(๑) หัวหน้างานของเราบางคนยังไม่ทำตนเป็นแบบอย่างในการทำงานให้แก่เพื่อนพนักงาน มีการกระทำที่แสดงออกในลักษณะรักความสบาย และฉวยโอกาสเช่นในกรณีมีวันทำงานคั่นระหว่างวันหยุดหรือในวันทำงานก่อนหลังวันหยุด ก็มักจะถือโอกาสลาหรือหยุดงานไปเฉยๆ ปล่อยให้เพื่อนพนักงานทำงานโดยลำพัง บางคนมีพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเนืองนิตย์ แม้ว่าพนักงานทุกคนมสิทธิลาแต่ลักษณะเช่นนี้ ถ้าประพฤติเป็นเนืองนิตย์แล้ว ก็จะนำความเสื่อมมาสู่ตนเองได้เพราะเพื่อนพนักงานจะมองว่าเป็นการฉวยโอกาส ทำให้ขาดความเคารพนับถือ จึงควรต้องตระหนักและหาทางแก้ไขเสีย

     (๒) หัวหน้างานของเราบางคนติดยึดในผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป จนลืมนึกถึงภาระหน้าที่ บ้างมีหน้าที่รับผิดชอบในการขยายธุรกิจ รับผิดชอบในเป้าหมายรายได้ และมีหน้าที่ติดต่อลูกค้า แต่เมื่อลูกค้าติดต่อใช้บริการก็ถือโอกาสกำหนดให้ตนเองเป็นผู้แนะนำงาน เพื่อรับค่าแนะนำงาน นี่เป็นพฤติกรรมที่นับว่าน่ารังเกียจสำหรับชาวธรรมนิติ เรามีระเบียบว่าด้วยการแนะนำงาน แต่การปฏิบัติตามระเบียบนี้จะต้องมีจิตสำนึกบนพื้นฐานหน้าที่รับผิดชอบ บางกรณีเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบไต่สวนว่าเป็นการแนะนำ หรือลูกค้าติดต่อขอใช้บริการเอง กรณีเช่นนี้ผู้รับผิดชอบจึงต้องรับผิดชอบด้วยตนเองและด้วยจิตสำนึก เพราะในขณะที่ยากแก่การพิสูจน์ว่าเป็นการแนะนำหรือไม่นั้น ย่อมยากที่จะพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้แนะนำด้วย ซึ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยหากประพฤติเป็นเนืองนิตย์แล้วก็จะนำมาซึ่งความเสื่อมได้

     (๓) หัวหน้างานของเราบางคน จุกจิกจู้จี้ในเรื่องส่วนตัวของเพื่อนพนักงานเกินไป บ้างคอยแต่จับผิดคนอื่น ทำให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในระหว่างเพื่อนพนักงาน และส่งผลเสียต่อการทำงาน พนักงานบางคนชอบซุบซิบนินทาว่าร้ายเพื่อนพนักงานและผู้บริหาร ไปถึงไหนพ่นพิษถึงนั่น บ้างยุคนนั้นยุคนนี้ ก่อให้เกิดปัญหาแตกความสามัคคีและเกิดความเสียหายขึ้น ปี ๒๕๓๔ เราได้ใช้เวลาและความพยายามจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ความเสียหายในกิจการงานของสำนักงานบางโพ ในครึ่งปีแรกของปี ๒๕๓๔ เกิดจากปัญหานี้ การก่อความแตกแยกนำไปสู่การจับกลุ่ม เล่นพรรคเล่นพวก ยิ่งละเลยให้ขยายตัวมากขึ้น ก็จะแก้ไขยาก และเสียหายมาก เราพบว่าพฤติกรรมเช่นนี้ส่วนใหญ่ติดเป็นอุปนิสัยที่ต้องเอาใจใส่แก้ไขเป็นกรณีพิเศษและอย่างต่อเนื่อง หากเหลือกำลังจริงๆ ต้องให้ออกจากงานไป ดีกว่าที่จะคอยป้องกันแก้ไข เราพบบทเรียนด้วยว่า การมอบหมายงานถ้าน้อยเกินไปก็จะเป็นทางให้คนว่างและเปิดโอกาสแก่การซุบซิบนินทา หัวหน้างานทุกคนจึงต้องหมั่นสำรวจและมอบหมายงานให้พอเหมาะ การมอบหมายงานที่เหมาะสมคือมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดี

     (๔) หัวหน้างานบางคนยังขาดความกล้าที่จะรับผิดชอบ มีปัญหาเกิดขึ้นก็ยืนหลบอยู่ข้างหลังปัญหา บ้างถึงขนาดปกปิดปัญหานั้นเสีย ด้วยหวังว่าเรื่องราวจะผ่านไป ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่ลักษณะที่ดีงามของหัวหน้างานของธรรมนิติ การถนอมปัญหาไว้ทำให้พนักงานอ่อนแอ ทำให้ตนเองอ่อนแอ บทเรียนของเราก็คือ หัวหน้างานทุกคนจะต้ององอาจกล้าหาญในการเผชิญปัญหา ในการป้องกันแก้ไขปัญหา และก้าวออกมารับผิดชอบในแนวหน้า

     (๕) เราพบว่ายังมีหัวหน้างานบางคนไม่สอนงานแก่เพื่อนพนักงาน ถึงสอนบ้างก็สอนครึ่งๆ กลางๆ ไม่หมดเปลือก ซึ่งเป็นท่าทีที่ผิด เป็นท่าทีที่ไม่อบรมบ่มเพาะเพื่อนพนักงานขึ้นสู่ความเป็นหัวหน้างาน ทั้งทำให้งานในหน่วยงานอ่อนแอลง เราถือว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ผิดต้องแก้ไขให้ตกไป ควรจะได้ตระหนักว่าแนวทางการพิจารณาว่าหน่วยงานใดเข้มแข็งมีความสามารถสูงหรือไม่ ไม่ใช่ดูจากหัวหน้างานคนเดียว แต่เราดูจากทีมงานถือเอาความเข้มแข็งและมีสมรรถนะสูงของทีมงานเป็นผลงานของหัวหน้างาน

     (๖) ปี ๒๕๓๕ เราได้กระจายอำนาจแก่คณะกรรมการด้านมากขึ้น ที่สำคัญได้แก่ การมอบหมายอำนาจในการปรับบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย พนักงานในด้าน รวมทั้งการพิจารณาเงินเดือนและโบนัส ทำให้การบริหารงานบุคคลใกล้ชิดกับพนักงาน และสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น หลายด้านสามารถใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบหมายอย่างดี เป็นเพียงบางด้านที่ยังมีความโน้มเอียงทั้งทางตึงและทางหย่อน ผู้บริหารระดับด้านจึงควรเอาใจใส่และปรับปรุงการทำงานให้ดี แนวทางเรื่องนี้เราถูกต้องแล้ว แต่นี้ต่อไปความสำเร็จจะมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการพัฒนายกระดับคณะกรรมการด้านของเรา

     (๗) คณะกรรมการฝ่ายได้พัฒนาการทำงานเป็นทีมเพิ่มขึ้นอีกปีหนึ่ง แต่อัตราความก้าวหน้ายังล่าช้าอยู่ บางฝ่ายยังไม่สามารถจัดประชุมฝ่ายได้อย่างสม่ำเสมอ บางฝ่ายผู้จัดการฝ่ายยังคงผูกขาดการนำ นี่คือความอ่อนแอที่ยังดำรงอยู่ ผู้บริหารระดับฝ่ายจะต้องรีบสรุปบทเรียนให้เร็วขึ้น บทเรียนของเราก็คือความสำเร็จของการทำงานเป็นทีม จะทำให้กิจการของฝ่ายก้าวหน้าไป ปี ๒๕๓๖ จึงควรเป็นปีที่ต้องยกระดับและปรับปรุงคณะกรรมการฝ่ายอย่างขนานใหญ่ การพัฒนากรรมการฝ่ายทำให้ผู้บริหารระดับรองเกิดขึ้น ปรากฏโฉมชัดเจนขึ้น การสร้างผู้บริหารระดับรองให้สำเร็จเป็นรากฐานความมั่นคงในกิจการของเรา

     (๘) การให้น้ำหนักในเรื่องงานกับเรื่องคนและภาระส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งที่แต่ละคนต้องวางน้ำหนักให้ถูกต้อง บางคนเอาใจผู้คนทำให้เสียหลักการเรื่องงาน บางคนเข้มงวดเรื่องงานจนเสียน้ำหนักเรื่องคน บางคนเอาใจใส่แต่ครอบครัวจนเสียทั้งคนและเสียทั้งงาน ชาวธรรมนิติโดยเฉพาะผู้บริหารต้องยึดมั่นในหลักการ คิดอ่านต้องมีหลักการ พูดจาต้องมีหลักการ ทำงานก็ต้องมีหลักการ ที่สำคัญคือคำพูดต้องมีหลัก ต้องตรงไปตรงมา อย่าคิดว่าการพูดปดแล้วปัญหาจะผ่านไปได้ การพูดปด คือ การทำลายตัวเองและในการทำลายตนเองนั้นไม่มีอะไรร้ายเท่าการพูดปด จึงควรต้องตระหนักและแก้ไขให้ตกไป

บางส่วนของมติสภากรรมการว่าด้วย…
แนวทาง นโยบาย เป้าหมาย และแผนงานปี ๒๕๓๖