• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ประธานาธิบดีโอบามา เรียกร้องให้แก้ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีโดยการใช้เขตปลอดภาษี

ประธานาธิบดีโอบามา เรียกร้องให้แก้ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีโดยการใช้เขตปลอดภาษี

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 4 พค. 2552 ว่า จะแก้ไขปัญหาบริษัทข้ามชาติและเศรษฐีชาวสหรัฐ หลีกเลี่ยงภาษี่จากกำไรที่เกิดขึ้นนอกสหรัฐ ด้วยการใช้เขตปลอดภาษีในต่างประเทศ(Tax heaven)  โดยการยกเครื่องระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลครั้งใหญ่ ซึ่งคาดว่า จะทำให้รัฐบาลสหรัฐ เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ  

ประธานาธิบดีโอบามาประกาศว่า ต่อไปนี้ ผู้เสียภาษีชาวสหรัฐฯจะต้อง "เสียภาษีให้สมดุลกับรายได้" และว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นก้าวแรกของการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องทำ เพื่อกอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐ

บริษัทขนาดใหญ่และบรรดาสมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกัน ได้ออกมาต่อต้านอย่างรุนแรงต่อข้อเสนอให้ปฏิรูปการจัดเก็บภาษี ซึ่งรัฐบาลโอบามา จะต้องจัดทำเป็นร่างกฎหมายหลายฉบับ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขออนุมัติ  โดยกล่าวว่า อาจส่งผลให้บริษัทสหรัฐฯ จำนวนมาก ย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า

ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า โครงสร้างภาษีใหม่นี้ จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้รวม 210,000 ล้านเหรียญสหรัฐตลอดช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลจะนำเงินภาษีนี้ มาใช้เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ลดภาษีให้กับธุรกิจที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง และช่วยเหลือชนชั้นกลางที่ทำงาน

ภายใต้แผนการที่ประธานาธิบดีโอบามาและรัฐมนตรีคลัง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ประกาศออกมา สำนักงานสรรพากรสหรัฐฯ (ไออาร์เอส) จะจ้างตัวแทนเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 800 คน เพื่อติดตามการการหลีกเลี่ยงภาษี โดยการใช้เขตปลอดภาษีในต่างประเทศ

อัตราสูงสุดของภาษีเงินได้นิติบุคคลสหรัฐฯ คือ 35 % แต่กระทรวงการคลังสหรัฐ ประเมินว่า เฉพาะข้อมูลในปีพศ. 2547 บริษัทข้ามชาติอเมริกัน ได้ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายภาษี และวิธีปฏิบัติที่มีปัญหา ทำให้จ่ายภาษีเพียง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรายได้ที่เกิดจากต่างประเทศจำนวน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นอัตราเฉลี่ยเพียง 2.3 % ของกำไรที่ทำได้ในต่างประเทศ ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯ ต้องสูญเสียค่าภาษีไปปีละนับหมื่น ๆ ล้านเหรียญสหรัฐ

การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีที่รัฐบาลเสนอครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีโอบามา ที่บอกว่า จะสะกัดกั้น มิให้บริษัทของสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยการย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ และไปสร้างงานในประเทศอื่น ๆ

ประธานาธิบดีโอบามาให้คำมั่นว่า การใช้ช่องว่างของกฏหมาย เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง จะต้องสิ้นสุดลงเสียที

"ผมต้องการจะเห็นบริษัทของเรา มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลก แต่การเป็นเช่นนั้นได้ ต้องไม่ใช่ด้วยการให้รางวัลแก่บริษัทที่ย้ายงานสำหรับคนอเมริกันไปที่อื่น หรือด้วยการโยกย้ายกำไรไปที่เขตปลอดภาษีในต่างประเทศ"

ไกธ์เนอร์ก็ได้ออกมาประกาศว่า ต่อไปนี้ บริษัทสหรัฐฯ จะไม่ได้รับการลดภาษีเมื่อไปลงทุนในต่างประเทศ หากว่าพวกเขาไม่ได้จ่ายภาษีให้รัฐบาลสหรัฐ จากกำไรที่ทำได้จากต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านวิจัยและการพัฒนาในต่างประเทศ ยังคงได้รับการยกเว้นภาษี

ในคำแถลงของทำเนียบขาวชี้ว่า มาตรการเหล่านี้ จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึง 60,100 ล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่างปี 2011-2019 ซึ่งรัฐบาลจะนำค่าภาษีบางส่วน ไปใช้เป็นกองทุนสำหรับการยกเว้นภาษี สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา

นอกจากนี้ทำเนียบขาวยังกล่าวอีกว่า แผนนี้ จะสามารถอุดช่องโหว่ที่กฏหมายเปิดไว้ โดยให้บริษัทอเมริกัน สามารถนำภาษีที่เสียในต่างประเทศ มาหักจากภาษีที่จะต้องเสียตามกฏหมายสหรัฐฯ  ซึ่งมาตราการนี้ จะทำให้รัฐบาลสหรัฐ ได้เงินคืนถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวว่า " เป็นเพราะกฎหมายภาษีที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ จึงทำให้บริษัทพวกนี้ หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีตามหน้าที่ของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเพราะกฎหมายภาษี ที่ทำให้บริษัทและคนร่ำรวยจำนวนน้อยนิด สามารถใช้เขตปลอดภาษีของต่างประเทศ เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายภาษีใด ๆ เลย และเป็นเพราะกฎหมายภาษี ที่ระบุว่า คุณจะเสียภาษีน้อยลง ถ้าคุณสร้างงานที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย แทนการสร้างงานในเมืองบัฟฟาโล่ รัฐนิวยอร์ค "

สำนักงานบัญชีกลางของสหรัฐ พบว่า บริษัทอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดร้อยละ 83 มีบริษัทลูกในเขตปลอดภาษีของต่างประเทศ เฉพาะบริษัทพรอกเตอร์แอนด์แกมเบิล บริษัทเดียว มีบริษัทลูกซึ่งจดทะเบียนในเขตปลอดภาษีของต่างประเทศ ถึง 83 บริษัท สำหรับบริษัทด้านการเงิน ยิ่งมีบริษัทลูกซึ่งจดทะเบียนในเขตปลอดภาษีของต่างประเทศมากกว่าบริษัททั่วไปมาก เช่น ซิตี้กรุ๊ฟ มีถึง 427 บริษัท และ มอร์แกนสแตนเล่ย์ มีถึง 273 บริษัท

หอการค้าของสหรัฐฯ ได้ออกมาท้วงติงว่า สหรัฐฯเป็นประเทศขนาดใหญ่ประเทศเดียว ที่ยังคงบังคับใช้กฏหมายเรื่องการเก็บภาษีซ้อน สำหรับบริษัทของตนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น  จึงควรต้องคงหลักปฏิบัติในเรื่องการไม่เสียภาษีซ้อนไว้ จึงจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

จากการปรับโครงสร้างภาษีของรัฐบาลโอบามา ทำให้บริษัทของสหรัฐฯ ต้องรายงานผลประกอบการของบริษัทในเครือ ต่อสำนักงานสรรพากรสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นบริษัทแยกต่างหาก จากก่อนหน้านี้ที่สามารถไปจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ที่เขตปลอดภาษี เช่น หมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งทางทำเนียบขาวกล่าวว่า มาตราการนี้ น่าจะทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึง 95,200 ล้านดอลลาร์

เรียบเรียงจาก – เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ และ นิวยอร์คไทม์