๑. ในปี ๒๕๓๕ ธรรมนิติของเราประสบความสำเร็จมากอีกปีหนึ่ง ไม่ว่าด้านการพัฒนาองค์กร ด้านบุคลากรและด้านธุรกิจ นี่เป็นภาพรวม แต่ทว่าเมื่อได้พิจารณาโดยจำแนกตามหน่วยงานแล้ว ปรากฏว่าความสำเร็จเหล่านั้น ไม่ได้เท่าเทียมกันทุกหน่วยงาน บางหน่วยงานประสบผลสำเร็จมาก บางหน่วยงานประสบผลสำเร็จอย่างกลาง บางหน่วยงานประสบผลสำเร็จน้อย และบางหน่วยงานยังมีปัญหาอยู่ ความแตกต่างดังกล่าวแม้ว่ายังมีเหตุมีปัจจัยอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย แต่เราพบว่าเหตุและปัจจัยหลักประการหนึ่งก็คือ ปัญหาการทำงานเป็นทีม กล่าวคือ หน่วยงานใดทำงานเป็นทีมได้ดีมากก็ประสบผลสำเร็จมาก หน่วยงานใดทำงานเป็นทีมน้อยก็ประสบผลสำเร็จน้อย หน่วยงานใดมีปัญหาการทำงานเป็นทีมก็จะมีปัญหาการทำงาน มีปัญหาธุรกิจและผลประกอบการไม่ดี
     เพื่อแก้ไขข้อด้อย และส่งเสริมข้อดีของเรา จึงให้รณรงค์ศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเตรียมตัวต้อนรับปี ๒๕๓๖

     ๒. สภากรรมการเคยมีมติกำหนดหลักการ ๖ ประการ ของการบริหารแบบรวมหมู่ และการทำงานเป็นทีม เมื่อปลายปี ๒๕๒๘ เป็นส่วนหนึ่งของ “มติสภากรรมการ เกี่ยวกับแนวทาง นโยบาย แผนงาน และงบประมาณปี ๒๕๒๙” ดังต่อไปนี้
          (๑) ข้อแรกที่สำคัญก็คือ หัวหน้าทีมจะต้องสันทัดในการนำทีมของตนเองไปแบกรับภาระหน้าที่ จะต้องรู้จักการชี้นำ และสันทัดในการสร้างความสามัคคี จะให้ทีมทั้งทีมทำงานอย่างพร้อมเพรียงกัน ก็ต้องให้ทั้งทีมมีความเข้าใจในเรื่องสำคัญต่างๆ เหมือนกัน ดังนั้น หัวหน้าทีมจะต้องศึกษาค้นคว้าให้ดี, ต้องรู้จักแบ่งงานและมอบหมายหน้าที่การงานต่อลูกทีม รู้จักรวบรวมและวิเคราะห์ปัญหา, รู้จักประเมินผลและสรุปบทเรียน, รู้จักวิธีดำเนินการประชุม หัวหน้าทีมถ้าไม่สามารถในการนำทีมให้ดีแล้ว หลักการทำงานเป็นทีมก็ไม่อาจเป็นจริงได้
          (๒) “ร่วมกันคิดแบ่งกันทำ” เพื่อจะให้สามารถร่วมกันคิดอย่างเต็มที่ ทุกคนในทีมต้องรายงานและแลกเปลี่ยนข่าวสารความคืบหน้า ตลอดทั้งปัญหาซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีเรื่องสำคัญก็เปิดประชุม อภิปรายลงมติ และมอบหมายแบ่งงานให้แต่ละคนไปแก้ไขหรือไปทำงาน ได้ผลอย่างไรก็กลับมารายงานต่อที่ประชุมอีก อย่าให้เกิดบรรยากาศต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด จะประชุมให้ดีก็ต้องมีหัวข้อ, ต้องแจ้งล่วงหน้าให้มีการตระเตรียม เพื่อว่าทุกคนจะได้ออกความเห็นอย่างเต็มที่
          (๓) ต้องนำปัญหามาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา อย่านินทาลับหลัง ใช้วิธีแก้ปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเคารพในความจริงและเหตุผล อย่าดูถูกซึ่งกันและกัน อย่าเก็บปัญหาไว้ให้ค้างจนหมักหมม
          (๔) ต้องมีความเข้าใจอันดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน และมีน้ำใจต่อกันและกัน รู้จักการให้อภัยและผ่อนปรนต่อผู้อื่น ข้อนี้สำคัญมาก ถ้าปราศจากน้ำใจต่อกันและกันแล้ว ความสามัคคี และความร่วมมือในการทำงานก็ยากที่จะดำเนินไปได้ด้วยดี
          (๕) เสียงข้างน้อยปฏิบัติตามเสียงข้างมาก และเมื่อเป็นมติแล้วก็ยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มที่แม้ว่าจะไม่เห็นด้วย ในขณะเดียวกัน เสียงข้างมากก็ต้องเคารพและเปิดโอกาสในการชี้แจง และแสดงเหตุผลของเสียงข้างน้อยอย่างเต็มที่ เรายอมรับและอนุญาตให้มีความแตกต่างทางความคิดได้ แต่การปฏิบัติตามมติและนโยบายจะต้องเป็นเอกภาพ
          (๖) ต้องมีความถ่อมตัวและสุขุมหนักแน่น
          คนที่ยโสโอหัง มักจะถูกหมั่นไส้ และง่ายที่จะเกิดความผิดพลาด คนที่ถ่อมตัวมักจะได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้า
          ความสุขุมหนักแน่นจะทำให้เราอดทน และหลีกเลี่ยงความผิดพลาด ซึ่งไม่ควรผิดพลาดได้ เร็วไปก็มักจะพลาด ช้าก็อาจไม่ทันกาล ทั้งยังต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ ถ้าใจร้อนเกินไป, หูเบาเกินไป, มีอะไรก็เอะอะโวยวาย โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาปัญหาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ก็จะทำให้ผู้ใกล้ชิดลำบากใจ ทั้งยังเป็นเรื่องน่าขันอีกด้วย

     ๓. ให้คณะกรรมการด้านทุกด้าน คณะกรรมการฝ่ายทุกฝ่ายศึกษาและรณรงค์ให้พนักงานทั่วทั้งองค์กรถือปฏิบัติโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อความสำเร็จ เพื่อความก้าวหน้า เพื่อความเป็นปึกแผ่นของธรรมนิติของเรา

     หมายเหตุ : มติสภากรรมการว่าด้วย “หลัก ๖ ประการ ของการบริหารแบบรวมหมู่ และการทำงานเป็นทีม” กำหนดขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๘ ได้ใช้เป็นหลักในการบริหารและในการทำงานเป็นทีมของธรรมนิติ ซึ่งได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีพลัง มีความถูกต้อง และเป็นรากฐานในการสร้างองค์กรของเราอีกประการหนึ่ง จึงควรที่ชาวธรรมนิติต้องให้ความสนใจและนำไปปฏิบัติ

สำนักกรรมการจัดการ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๖