๑. จะต้องไม่ทำให้ลูกค้าเสียหายหรือเดือดร้อนยิ่งกว่าเดิม
     ลูกค้าที่มาใช้บริการทางกฎหมายของเราเปรียบเสมือนผู้ป่วยมาหาหมอ ถ้าหากรักษาไม่ได้ก็ควรบอกเขาตามตรงว่า อาการของเขารักษาไม่ได้ และแนะนำทางออกให้เขาตามสมควร ทั้งนี้ ไม่ว่าการที่เรารักษาไม่ได้นั้นจะเป็นเพราะอาการป่วยของเขาสุดที่จะเยียวยาได้ หรือเป็นเพราะความรู้ความสามารถ และเครื่องมือของเราไม่เพียงพอก็ตาม ในกรณีที่เรารับรักษาและไม่แน่ใจว่าจะสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่เพียงใด นอกจากจะต้องแจ้งให้เขาทราบถึงสถานะดังกล่าวแล้ว ความรับผิดชอบในขั้นต้นก็คือ จะต้องมั่นใจว่าการดำเนินงานของเราจะไม่ทำให้อาการป่วยของเราทรุดหนักลงหรือแย่กว่าเดิม
     การที่จะทำเช่นนี้ได้นักกฎหมายชาวธรรมนิติทุกคนจะต้องมีจิตใจที่ซื่อตรง, ประเมินความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของตนเองอย่างถูกต้อง และตรวจอาการของผู้ป่วยอย่างรอบคอบก่อนที่จะตกลงให้บริการ, ถ้าหากทำไปแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้นภายหลัง จะเรียกว่ามีความรับผิดชอบต่องานไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำทางกฎหมายอย่างผิดๆ โดยที่ตนเองไม่รู้จริงในข้อกฎหมายก็ดี, การเสนอหนทางแก้ปัญหาหรือดำเนินการทางกฎหมายโดยที่ตนเองขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อสภาพความเป็นจริง และปัญหาของลูกค้าก็ดี จึงเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรและน่าละอาย

๒. จะต้องสนใจผลที่แท้จริงในการทำงาน
     ลูกค้ามาใช้บริการของเราย่อมประสงค์ต่อผลสำเร็จของงาน หน้าที่ของเราก่อนอื่น คือ จะต้องศึกษาถึงความต้องการของลูกค้าในงานชิ้นนั้นๆ ให้ถ่องแท้แล้วพิจารณาว่าจะใช้ความรู้ความสามารถของเราดำเนินงานให้เกิดผลตามที่ลูกค้าต้องการได้อย่างไร
     ความต้องการของลูกค้านั้นแตกต่างกันไปตามสภาพของงาน ไม่ได้หมายถึงการชนะคดีเสมอไป ลูกค้าบางรายต้องการได้รับชำระเงิน, บางรายต้องการเวลา, บางรายต้องการประนีประนอมในเงื่อนไขที่เหมาะสม เหล่านี้เป็นต้น จะต้องสนใจที่จะเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าในงานแต่ละชิ้นที่ตนเองรับผิดชอบอย่างถ่องแท้ ในกรณีความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือสูงกว่าเงื่อนไขความเป็นจริงที่จะอำนวยให้ได้ ก็จะต้องชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจถึงขีดจำกัดต่างๆ ที่เป็นจริงด้วย
     ในการดำเนินงานไม่เพียงแต่ต้องมีเจตนาที่ดีเท่านั้น ยังต้องสนใจถึงผลที่แท้จริงของงานด้วย ไม่ใช่สักแต่ทำงานไปวันๆ โดยไม่คำนึงว่าผลงานจะออกมาอย่างไร หรือไม่คำนึงว่า ผลของงานนั้นจะตรงกับความประสงค์ของลูกค้าหรือไม่ เพียงใด นอกจากจะมีเจตนาที่ดีแล้ว ยังต้องมีวิธีการทำงานที่ถูกต้องและเหมาะสม ในที่นี้นักกฎหมายชาวธรรมนิติทุกคนจะต้องตระหนักว่ามาตรการทั้งปวงทางกฎหมายนั้นมีขีดจำกัดในการแก้ปัญหาอยู่ ไม่ใช่ว่าจะสามารถและเหมาะสมในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ดังนั้น นักกฎหมายชาวธรรมนิติจึงไม่เพียงแต่ต้องมีความสันทัดในการใช้มาตรการทางกฎหมายต่างๆ เท่านั้น หากยังจะต้องมีความสันทัดในการใช้มาตรการอื่นๆ ตามความเหมาะสมและตามเงื่อนไขที่เป็นจริงของงงานนั้นๆ อีกด้วย

