• ธรรมนิติ
  • /
  • บทความกฎหมาย
  • /
  • บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายกรัฐมนตรีสมัคร

บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายกรัฐมนตรีสมัคร

ท่านอาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้

การวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ในแง่ของกลไกการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไว้ ผู้ที่ส่งเรื่องมีอำนาจส่งไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะคดีรัฐธรรมนูญ ประเภทที่ให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของบุคคลในรัฐธรรมนูญของเรา มีบุคคลอยู่ 4 กลุ่ม ที่อาจถูกตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งได้ คือ

1.กรรมการการเลือกตั้ง
2.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
3.สมาชิกวุฒิสภา และ
4.รัฐมนตรี

เรื่องนี้ถ้ามีปัญหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งขาดคุณสมบัติหรือไม่ เมื่อมีการส่งตีความ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีอำนาจวินิฉัย ที่ผมเริ่มต้นพูดอันนี้ เพราะเดี๋ยวจะมีคำถามว่า ถ้าเกิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขาดคุณสมบัติเสียเอง ใครจะเป็นคนวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเอาไว้ รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เฉพาะคุณสมบัติของบุคคล 4 กลุ่มนี้เท่านั้น

เมื่อหลายปีก่อน ก็มีกรณีวินิจฉัยคุณสมบัติของรัฐมนตรี เนวิน ชิดชอบ ที่ต้องคำพิพากษาถูกลงโทษความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลบุรีรัมย์ลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญา ก็มีปัญหาว่า จะพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีหรือเปล่า ก็เถียงกันอยู่ในเวลานั้น และก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ไว้ เพราะฉะนั้นในแง่ของคดีที่เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ถัดไปก็คงเป็นประเด็นในเรื่องเนื้อหาของคดีแล้วว่า ตกลงคุณสมัครเป็น ลูกจ้าง ในความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 หรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งเอาไว้ คำว่า “ลูกจ้าง” มีความหมายอย่างไรนี้ เป็นการตีความรัฐธรรมนูญครั้งแรก เพราะว่าประเด็นนี้ มันยังไม่เคยมีมาก่อน

คือถ้าดูจาก 267 เขาห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนบริษัทหรือองค์การที่ดำเนินการธุรกิจ ที่มุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือจะเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็ไม่ได้ด้วย

อันนี้คือข้อห้ามที่เป็นถ้อยคำที่อยู่ในมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ มันก็มีปัญหาตรงที่การตีความนี่แหละว่า ที่คุณสมัครไปเป็นพิธีกรในรายการชิมไป…บ่นไปและรายการยกโขยง หกโมงเช้า ถือว่าเป็นลูกจ้างในความหมายของรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ซึ่งก็มีประเด็นเรื่องปัญหาข้อเท็จจริงด้วย จึงมีการสู้กัน

ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัย ปฏิเสธโดยปริยายว่า คุณสมัครไม่ใช่ลูกจ้างในความหมายของกฎหมายแรงงาน ในความหมายของกฎหมายภาษีอากร หรือในความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

จริงๆศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนถ้อยคำแบบนี้ลงในคำวินิจฉัย แต่ว่าถ้าอ่านในคำวินิจฉัย ก็จะเห็นได้ดังที่ได้กล่าวไป เพราะถ้าคุณสมัครเป็นลูกจ้างในความหมายของกฎหมายเหล่านั้น จะไม่มีความจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องตีความคำว่าลูกจ้างให้มันกว้างออกไป เพราะมันเข้าอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญ ท่านก็มองว่า ไม่ใช่ลูกจ้างในความหมายของกฎหมายพวกนั้นแน่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องตีความคำว่า ลูกจ้างในรัฐธรรมนูญนั้นให้มันกว้างกว่ากฎหมายเหล่านั้น แล้วก็ให้เหตุผลว่า ทำไมต้องตีความไม่เหมือนกัน

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ในฐานะที่เราเป็นนักเรียนกฎหมาย การตีความกฎหมายถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆของพวกเรา ในแง่นิติวิธี น่าสนใจว่าทำไมศาลจึงตีความคำว่า “ลูกจ้าง” ในกฎหมายแต่ละฉบับแตกต่างกัน

เหตุที่ศาลตีความคำว่าลูกจ้างไม่เหมือนกันกับกฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงาน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สรุปจากคำวินิจฉัยหน้า 15 และ 16 เป็นหลัก เป็นดังนี้

เหตุผลอันแรก ศาลบอกว่าการที่รัฐธรรมนูญห้ามรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ก็เพราะต้องการให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปโดยชอบ ป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำซึ่งเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรม ซึ่งจะทำให้ยากต่อการตัดสินใจ พูดง่ายๆคือ ศาลรัฐธรรมนูญมองเป็นประเด็นเรื่อง conflict of interest ว่าถ้าคุณไปทำงานซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตัว มันก็อาจจะขัดกับประโยชน์สาธารณะได้ ศาลใช้ตรงนี้เป็นฐานในการที่จะบอกว่า การตีความคำว่า ลูกจ้าง นั้นจะตีความให้เหมือนกับกฎหมายแพ่ง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายภาษีอากรไม่ได้

เหตุผลประการที่สอง ศาลบอกว่าการตีความคำว่าลูกจ้างนั้น โดยเหตุที่มันมีพื้นฐานความคิดว่า ต้องการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ศาลจึงต้องตีความไปตามความหมายทั่วไป ใน sense นี้ คือ ศาลไม่ได้แปลคำว่าลูกจ้างในความหมายในทางกฎหมาย แต่แปลความตามกฎหมายทั่วไปคือ แปลความตามพจนานุกรม คือ ศาลเห็นว่าพจนานุกรมนั้น จะให้ความหมายทั่วไปของคำว่าลูกจ้าง แล้วก็บอกว่า ลูกจ้างนั้นคือผู้รับจ้างทำการงาน

ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิได้คำนึงว่าจะมีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือรับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือการตอบแทนซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ถ้าหากตกลงเพื่อรับจ้างทำการงานแล้ว ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าลูกจ้างทั้งสิ้น

และที่สำคัญก็คือศาลก็บอกว่า กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น มีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ คล้ายๆกับศาลบอกว่า ในเมื่อกฎหมายมันต่ำกว่า ก็จะเอามาเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการตีความถ้อยคำในรัฐธรรมนูญไม่ได้ อะไรประมาณนี้ อันนี้เป็นเหตุผลโดยสรุปของศาลรัฐธรรมนูญ พอศาลตีความอันนี้กว้างออกไป ผลก็คือว่า คุณสมัครจึงต้องด้วยลักษณะความเป็นลูกจ้างในความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เป็นอย่างนี้

