แบ่งปันอย่างเสรีบนโลกออนไลน์ด้วยครีเอทีฟคอมมอนส์

ไม่นานหลังจากโจอิชิ อิโตะ (Joichi Ito) ได้นำภาพถ่ายของวินตัน เซิร์ฟ (Vinton Cerf) ผู้บุกเบิกวงการอินเทอร์เน็ต ที่เขาเป็นผู้ถ่ายขึ้นไปไว้ที่สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย (Wikipedia) เมื่อปีก่อน เขาสังเกตว่ามีอะไรแปลกๆ  ในตอนนั้น รูปถ่ายของคนที่มีชื่อเสียงในวงการอินเทอร์เน็ตและผู้นำทางเทคโนโลยีที่มีประวัติอยู่ในวิกิพีเดีย มักจะมีคุณภาพต่ำหรือไม่มีรูปเลย มันไม่สมควรจะเป็นเช่นนั้น

อิโตะ ชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการศึกษาในสหรัฐอเมริกา นักลงทุนร่วมจัดตั้งกิจการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทดิจิตอล การาจ (Digital Garage) ซึ่งทำธุรกิจสนับสนุนกิจการอินเทอร์เน็ตที่เกิดใหม่ในญี่ปุ่น กล่าวว่า “ผมได้ตระหนักว่า คนมีชื่อเสียงหลายคนไม่มีภาพถ่ายที่เผยแพร่อย่างเสรีบนอินเทอร์เน็ต”

อิโตะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานั้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเขาเริ่มตระเวนถ่ายภาพคนที่เขาพบในระหว่างการเดินทางเกือบทุกคน ด้วยกล้องLeica และกล้องถ่ายรูปขนาดกลาง เขาใช้เวลาครึ่งปีในการเดินทางทั่วโลกเข้าร่วมประชุมและสัมนาหลายแห่ง และภายในไม่กี่เดือนเขาก็ได้ภาพถ่ายนับพันภาพ

ตั้งแต่ภาพของทิม โอเรียลลี่ (Tim O’Reilly) ผู้ก่อตั้งโอเรียลลีมีเดีย (O’Reilly Media) จิมมี เวลส์ (Jimmy Wales) ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย , จนถึงจอร์จ ลูคัส (George Lucas) ผู้กำกับภาพยนต์และเจเจ อับรามส์ (J.J. Abrams) ที่โด่งดังจากภาพยนต์เรื่อง Cloverfield และ Mission Impossible III แม้แต่ภาพของมิซูโกะ (Mizuko) น้องสาวของอิโตะและสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวก็ถ่ายมาด้วย

ตอนนี้ เขาวางแผนที่จะตีพิมพ์หนังสือรวมภาพถ่ายเหล่านั้น ชื่อว่า ฟรีโซลส์ (Freesouls) แต่อิโตะไม่ได้คาดหวังว่า จะทำกำไรจากการขายหนังสือโดยในเดือนกันยายน เมื่อหนังสือวางจำหน่ายที่เว็บไซ้ท์อเมซอน อิโตะจะแจกจ่ายภาพเหล่านั้นฟรีบนอินเทอร์เน็ต

ทุกคนสามารถดาวน์โหลดนำไปใช้ เผยแพร่และแก้ไขภาพเหล่านั้นได้ โดยมีเงื่อนไขข้อเดียว คือ ต้องอ้างชื่ออิโตะว่า เป็นเจ้าของภาพเขาคิดว่าคนส่วนมากคงดาวน์โหลดภาพมากกว่าซื้อหนังสืออิโตะที่ดูอ่อนกว่าวัย 42 กล่าวว่า “ถ้าเราขายหนังสือได้เพียงไม่กี่พันเล่ม (ให้คุ้มกับต้นทุน) ก็เพียงพอแล้ว”

