนของปีงบประมาณ ซึ่งต่ำกว่าประมาณ ณ ขณะนี้ 118,000 ล้านบาท

"ฐานภาษีนิติบุคคล ในเดือนนี้ คงกระทบยอดจัดเก็บแน่ เพราะเป็นผลประกอบการของธุรกิจ ในรอบเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2552 ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ จนส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่จะมีภาษีตัวใหญ่เข้ามา คือ ภ.ง.ด. 51 ซึ่งอาจจะจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ แต่โดยวิธีการทำงานของกรมสรรพากร มุ่งเน้นให้ผู้สมัครใจเสียภาษีและยื่นแบบเสียภาษีตามข้อเท็จจริง

ภาษีอีกตัวก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศ ซึ่งเทียบเดือนต่อเดือนก็ดีขึ้น โดยเดือนพฤษภาคม 2552 ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศ จัดเก็บได้ดีขึ้น 18,667 ล้านบาท เดือนมิถุนายนจัดเก็บได้ 19,502 ล้านบาท และเดือนกรกฎาคม จัดเก็บได้ถึง 20,004 ล้านบาท ดังนั้นใน 2 เดือนที่เหลือ ก็จะน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตาม

โดยรอบ 10 เดือนของปีงบประมาณ 2552 กรมสรรพากร สามารถจัดเก็บรายได้ 894,816 ล้านบาท เทียบกับปีก่อน จัดเก็บได้ต่ำกว่า 88,770 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 9 .0% และจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 118,332 ล้านบาท หรือน้อยกว่า 11.68%

สำหรับเป้าประมาณการจัดเก็บรายได้ปี 2553 ได้ตั้งเป้าไว้ที่ 1.098 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าประมาณการปีงบ 2552 ที่ 1.318 ล้านล้านบาท อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่คาดว่าจะติดลบ 3-3.5% จนส่งผลต่อฐานจัดเก็บ

ที่มา นสพ. ฐานเศรษฐกิจ