ทีนี้เราลองมาดูว่า แนวทางการตีความแบบนี้ ที่ตีความคำว่าลูกจ้างกว้างออกไป มันมีปัญหาหรือไม่อย่างไร คือผมเห็นอย่างนี้นะครับว่า เอาหลักในเบื้องต้นก่อนว่าในการตีความรัฐธรรมนูญ มันเป็นไปได้หรือไม่ในทางนิติวิธีว่า ถ้อยคำที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ อาจจะมีความหมายแตกต่างไปจากถ้อยคำที่ปรากฎในกฎหมายธรรมดา ทั้งๆที่ใช้คำแบบเดียวกัน เคยมีตัวอย่างในต่างประเทศหรือไม่ ที่การตีความถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญนั้น ตีความแล้วมีผลแตกต่างไปจากกฎหมายธรรมดา

คำตอบคือเป็นไปได้ เรื่องนี้เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ข้อวินิจฉัยที่ว่าถ้อยคำในรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะมีความหมายต่างไปจากกฎหมายธรรมดา อันนี้ฟังได้ ไม่ได้ขัดอะไรกับหลักของการตีความกฎหมาย ในเยอรมันก็มีเหมือนกันที่คำว่า กรรมสิทธิ์ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น แตกต่างไปจากคำว่ากรรมสิทธิ์ในกฎหมายแพ่ง อันนี้มีอยู่จริง แต่แม้ว่ามันมีอย่างนั้นจริง เราก็ต้องมาดูด้วยว่า แล้วของเราคำว่า “ลูกจ้าง” อันนี้มันควรจะแปลความแบบนั้นหรือไม่ อย่างไร

ถ้าเกิดเราดูตรงนี้ ผมมองว่า โดยผลแห่งการตีความของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นแบบขยายความ คือทำให้คำว่าลูกจ้างตามมาตรา267 กลายเป็นคำว่า รับจ้างโดยผลแห่งการตีความ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราอ่านมาตรา 267 ที่บอกว่าหรือเป็นลูกจ้างบุคคลใดไม่ได้ด้วย โดยผลแห่งการตีความของศาลรัฐธรรมนูญจึงเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า หรือจะรับจ้างบุคคลใดก็มิได้ด้วย

และผมยังเห็นไปว่า ผลแห่งการตีความอันนี้ มันไม่ใช่เรื่องรับจ้างธรรมดาด้วย มันมากไปกว่านั้น เพราะว่าศาลบอกว่า หมายถึงผู้ซึ่งตกลงทำการงานให้นายจ้าง โดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร ได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างสินจ้างหรือค่าตอบแทน ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน อย่างอื่น หากมีการตกลงเป็นผู้รับจ้างทำการงานแล้ว ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าลูกจ้างทั้งสิ้น เพราะศาลบอกว่า ถ้าไม่อย่างนั้น ก็จะไปเบี่ยงเบนได้

ทีนี้เราอาจจะลองคิดดูอย่างนี้ได้ไหมว่า เราเป็นรัฐมนตรี มีคนเชิญเราไปเปิดงาน แล้วก็ให้ปาฐกถา ก็คือ ให้มีการพูดเกี่ยวกับบริษัทอะไรต่างๆเหล่านี้ แล้วเราได้ของขวัญจากการไปเปิดงานนั้น หรือการไปปาฐกถาอะไรต่างๆเหล่านั้น อย่างนี้ถือว่าเข้าข่ายว่าเป็น ลูกจ้าง ตามความหมายของรัฐธรรมนูญนี้แล้วหรือไม่ ถือว่ากรณีนี้ เป็นการตกลงทำงานให้กับนายจ้างแล้ว และก็ได้รับค้าจ้างในแง่ที่เป็นทรัพย์สินแล้วหรือยัง แม้เป็นการทำครั้งเดียว

เพราะถ้าเกิดอ่านในหน้า 16 มันเหมือนกับมันจะเข้า เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าต้องทำกี่ครั้ง บอกว่าถ้ามีลักษณะเป็นการตกลงทำให้นายจ้าง รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ได้เงินค่าตอบแทนแบบไหน ก็ถือเป็นลูกจ้างแล้วในความหมายของรัฐธรรมนูญ โดยการตีความอย่างนี้ คำว่าลูกจ้างจึงถูกขยายออกไปกว้างมาก

ปัญหาคือการขยายเอาลูกจ้างออกไปกว้างมากขนาดนี้ มันจะเกิดผลอะไรขึ้นตามมา เพราะว่าในเชิงการตีความกฎหมาย เราคงจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการตีความด้วย ผมมองแบบนี้นะว่า การขยายไปอย่างนี้ มันอาจจะกระทบต่อความมั่นคง ในตำแหน่งของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นองค์กรของรัฐอยู่ เพราะถ้าเราลองไปดู แม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในมาตรา 209 ประกอบกับมาตรา 207 ก็ห้ามเป็นลูกจ้างของบุคคลใดเหมือนกัน

ตำแหน่งอื่นๆในองค์กรอิสระ ก็จะมีการห้ามเป็นลูกจ้างของบุคคลใดเหมือนกัน ประเด็นที่ต้องคิดก็คือว่า ในความเข้าใจของคนธรรมดาทั่วๆไปนั้น เขาเข้าใจหรือไม่ว่าการไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยของเอกชนนั้น ถือว่าเป็นลูกจ้าง การไปปาฐกถาแล้วได้รับทรัพย์สินหรือค่าตอบแทน หรือไปเปิดงานให้คนอื่นแล้วได้รับค่าตอบแทนนั้น การไปออกรายการทีวีแสดงการทำอาหาร ถือว่าอยู่ในความหมายของคำว่าลูกจ้าง คนทั่วๆไปเข้าใจอย่างนั้นหรือไม่ ผมว่าคนทั่วๆไปไม่ได้เข้าใจแบบนั้น

เพราะฉะนั้นในความเข้าใจของผม ผมมองแบบนี้ว่าในการตีความคำว่า ลูกจ้าง ถ้าจะให้กว้างไปถึงขนาดที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกนั้น มันจะกลายเป็นเรื่องรับจ้างหรือเป็นเรื่อง ซึ่งไปทำการอันใดอันหนึ่งขึ้นมา แล้วมีการให้ตอบแทน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะใช้คำว่าลูกจ้างไม่ได้ คือคุณต้องเขียนรัฐธรรมนูญอีกลักษณะหนึ่งว่า ห้ามรับจ้างหรือกระทำการ ซึ่งมีความเกี่ยวพันทางธุรกิจกับเอกชนไม่ว่าในกรณีใด ต้องใช้คำแบบนี้