อิโตะไม่ใช่แค่ผู้หวังดีมือสมัครเล่น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาเข้ารับตำแหน่งผู้นำของครีเอทีฟคอมมอนส์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่พัฒนาและเผยแพร่สัญญาอนุญาตให้ใช้งานสร้างสรรค์ตามลิขสิทธิ์ครีเอทีฟคอมมอนส์ก่อตั้งโดยลอว์เรนซ์ เลสซิก (Lawrence Lessig) ศาสตราจารย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ในปี 2001 เลสซิก ได้จัดทำสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ขึ้น เพราะเขารู้สึกว่ากฎหมายลิขสิทธิ์แบบเดิมอาจเป็นอุปสรรคต่อการแบ่งปันงานสร้างสรรค์อย่างเสรีบนอินเทอร์เน็ต โดยทั่วไปสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถเผยแพร่ผลงานบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรีแต่ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ใช้นำผลงานไปใช้เพื่อการค้าได้ถ้าเจ้าของต้องการ ซึ่งเป็นแบบสัญญาอนุญาตที่หนังสือของอิโตะใช้หรืออาจให้นำผลงานไปใช้ในลักษณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้าก็ได้

การส่งผ่านตำแหน่งผู้นำจากเลสซิกไปสู่อิโตะเป็นการเปิดยุคใหม่เลสซิกเป็นเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่ใช้ความน่าเชื่อถือในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและอดีตเสมียนศาลสูงสุดในการสร้างความน่าเชื่อถือในวงการกฎหมาย แต่อิโตะมีสิ่งอื่นที่ต่างออกไป

เขาเป็นผู้สร้างเว็บหน้าแรกๆในโลก เคยทดลองเจาะเข้าระบบเครือข่ายก่อตั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพานิชย์รายแรกในญี่ปุ่นก่อนที่กระแสอินเทอร์เน็ตจะมาแรงและเขียนบลอกบนอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90 ก่อนที่การเขียนบล็อกจะกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทั่วไป

หลายคนคาดหวังว่าอิโตะจะนำผู้ประกอบการ นักธุรกิจและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปเข้ามาในครีเอทีฟคอมมอนส์มากขึ้น  รอยเบน สไตเกอร์ (Reuben Steiger) อดีตผู้สนับสนุนหลักของลินเดนแล็บส์ (Linden Labs) และประธานบริหารบริษัทที่ปรึกษามิลเลียนออฟอัส (Million of Us) ที่ซานฟรานซิสโก กล่าวว่า “อิโตะนำมาซึ่งประสบการณ์ประยุกต์จากโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยขวากหนามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

อิโตะได้ตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานไว้ นั่นคือ การทำให้ครีเอทีฟคอมมอนส์ เป็นตราสินค้าระดับโลกสำหรับตลาดของคนส่วนใหญ่ เขากล่าวว่า ” เป้าหมายคือการทำให้สัญญาอนุญาตเข้าใจได้ง่าย ทำให้คนธรรมดาสามารถใช้สัญญาอนุญาตได้ โดยไม่ต้องจ้างที่ปรึกษากฎหมาย”

หนทางไปสู่เป้าหมายนั้น ยังยาวไกล ครีเอทีฟคอมมอนส์ได้ประเมินว่า มีผลงานสร้างสรรค์บนอินเทอร์เน็ตเพียง 140 ล้านชิ้นที่ติดป้ายครีเอทีฟคอมมอนส์ นักวิจารย์กล่าวว่า สัญญาอนุญาตดังกล่าว เพิ่มความซับซ้อนทางกฎหมาย เมื่อเกิดกรณีพิพาทด้านลิขสิทธิ์

แม้กระนั้น การเคลื่อนไหวนี้ ก็มีผู้สนับสนุนที่ทรงอิทธิพลโปรแกรมเวิร์ด (Microsoft Word) เอ็กซ์เซล (Excel) และเพาเวอร์พอยท์ (Powerpoint) รุ่นล่าสุดของบริษัทไมโครซอฟท์ มาพร้อมกับเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าของงาน สามารถเลือกใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ส่วนกูเกิ้ล (Google) และยาฮู (Yahoo!) อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์กับวีดีโอ ภาพถ่าย และหนังสือ

สถาบันการศึกษากว่า 200 แห่งทั่วโลกได้เข้าร่วมโครงการโอเพนคอร์สแวร์ (Open CourseWare) เพื่อเผยแพร่สื่อการศึกษาอย่างเสรี   ธนาคารชินไซ (Shinsei Bank) ของญี่ปุ่น กล่าวเมื่อเดือนเมษายนว่า โอเพนคอร์สแวร์ทำให้ สถาบันเทคโนโลยี่ของอินเดีย ( Indian Institute of Technology ) สามารถสอนเนื้อหาที่ซับซ้อนของระบบเครือข่ายของธนาคารได้