๓. จะต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ
     ที่เรียกว่าความซื่อสัตย์สุจริต ในที่นี้หมายถึง ความซื่อสัตย์สุจริตต่อบริษัท, ลูกค้า และต่อตนเอง นักกฎหมายชาวธรรมนิติจะต้องปฏิบัติงานโดยอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตดังกล่าวเป็นที่ตั้ง จะต้องไม่แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และจะต้องไม่มีพฤติกรรมที่ทุจริตต่อหน้าที่หรือก่อความเสียหายตามอำเภอใจ จะปิดบังอำพรางความผิดพลาดของตนเองเหมาเอาความดีความชอบทั้งหมดเป็นของตน และโยนความผิดพลาดทั้งหมดไปให้ผู้อื่นไม่ได้
     ที่เรียกว่าเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบนั้นในการปฏิบัติงานนั้น นอกจากจะหมายถึงความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานให้ได้รับผลสำเร็จแล้วยังหมายถึงความรับผิดชอบที่จะทำให้งานที่ออกมาได้รับผลสำเร็จด้วย แต่ทว่าคนที่ทำงานย่อมมีความผิดพลาดและเราก็ยอมรับให้มีการทำความผิดพลาดได้ สิ่งที่เราเรียกร้องก็คือ ทำความผิดพลาดให้น้อยสักหน่อย, อย่าทำความผิดพลาดที่เป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อทำความผิดพลาดแล้ว จะต้องสรุปบทเรียนเพื่อจะได้ไม่ผิดพลาดอีก และให้พยายามแก้ไขความผิดพลาดต่างๆ ให้เร็วเท่าที่จะทำได้ จะทำเช่นนี้ได้จะต้องเอาใจใส่และระมัดระวังในการทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งยังต้องขอคำปรึกษาจากผู้รู้อย่างสม่ำเสมออีกด้วย

๔. จะต้องสันทัดในการทำงานเป็นทีม
     การทำงานเป็นทีมเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งของบริษัท และเป็นข้อแตกต่างขั้นพื้นฐานประการหนึ่งระหว่างนักกฎหมายชาวธรรมนิติ และนักกฎหมายอิสระทั่วไป หลักและวิธีการปฏิบัติที่สำคัญมีดังนี้
     (๑) หัวหน้าทีมจะต้องสันทัดในการนำทีมของตนไปทำงาน จะให้คนทั้งทีมทำงานอย่างพร้อมเพรียงกัน ก็ต้องให้ทั้งทีมมีความเข้าใจในเรื่องสำคัญๆ เหมือนกัน ดังนั้น หัวหน้าทีมจึงต้องศึกษาค้นคว้าให้ดี ต้องรู้จักแบ่งงานและมอบหมายหน้าที่การงานตามความเหมาะสมของลูกทีมแต่ละคน รู้จักรวบรวมและวิเคราะห์ปัญหา, รู้จักการนำงานและสรุปบทเรียน รวมทั้งรู้จักวิธีดำเนินการประชุม หัวหน้าทีมถ้าไม่มีความสามารถในการนำทีมให้ดีแล้ว หลักการทำงานเป็นทีมก็ไม่อาจเป็นจริงได้
     (๒) จะต้องคำนึงถึงส่วนทั้งหมด การปฏิบัติงานใดๆ ของนักกฎหมายชาวธรรมนิติทุกคนดำเนินไปในนามธรรมนิติ นี่เป็นความจริงที่จะต้องตระหนักและระลึกอยู่เสมอ ดังนั้น คำพูดและการกระทำใด ๆ จึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ในส่วนทั้งหมดของบริษัทเป็นสำคัญ ไม่ควรมองจากประโยชน์เฉพาะฝ่ายหรือเฉพาะส่วน กล่าวให้แคบลง ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนอกจากการคำนึงถึงตนเองแล้ว ควรจะคำนึงถึงทุกคนในทีมงานและผลกระทบต่อฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
     (๓) ร่วมกันคิดแต่แบ่งกันทำเพื่อจะให้สามารถร่วมกันคิดอย่างเต็มที่ ทุกคนในทีมต้องรายงานและแลกเปลี่ยนข่าวสารความคืบหน้า ตลอดทั้งปัญหาซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีเรื่องสำคัญก็เปิดประชุมอภิปราย ลงมติและมอบหมายแบ่งงานให้แต่ละคนไปแก้ไขหรือไปทำงาน ได้ผลอย่างไรก็กลับมารายงานให้ที่ประชุมทราบ อย่าให้เกิดบรรยากาศต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด จะประชุมให้ดีก็ต้องมีหัวข้อ ต้องแจ้งล่วงหน้าให้มีการตระเตรียมเพื่อว่าทุกคนจะได้ออกความเห็นอย่างเต็มที่
     (๔) ต้องนำปัญหามาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา อย่านินทาลับหลัง อย่าเก็บปัญหาไว้ให้ค้างจนหมักหมม และอย่าดูถูกซึ่งกันและกัน ใช้วิธีแก้ปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างกันด้วยการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเคารพในความจริงและเหตุผล
     (๕) ต้องมีความเข้าใจอันดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน มีน้ำใจต่อกัน รู้จักให้อภัยและผ่อนปรนต่อผู้อื่น ข้อนี้สำคัญมาก ถ้าปราศจากความเข้าใจอันดีต่อกันและความมีน้ำใจแล้ว ความสามัคคีและความร่วมมือกันในการทำงานก็ยากที่จะดำเนินไปได้ด้วยดี
จะทำให้หลักการทำงานเป็นทีมปรากฏเป็นจริง จะต้องสร้างรากฐานตั้งแต่หน่วยงานหรือองค์คณะในการทำงานระดับล่างสุดขึ้นไป ฝึกให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะทำงานกับคนที่ต่างจากตนเอง เรียนรู้ที่จะใช้การทำงานเป็นทีมปรับปรุงงานให้ดีขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน

๕. จะต้องถ่อมตัว สุขุมรอบคอบและมีวินัย
     คนที่เย่อหยิ่งทะนงตัวและยโสโอหัง มักจะถูกหมั่นไส้, ง่ายที่จะทำความผิดพลาด มักจะก่อความแตกแยกกับผู้ร่วมงานและทำให้ตนเองล้าหลัง
     นักกฎหมายชาวธรรมนิติจะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตัว เพราะความอ่อนน้อมถ่อมตัว ทำให้ตนก้าวหน้า ทำให้ตนได้รับความรู้และได้รับความร่วมมือและความนับถือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
     ความหุนหันพลันแล่นและหยาบๆ ลวกๆ เป็นสิ่งที่คนทั้งหลายต่างเห็นชัดแจ้งว่าไม่ดี แต่ทว่าในทางความเป็นจริง คนจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังทำงานอย่างหยาบๆ ลวกๆ และอย่างหุนหันพลันแล่น เมื่อเผชิญเรื่องราวมักจะใจร้อน, มักจะหูเบา มีอะไรก็จะเอะอะโวยวาย โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาปัญหาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องน่าขันแล้ว ยังทำให้คนใกล้ชิดต้องลำบากใจ
     นักกฎหมายชาวธรรมนิติจะต้องปฏิบัติงานด้วยความสุขุมและรอบคอบ จะต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง มีความอดทนและรู้จักพิจารณาเรื่องราวตามความเป็นจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน ความสุขุมรอบคอบนอกจากเป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องนับถือจากคนทั้งหลายแล้ว ยังช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่ไม่จำเป็นได้
     ความมีวินัยในที่นี้ แสดงออกจากจิตสำนึกที่เคารพถึงระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของบริษัท และคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด แสดงออกจากจิตสำนึกที่เคร่งครัดในการรักษากำหนดเวลาในการนัดหมายต่างๆ ทั้งในและนอกบริษัท นี่เป็นความแตกต่างพื้นฐานข้อหนึ่งระหว่างนักกฎหมายชาวธรรมนิติ และนักกฎหมายอิสระทั่วไป เราเป็นองค์กรใหญ่มีพนักงานจำนวนมาก เพื่อทำให้องค์กรเป็นเอกภาพและก้าวไปอย่างมีประสิทธิภาพในทิศทางเดียวกัน จำเป็นต้องมีวินัยมากำกับ ข้อนี้คนส่วนมากเข้าใจดี

๖. จะต้องศึกษาหาความรู้ปรับปรุงแก้ไขตนเองอยู่เสมอ
     ความรู้ในที่นี้ประกอบด้วย ๑. ความรู้ในทางวิชาชีพ และ ๒. ความรู้อื่นๆ ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ โลกเปลี่ยนไปทุกวัน ผู้ที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ย่อมล้าหลัง นักกฎหมายชาวธรรมนิติต้องไม่พึงพอใจในตนเอง ต้องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่, พยายามศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนตนเองท่ามกลางการทำงาน ปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดของตนอยู่เสมอ ยกระดับความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานของตนให้ก้าวรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง

หมายเหตุ : หลักปฏิบัติของนักกฎหมายชาวธรรมนิติ เป็นมติของคณะกรรมการบริหารในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๒๘ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๘ มตินี้กำหนดขึ้นเนื่องจากเห็นว่า นักกฎหมายชาวธรรมนิตินอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยจรรยาบรรณและมรรยาททนายความแล้ว ยังสมควรมีหลักปฏิบัติที่เป็นแบบแผนเดียวกันชุดหนึ่งซึ่งทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามคุณภาพ และมาตรฐานอันจะนำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติคุณของธรรมนิติ

 

สำนักกรรมการจัดการ
๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๒