แต่ถ้าเกิดใช้คำว่าลูกจ้าง มันก็ต้องดูว่าคนทั่วๆไป เขาเข้าใจว่าอย่างไร ถามว่าทำไมผมถึงพูดแบบนี้ ผมบอกอย่างนี้ว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันนี้ไม่ผิดหรอก ไม่ได้ว่าตรงนี้ว่าผิด แต่ผมเห็นว่าการอธิบายเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตีความว่าลูกจ้างอย่างดียวนั้น มันไม่รอบด้าน ถามว่าขาดตรงไหน อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปในคำวินิจฉัยนี้

สิ่งที่ขาดหายไปในคำวินิจฉัยนี้และไม่ปรากฎเลยในคำวินิจฉัยทั้งหมด 18 หน้าของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือการไม่ได้พูดถึงเรื่องการคุ้มครองความเชื่อถือ และไว้วางใจของบุคคล ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเด็นนี้สำคัญ มันเป็นหลักกฎหมายสำคัญอันหนึ่งเหมือนกันว่า กฎหมายนั้นเมื่อมันเขียนขึ้นมาแล้ว มันถูกเขียนขึ้นโดยประโยคหรือรูปแบบในทางภาษา

ดังนั้นมันต้องคุ้มครองคน ซึ่งเขามาอ่านกฎหมายด้วยว่าเขาเข้าใจว่าอย่างไร โดยปกติธรรมดา ตรงนี้คือประเด็น แต่ว่าถ้าศาลจะบอกว่า เอาหล่ะ เรื่องขัดกันของผลประโยชน์อันหนึ่ง ศาลต้องมาดูอีกทางหนึ่งว่า คุณต้องคุ้มครองความไว้เนื้อเชื่อใจของบุคคลด้วยว่า คำว่าลูกจ้างโดยทั่วๆไป เขาเข้าใจว่าอย่างไร เพราะว่าถ้าไม่เอาความเข้าใจของคนทั่วๆไป มันก็จะไม่มีใครเชื่อถือในตัวกฎหมายได้

อีกอย่างหนึ่ง คำว่าลูกจ้างใน sense นี้ มันไม่ได้มีความหมาย เป็นคำทั่วไปในความเห็นของผมนะ แต่มันเป็น technical term หรือเป็นคำเทคนิคในทางกฎหมาย เหมือนคำว่า “คำสั่งทางปกครอง “คำว่า “กรรมสิทธิ์” คำว่า “สิทธิครอบครอง” อะไรพวกนี้ คำว่า “ลูกจ้าง” ผมเห็นว่าเป็น technical term ในทางกฎหมาย มันมีการอธิบาย หรือมีความเข้าใจในทางกฎหมาย

ผมยกตัวอย่างเช่นเวลาที่ผมเขียน commentary อธิบายรัฐธรรมนูญ เวลาที่ผมจะอธิบายคำว่าลูกจ้าง ปกติทั่วไปถ้าหากผู้ร่างรัฐธรรมนูญใช้ถ้อยคำอย่างนี้ ผมก็อธิบายความหมายธรรมดาทั่วไปว่า คนทั่วๆไปเขาเข้าใจคำว่าลูกจ้างว่าอย่างไร การไปรับจ้างทำการงานโดยไม่ได้มีความผูกพันอะไรกับผู้ที่ว่าจ้าง ผู้รับจ้างทำการงานนั้น คงถือไม่ได้ว่าเป็นลูกจ้างตามความหมายของรัฐธรรมนูญ

ถ้าเกิดว่าเราต้องการให้คำๆนี้ มีความหมายขยายไปแบบนั้น เราก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ไปเขียนรัฐธรรมนูญกัน เพราะไม่อย่างนั้น คนเขาก็ไม่รู้ ถูกไหมครับ คือ วันนี้ ถ้าเอาความหมายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมก็เป็นลูกจ้างด้วยนะ หมายถึงเวลาที่ผมไปสอนมหาวิทยาลัยเอกชน ผมก็จะกลายเป็นลูกจ้างตามความหมายนี้ เพราะว่าผมก็เป็นผู้รับจ้างทำการงานและได้รับค่าตอบแทนคือค่าสอน ผมก็กลายเป็นลูกจ้างแล้ว

เพราะฉะนั้น ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ขยายคำว่าลูกจ้างออกไปกว้างมากจนเกินไป ศาลรัฐธรรมนูญนั้น คำนึงถึงเรื่อง conflict of interest ก็จริง แต่ว่าไม่ได้คำนึงถึงในอีกด้านหนึ่ง คือไม่ได้เอาอีกด้านหนึ่งมาชั่ง ก็คือการคุ้มครองความไว้เนื้อเชื่อใจของบุคคลในตำแหน่ง และที่สำคัญก็คือว่า ลักษณะต้องห้าม หรือคุณสมบัติต้องห้าม มันเป็นบทบัญญัติที่ตัดสิทธิของบุคคล คือทำให้เขาไม่สามารถที่จะดำรงตำแหน่งเป็นองค์กรของรัฐได้

บทบัญญัติที่ตัดทอนสิทธิของบุคคลโดยปกติ ในเชิงของการตีความ ก็ต้องตีความไปโดยจำกัดครัดเคร่งตามสมควร เอาแหละ ศาลบอกว่า ถ้าตีความจำกัดครัดเคร่ง ก็จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่อย่างที่ผมบอกว่า เวลาที่คุณดูเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้น คุณจะต้องดูประกอบกับคุณค่าอีกด้านหนึ่งเสมอ คือมันไม่ได้มีคุณค่าด้านเดียวในการตีความรัฐธรรมนูญ มันมีคุณค่าอีกด้านหนึ่ง

ดังนั้นในเชิงภาษา คำว่า ลูกจ้าง ก็ไม่ใช่รับจ้างอยู่แล้ว ในเชิงภาษามันไปไม่ถึง ในเชิงถ้อยคำไปไม่ถึง คุณจะขยายความออกไป คุณก็ขยายไปได้ แต่ถามว่าการขยายออกไปนั้น มันถูกจำกัดโดยอะไรบ้าง คือไม่ใช่ว่าขยายไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ถ้ามันเกินกรอบของถ้อยคำ มันเกินพลังของถ้อยคำ ผมบอกว่ากรณีนี้ มันถูกจำกัดโดยความไว้เนื้อเชื่อใจของบุคคลที่มีต่อระบบกฎหมาย และความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมาย ก็จะจำกัด

นอกจากนี้ ผมยังเห็นว่า ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งที่ช่วยบีบความของคำว่าลูกจ้าง ให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสม ก็คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตีความ ผมมองว่าถ้าคุณตีความคำว่า “ลูกจ้าง” อย่างนี้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นตามมาคือ จะกระทบกับตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐทั้งหมด เพราะเป็นลูกจ้างกันหมดใน sense นี้ เรื่องนี้ผมจึงมองว่า มันจึงเป็นเรื่องซึ่งในที่สุด มันคงเป็นเรื่องนิตินโยบายมากกว่า