เมื่อเดือนมีนาคม วงดนตรี ร็อคไนน์อินช์เนลส์ (Nine Inch Nails) ได้เผยแพร่เพลงโดยใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ และเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์แห่งสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอร์ชิงตัน ได้ตัดสินคดีที่ระบุว่า ศิลปินและโปรแกรมเมอร์ สามารถใช้สัญญาทางพาณิชย์เพื่อเผยแพร่ซอฟท์แวร์และงานศิลปกรรมดิจิตอลเพื่อประโยชน์ของสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

การจัดพิมพ์หนังสือฟรีโซลส์ของอิโตะ ทำให้เขากลายเป็นประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับครีเอทีฟคอมมอนส์และนั่นก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะค้นพบจุดอ่อนของครีเอทีฟคอมมอนส์ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในเวลาที่ การเผยแพร่งานสร้างสรรค์อย่างเสรีกำลังพัฒนาไปอย่างกว้างขวาง

อิโตะกล่าวว่า “ผมเชื่อว่าคนจำนวนมาก จะหาเงินได้จากผลงานที่เผยแพร่ ผมต้องการพิสูจน์ว่าการหาเงินจากการเผยแพร่ผลงานนั้นทำได้จริง โดยการเขียนหนังสือและการลงทุนในบริษัทที่สร้างผลตอบแทนจากงานสร้างสรรค์ และหวังว่าคนจำนวนมาก คงทำตาม”

แต่อิโตะก็แสดงความกังวลถึง ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์จากบทบาทของเขาที่เป็นทั้งนักธุรกิจและประธานบริหารของครีเอทีฟคอมมอนส์เพื่อลดเสียงวิจารณ์ เขาได้เปิดเผยข้อมูลการลงทุนมูลค่ากว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐอย่างสม่ำเสมอรวมถึงข้อมูลการเป็นสมาชิกบอร์ดในบริษัทต่างๆของเขาต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ

ตามหลักการ เมื่อศิลปินเผยแพร่งานของตนอย่างเสรีเพื่อแสดงความสามารถต่อสาธารณชนอาจทำให้เขาได้รับงานที่มีค่าจ้างในภายหลังแต่ไม่ใช่ทุกคนที่เผยแพร่งานใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์จะรู้กฎในการใช้งาน

ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกรกฎาคม นิตยสารบิซิเนสวีค (BusinessWeek) ได้เผยแพร่งานภาพสไลด์ของอิโตะ ซึ่งเป็นภาพถ่ายของปีแอร์โอมิดยาร์ (Pierre Omidyar) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประมูลอีเบย์ (eBay) ที่เว็บไซต์แลกเปลี่ยนภาพฟลิกเกอร์ (Flickr) แต่ไม่ได้อ้างอิงว่าอิโตะเป็นเจ้าของภาพหลังจากนั้นมีคนพบและแจ้งไปที่อิโตะเขาได้ส่งอีเมลมาเพื่อขอให้มีอ้างอิงชื่อของเขาในงานดังกล่าว วันรุ่งขึ้นบิซิเนสวีคได้ใส่ชื่อของเขาไว้ที่คำบรรยายภาพ

เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นอีกกับหนังสือฟรีโซลส์ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นอิโตะได้ขอให้คนที่ปรากฏในภาพถ่ายทุกคนเซ็นยินยอม (ซึ่งอิโตะกล่าวว่าเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ) โดยเขาได้อธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า พวกเขาไม่เพียงอนุญาตให้อิโตะใช้ภาพถ่ายเหล่านั้น แต่สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ยังอนุญาตให้ใครก็ตามสามารถดาวน์โหลดภาพและเผยแพร่ภาพนั้นออกไปรวมถึงการได้รับผลกำไรทั้งหมดไว้ด้วย

ที่มานิตยสาร Businessweek

ขอขอบคุณ คุณชิตพงษ์ กิตตินราดร ในการแปลและเรียบเรียงงานชิ้นนี้

เผยแพร่ครั้งแรกที่ ครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย