กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นายจ้างสามารถยกเหตุเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อต่อสู้คดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2560
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 วรรคท้าย
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การวินิจฉัยว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 มิได้บัญญัติว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้ และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าชดเชยมาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย
ดังนั้นนายจ้างย่อมยกเหตุเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อต่อสู้คดีกับลูกจ้างที่ฟ้องว่านายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ แม้นายจ้างมิได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้าง
วิเคราะห์
ประเด็น:
เงื่อนไขที่กำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งเหตุแห่งการเลิกจ้างในเวลาที่เลิกจ้างเพื่อปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 วรรคท้าย เป็นเงื่อนไขที่สามารถนำมาปรับใช้แก่กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49 ด้วยหรือไม่
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง:
1. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
มาตรา 49 “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างนั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งหารเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา”
2. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 119 วรรคท้าย
มาตรา 119 วรรคท้าย “การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้”
ผู้เขียนเห็นว่าควรแยกพิจารณาในประเด็นดังนี้:
1. ประเด็นเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
นายจ้างสามารถยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นภายหลังเพื่อต่อสู้ลูกจ้าง โดยนายจ้างไม่จำเป็นต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างในขณะที่เลิกจ้าง ซึ่งศาลแรงงานสามารถพิจารณาโดยอาศัยเหตุที่นายจ้างยกขึ้นต่อสู้ภายหลังได้
ดังนั้น หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า มิใช่กรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง ตาม พรบ. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49 ซึ่งเป็นเงินคนละส่วนกับการจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง
2. ประเด็นการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย
นายจ้างยังจำเป็นต้องระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างในขณะที่เลิกจ้างตามที่ได้บัญญัติไว้ใน ม.119 วรรคท้าย พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หากนายจ้างไม่ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างได้รับในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างภายหลังเพื่อต่อสู้ลูกจ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นให้แก่ลูกจ้างไม่ได้
ดังนั้น หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้นขึ้นต่อสู้ลูกจ้างเพื่อที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างก็ยังจำเป็นที่จะต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง หรือแจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างได้ทราบ ในขณะที่เลิกจ้างด้วย
ผู้เขียน น.ส. ปองกานต์ สอทิพย์
(อีเมล์: pongkans@dlo.co.th)