แล้วมันเป็นเรื่องนิตินโยบายว่า ตกลงเราจะจำกัดการไปกระทำการใดๆของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางกฎหมายแค่ไหน ผมไม่ได้บอกนะครับว่า ในเชิงความเหมาะสมในทางสังคมเป็นอย่างไร กรณีที่เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วไปทำรายการอาหาร ความเหมาะสมในสังคมนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ว่าการขาดคุณสมบัติ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นองค์กรของรัฐนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องซึ่งไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นโดยสรุป ผมจึงมีความเห็นว่า การตีความของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องลูกจ้างตามความในมาตรา 267 นั้น เป็นการตีความที่กว้างจนเกินไป ขาดการชั่งน้ำหนักคุณค่าต่างๆในระบบกฎหมายอย่างรอบด้าน จึงไม่ต้องด้วยหลักของการตีความรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง

การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัดถูกไหมครับ ?

การตีความกฎหมายอาญา อาจจะไม่จำเป็นต้องตีความโดยเคร่งครัดก็ได้ แต่ว่าตีความให้บรรลุวัตถุประสงค์ในเชิงตัวบท แต่โดยปกติ มักจะพูดกันว่ากฎหมายอาญาตีความโดยเคร่งครัด เราพูดกันติดปาก แต่ถามว่ากฎหมายอาญาตีความขยายความได้ไหม ได้ เขาเรียกว่า extensive interpretation คือตีความขยายความได้ แต่ขยายได้จนสุดขอบของถ้อยคำ คือถ้าเกินไปกว่านั้น มันจะเป็น analogy

คือกฎหมายอาญานั้น ไม่ได้ห้ามขยายความ ตีความขยายความได้ แต่ว่าจะใช้กฎหมายอาญาโดยเทียบเคียง ในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลไม่ได้ ดังนั้นเวลาบอกว่า กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด จะต้องเข้าใจว่านั่นคือ การห้ามเทียบเคียงบทกฎหมายเป็นผลร้ายแก่บุคคล คือ การตีความกฎหมายนั้น เราจะเห็นว่า กฎหมายเป็นเรื่องของภาษา เวลาเราตีความ เราจะเห็นว่า คำแต่ละคำในกฎหมายมันมีพลังของมัน แล้วพลังของมันจะไปสุดอยู่ที่ขอบของมัน

คือคุณจะตีความอย่างไรก็ตาม อย่างเช่นคุณตีความคำว่า สุนัข คุณจะตีความสุนัขอย่างไรก็ตาม สุนัขมันต้องไม่หมายถึงหมี มันขยายอย่างไร มันก็ไม่ถึง ถ้าคุณอยากให้ถึงหมี คุณต้องไปแก้กฎหมายแล้ว คุณตีความไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นคำว่าลูกจ้างในมาตรา267นั้น แม้ว่าเจตนามันจะไปถึงการกระทำของท่านนายกรัฐมนตรี แต่ในเมื่อคำมันได้แค่ตรงนี้ จะกล่าวได้ไหมครับว่า เป็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ไม่ดี ?

คือเจตนาไปถึงหรือไม่ ก็เป็นปัญหาอยู่นะเรื่องนี้ คืออย่างนี้ครับ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหน้า 15 ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงเรื่องของเจตนารมณ์ การอ้างเจตนารมณ์ของศาลรัฐธรรมนูญตามหน้า 15 นั้น เป็นการอ้างขึ้นมาโดยขาดหลักฐาน หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้น พูดถึงเจตนารมณ์ขึ้นมา แต่ว่าไม่ได้บอกว่าเจตนารมณ์นี้เอามาจากไหน คือเวลาที่เราบอกเจตนารมณ์นั้น บางทีเราอาจจะบอกว่า จะเป็นได้จากคำปรารภของรัฐธรรมนูญนั้นเอง

จะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีหมวดเรื่องจริยธรรมอะไร ก็ว่าไป ที่เป็นเรื่องเอามาสนับสนุนในการอ้าง ซึ่งในกรณีนี้ ศาลไม่ได้อ้างจากไหนเลย ศาลเขียนขึ้นมาเลย อันนี้เป็นข้ออ่อน และที่สำคัญก็คือว่า ในตอนที่มีการทำรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องไปค้นหาว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น มุ่งหมายอย่างไร มาตรา 267 นั้น มันมีคำถามง่ายๆว่าถ้าเกิดว่า ถ้าเขาต้องการให้หมายถึงรับจ้างด้วย ทำไมไม่เขียนไปเลยว่ารับจ้างในตอนทำรัฐธรรมนูญ

ง่ายๆ นี่คือคำถามง่ายๆ ใช่ไหม? ว่าถ้าเกิดว่าคุณต้องการให้หมายถึงรับจ้าง หรือขยายออกไปไม่ให้เกี่ยวพันกับอะไรเลย ทำไมคุณไม่เขียนไปเลยว่าห้ามรับจ้าง มันก็จะชัดกว่า ถูกไหม ? ถ้าห้ามรับจ้าง ของคุณสมัครก็อาจจะเข้าแล้ว ว่าห้ามรับจ้าง ทำไมจึงเขียนถึงใช้คำว่า “ลูกจ้าง” และก่อนหน้านั้น เขาก็พูดถึงเรื่องดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การซึ่งเป็นธุรกิจ โดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างบุคคลใด

รู้ไหมว่าทำไมเขาเขียนแบบนี้ หรือทำไมกฎหมายใช้คำแบบนี้ ถ้าเป็นผมอธิบาย ผมจะบอกแบบนี้ว่า การกระทำในลักษณะแบบนี้ มันถึงขั้นแล้วที่เรียกว่า ทำให้เกิด conflict of interest คุณไปนั่งดำรงตำแหน่งในหุ้นส่วนบริษัท เป็น conflict of interest แล้ว หรือคุณเป็นลูกจ้างบุคคล ลูกจ้างตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามสัญญาจ้างแรงงานใช่ไหม? คือคนเป็นลูกจ้าง เวลานายจ้างใช้ให้ทำอะไร คุณก็ต้องทำใช่ไหม?

แล้วคุณเป็นลูกจ้างเขาแล้วคุณนั่งเป็นรัฐมนตรีด้วย คุณนึกออกไหมครับ คือคุณเป็นรัฐมนตรีแล้ว คุณเป็นลูกจ้าง นายจ้างสั่งให้คุณทำนู้นทำนี่ มันไม่ได้ มันชัดในสภาพที่เรียกว่า incompatibility คือ conflict of interest อันนี้มันชัด แต่พ้นไปจากนี้ มันไม่ชัด ตัวอย่างเช่น อย่างกรณีคุณสมัคร ถามกันจริงๆจังๆ ไม่พูดกันลอยๆในกรอบ conflict of interest นะ ถามว่ามัน conflict of interest ตรงไหนที่จะกระทบกับการใช้อำนาจในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มี

อันนี้คือประเด็นหลักเลย ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักที่ยังไม่ได้พูดกัน มันไม่มี แต่ถ้าเขาไปเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชนน่ะมันมี เพราะว่าการเป็นลูกจ้างของเอกชนนั้น ตามสัญญาจ้างแรงงาน คุณตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายจ้าง มันไม่ต้องอะไรอีก คือมันเกิดการขัดแย้งกัน ซึ่งตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ชัดเจนเลย แต่ว่าไปทำอาหาร ถามว่ามันกระทบอะไรกับอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในทางกฎหมายมันไม่กระทบ

แต่ โอเค คุณเป็นนายกฯแล้ว คุณไปทำอาหาร มันอาจจะไม่เหมาะสมในความรู้สึกของผู้คน บางกลุ่ม ก็เป็นเรื่องความไม่เหมาะในทางสังคมไง แต่ว่าในทางกฎหมาย ถามว่า แล้วยังไง ผมเป็นนายก ผมไปทำกับข้าว ใครมาสั่งผมไม่ให้ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ไหม? มันไม่ได้ไง

การอ้างในหน้า 15 ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีข้ออ่อน คือเป็นการอ้างลอย นึกออกไหมครับ คืออ้างแล้วมันดูดี แต่ลึกจริงๆว่ามัน conflict of interest ยังไง มัน conflict of interest ถึงขนาดกระทบกับการตัดสินใจของเขายังไง มันไม่มี ประเด็นมันอยู่ตรงนี้

อย่างนี้ควรนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญไหมครับ ?

เราถามคำถามข้ามไป เพราะว่าก่อนที่เราจะถามตรงนี้ เราต้องถามก่อนว่า แล้ววินิจฉัยมาอย่างนี้แล้ว มันยังไงต่อ มันต้องใช้กับใครต่อ แล้วพอเราเห็นแล้วว่าต้องใช้กับใครต่อยังไง เราก็ไปคิดว่าควรแก้รัฐธรรมนูญหรือเปล่า แล้วอันนี้มันเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ อันนี้ควรจะเป็นคำถามที่ต้องถามก่อน แต่พอเข้าใจประเด็นไหมว่าทำไมผมถึงบอกว่ามันกว้าง เพราะผมมองแบบนี้ คือเขาเขียนว่า เป็นลูกจ้าง เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน มันค่อนข้างชัดว่า มัน conflict of interest

ลูกจ้างจึงตกอยู่ใต้การบังคับบัญชา คุณเป็นหุ้นส่วน คุณได้เงินปันผล ได้กำไรมาแบ่งปันกัน อันนี้ขัดโดยชัดแจ้ง ถ้าเป็นกรณีอื่น มันไม่ชัดในทางกฎหมาย เขาจึงมองว่าเป็นความไม่เหมาะสมในเชิงของสังคม

ผมจะบอกให้อย่างหนึ่งว่า ระบบของเรานั้น จริงๆเรื่องแบบนี้ มันไม่ควรเขียนในรัฐธรรมนูญ อันนี้พูดไปเลย เวลาที่เราวิจารณ์ เราก็คิดไปข้างหน้าด้วยเพื่อระบบกฎหมายของเรา คือผมเห็นว่าบ้านเรา มันควรจะมีพระราชบัญญัติเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะรัฐมนตรีก็ได้ ที่จะพูดถึงเรื่องการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรี พูดถึงคุณสมบัติของตำแหน่งนั้น พูดถึงความสัมพันธ์กับรัฐ

แล้วก็ไม่ควรจะเขียนแค่นี้นะ ควรจะเขียนด้วยว่า รัฐมนตรีไปในงานราชการแล้วรับของขวัญมา ของขวัญที่ได้มานั้น จะเป็นของใคร มันเป็นของหลวงไหม ต้องส่งให้หลวง หรือเก็บไว้ได้เอง หรือว่าต้องใคร คณะรัฐมนตรีหรือใครเป็นผู้วินิจฉัย แล้วจะรับได้เท่าไหร่ หรือถ้าไปนั่งประชุมในที่ต่างๆ ไปเป็นกรรมการสมาคมแล้วได้รับเบี้ยประชุมต่างๆ คุณควรจะรับได้เท่าไร ถึงเพดานเท่าไร แล้วส่วนเกินคุณก็เอาเข้ารัฐ อะไรประมาณนั้น

เราควรจะคิดไปตรงนั้น แล้วก็เขียนให้ชัดเจน แต่มาตรา 267 มันมี logic ของมันอยู่ logic ของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อย่างที่ผมบอก มันจะชัดในแง่ที่ว่า คุณตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคนที่เป็นนายจ้าง เพราะมันทำให้การที่คุณจะใช้อำนาจ ในตำแหน่งรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี มันใช้ไม่ได้เพราะคุณต้องไปฟังคำสั่งของนายจ้าง หรือคุณไปมุ่งหาผลกำไร คุณไปเป็นหุ้นส่วน เมื่อคุณเป็นหุ้นส่วนแล้ว คุณต้องการผลกำไรสูงสุดมาแบ่งปันกัน คุณอาจจะใช้อำนาจหน้าที่ไปเอื้อประโยชน์ได้ อันนี้ชัด

แต่ตัวอย่างนี้มันไม่มีความชัดเจน ถ้าต้องการทำ คุณต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่คุณต้องมานั่งคิดด้วยว่า กฎหมายนั้น เวลาที่เขียนอะไรลงไป ถ้าเขียนกว้างมากเกินไป เขาก็ทำอะไรไม่ได้เลยนะ อันตรายก็จะตามมา เพราะเขาไม่กล้าทำอะไร ทุกคนก็กลัวจะผิดกันหมด ไม่มีใครกล้าทำอะไรทั้งสิ้น ผลร้ายก็เกิดมาอีกจาก การที่ไปเน้นคุณธรรมจริยธรรมอะไรอย่างนี้ต่างๆมากมาย อันนั้นคือประเด็น ด้วยความเคารพ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องนี้กว้างอย่างนี้

เมื่อศาลวินิจฉัยออกมาแบบนี้แล้ว อะไรเกิดขึ้นตามมา ผลที่เกิดตามมาคือบัดนี้ คำว่า ลูกจ้าง ตามรัฐธรรมนูญโดยผลของการตีความตามศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้เกิดเป็นความหมายใหม่ขึ้นมาแล้ว และความหมายนี้ มันคงไม่ใช้กับมาตรา 267 อย่างเดียว แต่มันต้องไปใช้กับ มาตรา 209 ประกอบกับ มาตรา 207 ด้วย ในเรื่อง คุณสมบัติของตุลาการรัฐธรรมนูญ และมันก็ควรจะไปใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญด้วย

บัดนี้ บุคคลเหล่านั้นได้กลายเป็น ลูกจ้าง ตามความหมายของรัฐธรรมนูญแล้ว และเท่ากับว่า จะมีคนหลายคนที่ก็ควรจะต้องพ้นจากตำแหน่ง วันนี้มันต้องมีการพูดกันนะ เอาล่ะ คุณเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วคุณไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเอกชน คุณเป็นลูกจ้างหรือเปล่า ผมบอกว่าจริงๆในความเห็นผม ถ้าไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีคุณสมัคร มันไม่เป็นนะ แต่คุณเป็นลูกจ้างตามความหมายในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 คือ กรณีคุณสมัคร

ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 267 เช่นนี้ ก็จะต้องนำไปใช้กับ 209 ประกอบ 207 ผลก็คือคุณเป็น มีคนบอกว่า มหาวิทยาลัยเอกชนมิใช่องค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรมา แบ่งปันกัน ทำไมจะไม่ใช่ มหาวิทยาลัยเอกชนเขามุ่งแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกันอยู่แล้ว แต่ผมจะบอกให้ว่า จริงๆไม่เป็นประเด็นตรงนั้น ในเมื่อองค์การธุรกิจที่แสวงหารายได้มาแบ่งปันกัน เขาหมายถึงไปดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนบริษัทหรือองค์การธุรกิจ

แต่ผมไม่ได้พูดตรงนั้น ผมพูดในประเด็นว่า เป็นลูกจ้างของบุคคลใด มันไม่ได้มีเรื่องหาผลกำไรหรือไม่ได้หาผลกำไร ต้องอ่านรัฐธรรมนูญให้ดีนะ ในส่วนนี้รัฐธรรมนูญพูด 2 กรณี กรณีหนึ่ง พูดถึงการดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน กับอีกอันหนึ่งคือ เป็นลูกจ้างของบุคคลใด เขาไม่ได้บอกว่า เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การธุรกิจที่หาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน

เพราะฉะนั้นเลิกเถียงว่ามหาวิทยาลัยเอกชนเป็นองค์การธุรกิจ หรือเปล่า ไม่เกี่ยวแล้ว เพราะว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเอกชนเป็น “บุคคลใด” ต่อให้มหาวิทยาลัยเอกชนไม่มุ่งหาผลกำไร มหาวิทยาลัยเอกชนก็เป็น “บุคคลใด” ตามความหมายนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นบุคคลใด การที่คุณไปสอนหนังสือ ไปรับจ้างทำการงาน คุณก็เป็นลูกจ้างของบุคคลใด ก็จบ ไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องหาผลกำไรเลย คนละเรื่อง รัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้อย่างนี้ มันคนละอันกัน

อย่างการไปจัดรายการของนายกรัฐมนตรี อาจารย์ก็มองว่า ไม่เข้า conflict of interest อยู่แล้ว แล้วการที่เป็นอาจารย์พิเศษ จะทำให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์รึเปล่า ?

ไม่ขัด มันไม่เป็นconflict of interest แต่ปัญหาก็คือ แต่พอไปตีความอย่างนี้ มันไม่สนใจแล้วว่าเป็น conflict of interest หรือเปล่า เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ไปให้ความหมายของลูกจ้างแบบใหม่แล้ว จริงๆมันไม่ควรจะเป็นเลย ความเห็นผมมันไม่เข้า มันไม่เป็นเลย กรณีนี้ก็ไม่ใช่ มันไม่ได้ขัด กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปสอนหนังสือ จริงๆก็ไม่เป็น ถ้าไม่มีคำวินิจฉัยนี้ ผมก็เห็นว่าท่านไม่เป็นลูกจ้าง

ก็ท่านเป็นตุลาการ แล้วไปสอนหนังสือ ไปให้ความรู้ แล้วมันจะขัดกันแห่งผลประโยชน์ยังไง มันไม่ได้ขัด แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไปตีความคำว่า “ลูกจ้าง” แบบนี้เอง ในคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 ท่านไปตีความความหมายมันกว้างแบบนี้ไง เมื่อบัดนี้คุณให้ความหมายตรงนี้แล้ว เมื่อคุณเป็นตุลาการแล้วไปสอนหนังสือ ได้รับเงินค่าตอบแทนจากการสอน คุณก็เป็น “ลูกจ้างของบุคคลใด” ในความหมายของรัฐธรรมนูญที่คุณได้วินิจฉัยไว้เองแล้ว

หรือคุณจะบอกว่า ถ้าเป็น ลูกจ้างตามมาตรา 267 หมายถึงอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นลูกจ้างตามมาตรา 209 ประกอบกับมาตรา 207 หมายถึงอีกอย่างหนึ่ง ก็จะเป็นของตลก กลายเป็นว่าการใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 มาตรฐาน ถ้าใช้กับคนนี้ให้ความหมายอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าใช้กับคุณเอง คุณให้ความหมายอีกอย่างหนึ่ง มันรับไม่ได้ในทางกฎหมาย

กฎหมายนั้นตามตำนานในสมัยกรีกโบราณ ปรากฏขึ้นในรูปเทพีแห่งความยุติธรรม เขาเรียกว่า Themis (เธมิส) เทพธิดาองค์นี้ จะมีผ้าปิดตา มือซ้ายถือตราชู มือขวาถือกระบี่ อันนี้คือสัญลักษณ์ของกฎหมายและความยุติธรรมโลกตะวันตก มันมีนัยมีความหมายนะ

ตราชูก็คือความเที่ยงตรง ความได้ดุลกัน กระบี่คืออำนาจ ผ้าปิดตาคืออะไร สิ่งนี้สำคัญ หมายความว่าต่อหน้ากฎหมาย กฎหมายไม่สนว่าหน้าใคร เพราะไม่เห็นไง เอามาปิดนี่ไม่ได้หมายถึงไม่รับรู้อะไรนะ แต่คือไม่สนใจหน้าคน คือเป็นใครก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน

เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะตีความมาตรา 267 คุณจะตีแบบนี้ก็ได้ แต่ผมไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยกับการตีความแบบนี้นะ ผมไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยกับ case นี้ ผมไม่เห็นด้วยกับการตีความแบบนี้ แต่เมื่อคุณตีความแบบนี้แล้ว คุณจะต้องตีความมาตรา 209 กับ มาตรา 207 แบบเดียวกัน หรือถ้าคุณตีความมาตรา 267 อย่างหนึ่ง มาตรา 209 กับมาตรา 207 อีกอย่างหนึ่ง คุณใช้ไม่ได้แล้ว

ถ้าคุณมีหน้าที่เปล่งเสียงแสดงความหมายของกฎหมายว่า หมายความว่าอย่างไร แล้วคุณเปล่งเสียงไม่เหมือนกัน คุณก็หมดความชอบธรรมในการเปล่งเสียงแสดงความหมายของกฎหมายนั้น ปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละ มันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า ผมเห็นว่าการไปสอนหนังสือเป็นลูกจ้างหรือไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เมื่อคุณตีความแล้วอย่างนี้แล้ว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

คำวินิจฉัยนี้มันสร้างบรรทัดฐานในส่วนนี้ไปเลย ?

ใช่ ผมถึงบอกว่าเวลาที่เราจะตีความกฎหมาย เราต้องมองผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตีความของเราด้วย คือเราไปมุ่งผลเฉพาะกรณีไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายเวลาที่มันใช้และมันถูกใช้ มันมีผลต่อการทั่วๆไปด้วย มันมีผลเรียกว่า หลักความเสมอภาค

หลักความเสมอภาคก็คือว่า สิ่งที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน ก็ต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่า การไปสาธิตการทำอาหารมีสาระสำคัญไม่แตกต่างไปจาก การไปสอนหนังสือ ก็อยู่ในความหมายคำว่าลูกจ้างซึ่งศาลรัฐธรรมนูญให้นิยามเอาไว้เอง ก็ต้องถูกปฏิบัติอย่างเดียวกัน

ถ้าในอนาคตมีคดีที่มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก จะเป็นไปได้ไหมที่ คำวินิจฉัยในครั้งต่อไปจะเป็นอย่างอื่นที่แตกต่างไปจากครั้งนี้ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง เพราะระบบกฎหมายของไทยเองก็ใช้ระบบที่ยึดตัวบทเป็นหลัก ?

ผมมองอย่างนี้ว่า ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แล้วต่อไปคุณตัดสินอย่างอื่น คุณก็ต้องยอมรับว่า ที่คุณตัดสินคราวที่แล้วมันผิดพลาดไป แต่ว่ามันส่งผลให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ศาลรัฐธรรมนูญเวลาชี้อะไรไป มันมีผลทางการเมือง มันส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของคนที่มีต่อระบบกฎหมายนะ เพราะเราก็รู้ว่าเรื่องการเมืองมันมีฝักมีฝ่าย ย่อมมีคนเชียร์และมีคนค้าน

คือคนธรรมดาทั่วไป เขาไม่มาสนใจเทคนิคทางกฎหมายตรงนี้หรอก เขาก็ดูแค่ว่าผลทางกฎหมายออกมา มันถูกใจเขาหรือเปล่า ถูกใจเขาก็ปรบมือ ไม่ถูกใจเขาก็ด่าทอหรืออะไรก็ว่าไป นี่เป็นปกติของมนุษย์

แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นนักกฎหมาย เราจะต้องดูเหตุดูผลในคำวินิจฉัย แล้วเราก็ต้องมีใจที่ยุติธรรมเพียงพอ ว่าเรื่องแบบนี้ถ้ามันเกิดขึ้นกับใครก็ตาม มันต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานอันเดียวกัน เราจะมาดูหน้าคนไม่ได้ หรือว่าไปใช้สถานการณ์ทางการเมือง ช่วงใดช่วงหนึ่งมาเป็นเกณฑ์วินิจฉัยประเด็นปัญหาทางกฎหมายไม่ได้ เพราะว่าไม่อย่างนั้นมันก็จะกัดเซาะตัวระบบกฎหมายเอง คนเขาก็จะไม่เชื่อกฎหมาย เขาก็ดูถูก นี่คือปัญหา

ที่ศาลยกเอาพจนานุกรม มาอธิบายความหมายเรื่องนี้อาจารย์มีความเห็นอย่างไร ?

ผมอธิบายอย่างนี้แล้วกัน อธิบายหลักแล้วกันว่า เวลาเราตีความกฎหมาย เราต้องดูถ้อยคำก่อน หลักทั่วๆไปคือว่า ถ้าถ้อยคำสามัญ คือเป็นถ้อยคำที่คนทั่วๆไปเขาเข้าใจกัน ในการตีความก็ตีความตามความเข้าใจทั่วๆไปของบุคคลธรรมดา ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นศัพท์เทคนิค การตีความถ้อยคำๆนั้น ก็ตีความไปตามความเข้าทางเทคนิคตามสาขาวิชานั้นๆ เช่นเป็นศัพท์เทคนิคในทางพฤกษศาสตร์ ก็ดูว่านักพฤกษศาสตร์เขาเข้าใจคำๆนั้นว่าอย่างไร เขาเข้าใจคำว่าหญ้าว่าอย่างไร

ที่นี้คำว่าลูกจ้างนั้น ผมคิดว่าในเชิงการตีความ มันเป็นคำที่มีความหมายในทางกฎหมายแล้ว คือมันเป็นคำในกฎหมาย ในการตีความ ผู้ตีความจึงต้องให้ความหมายไปในความเข้าใจทางกฎหมายแล้ว คือไม่จำเป็นต้องเอาพจนานุกรมมาช่วยในการตีความ จริงๆมันมีข้อน่าสังเกตอันหนึ่งที่คนไม่ได้พูดก็คือ การอ้างพจนานุกรมนั้น ศาลไม่ได้อ้างก่อนนะ คือให้ความเป็นธรรมกับศาลเขาก่อน คือผู้ถูกร้องเป็นผู้ยกขึ้นอ้าง ในหน้า 8 ของคำวินิจฉัย ผู้ถูกร้องเป็นผู้ยกขึ้นอ้าง

แต่ผู้ถูกร้องยกพจนานุกรมขึ้นอ้าง ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ประมวลกฎหมายแพ่งเรื่องสัญญาจ้างแรงงาน คืออ้าง 2 อันประกอบกัน แล้วก็บอกว่าตัวเองไม่ใช่ลูกจ้าง เงินที่ได้รับไม่ใช่ค่าจ้าง อันนี้อยู่ในหน้า 8 ของคำวินิจฉัย แต่ในหน้า 16 ศาลรัฐธรรมนูญอ้างเฉพาะพจนานุกรม แล้วก็ในหน้า 15 ศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิเสธการนำเอาความหมายตามประมวลแพ่ง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายภาษีอากรมาใช้ ที่อธิบายเรื่องลูกจ้างเอาไว้

ก็แปลว่าที่ตรงกันคือว่า ทั้งผู้ถูกร้องและศาลรัฐธรรมนูญอ้างพจนานุกรม แต่ผู้ถูกร้องอ้างพจนานุกรมประกอบกับ กฎหมายภาษีอากร อ้างพจนานุกรมประกอบกับกฎหมายแพ่ง และก็กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างแต่พจนานุกรมและปฏิเสธว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายภาษีอากร และกฎหมายแพ่งนั้นมีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้เอามาประกอบด้วย อันนี้เราต้องสังเกตถึงวิธีการให้เหตุผลของศาล

แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องอ้างพจนานุกรมมาประกอบ เพราะว่าคำว่าลูกจ้างหมายความว่าอย่างไร ก็เข้าใจกันในความหมายของนิติสัมพันธ์ทางกฎหมายทั่วๆไป ที่เรียนกันมาในกฎหมายแรงงานเป็นปกติ ผมไม่ได้บอกว่าการตีความลูกจ้าง จะขยายไปไม่ได้นะ ผมไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น อาจจะขยายได้เหมือนกันในขอบความของมัน อาจจะกว้างกว่า มันเป็นไปได้

แต่ว่าจะขยายให้กว้าง จนเปลี่ยนความหมายไปกลายเป็นรับจ้างหรือรับทำการงาน แบบมีค่าตอบแทนอะไรก็ได้ ครั้งเดียวหลายครั้งอะไรก็ได้แบบนี้ มันกว้างมากเกินไป และที่สำคัญมันกระทบกับความไว้เนื้อเชื้อใจของบุคคลที่เป็นรัฐมนตรี และที่สำคัญก็คือว่า มันไม่ได้ดูที่มาที่ไปว่า กรณีนี้ มันมุ่งถึงการขัดกันแห่งผลประโยชน์จริงๆโดยสภาพของเรื่อง

แต่ข้อเท็จจริงตามคดีนี้ มันไม่มี conflict of interest การไปทำกับข้าว กับการไปเป็นนายกรัฐมนตรี มันไม่มี conflict of interest กันเลยในความเห็นผม นี้คือปัญหา นี่คือประเด็น ดังนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับการอ้างพจนานุกรมในคำวินิจฉัย

ตอนหนึ่งที่ศาลอ้างว่า ที่ไม่ได้เอาคำในความหมายของคำว่าลูกจ้างทั้ง ในกฎหมายแพ่ง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือว่าภาษีขึ้นมา เพราะว่ากฎหมายเหล่านี้มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ

อันนี้ไม่มีเหตุผลเลยนะ ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ทำไมถึงปฏิเสธกฎหมายแพ่ง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายภาษีอากร ทั้งหมดนี่เป็นกฎหมายนะ คือทั้ง 3 เรื่องนี้มันอยู่ในระบบกฎหมาย ผมไม่ได้บอกว่า คำที่มันปรากฏในกฎหมาย จะต้องเหมือนกันเป๊ะๆ ไม่ใช่ แต่ว่ามันเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่ง ในการค้นหาความหมาย เพราะว่ามันมีกฎหมายถึง 3-4 ฉบับ ที่เขาให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างแบบนี้

คนที่เขามีนิติสัมพันธ์ในทางกฎหมาย เวลาที่เขาผูกพันกันทางกฎหมาย เวลาเขาพูดว่าเป็นลูกจ้าง เขาก็ดูว่า คุ้มครองแรงงานว่าอย่างไร ภาษีว่าอย่างไร ประมวลแพ่งว่าอย่างไร แล้วอย่างนี้ มันจะมีความหมายต่างจากอย่างอื่นได้ไหม ปกติเขาก็ไม่คิด เพราะมันเหมือนกันๆ มันยิ่งเป็นเรื่องในทางกลับกันว่า กฎหมายหลายๆฉบับมีความเหมือนกันอีกฉบับหนึ่ง

มันก็ยิ่งควรต้องมีความหมายเหมือนกับกฎหมายอันอื่นๆด้วย เพื่อคุ้มครองความเชื่อถือของคน ซึ่งเขาตกอยู่ภายใต้ระบบกฎหมาย อันนี้กลับกันเลย การตีความกฎหมายมันไม่เกี่ยวกับเรื่องลำดับชั้นของกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่า ความเข้าใจกฎหมายลำดับที่ต่ำกว่าเอามาใช้ทำความเข้าใจ กฎหมายสูงกว่าไม่ได้ ไม่ใช่ อะไรที่มันเป็นเครื่องช่วยทำให้เราเข้าใจความหมายของกฎหมาย เอามาใช้ได้ทั้งนั้น

แต่บางทีก็ต้องระวังหน่อย ถ้าเกิดกฎหมายฉบับไหน มันมีนิยามเอาไว้โดยเฉพาะ เรื่องนี้นิยามไว้ว่าอย่างนี้ อาจจะหมายถึงเฉพาะในกฎหมายฉบับนั้นเท่านั้น ถ้าจะเอาไปใช้ในกฎหมายอื่น อาจจะต้องระมัดระวังบ้าง แต่ไม่ได้บอกว่าเอาไปใช้ไม่ได้เลย คือผมคิดว่าเรื่องลำดับชั้นของกฎหมายนั้น ศาลไม่ควรอ้าง มันไม่เกี่ยวกับเรื่อง ถ้าไปอ่านดูในคำวินิจฉัยจะมีอยู่ 2 ประเด็นที่ผมเห็นชัดๆ ว่า ศาลอ้างเรื่องที่ไม่เกี่ยวพันกับเรื่อง

ก็คืออ้างเรื่องกฎหมาย 3 ฉบับ กฎหมายแพ่ง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายภาษีอากร มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ คือมีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ อันนี้ไม่เกี่ยว แล้วอีกอันหนึ่ง ในต้นหน้า 16 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเขียนมาว่า

“ อนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การปกครองประเทศ มุ่งจัดตั้งรับรองสถานะของสถาบันและสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กำหนดพื้นฐานในการดำเนินการของรัฐ เพื่อให้รัฐได้ใช้ เป็นหลักในการปรับใช้กับสภาวการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์”

ผมไม่รู้ว่าเขียนมาทำไม อยู่ๆก็เขียนมา คือมันไม่มี sense ไม่มีความหมายอะไรเลย คุณลองอ่านในหน้า 15 ต่อกับหน้า 16 ในคำวินิจฉัย ผมอ่านแล้วผมก็งงว่าเขียนมาบอกอะไร ไม่ได้ช่วยสนับสนุนอะไรเลย ในการให้เหตุผลในคำวินิจฉัย ดังนั้นเราเป็นนักกฎหมาย เวลาที่เราวินิจฉัยอะไรลงไป เราเขียนอะไรลงไป มันต้องมีนัย จะบอกว่าที่เราเขียนประโยคนี้ขึ้นมา มันไป support ประโยคนั้น หรือเรื่องนั้น แต่ 3 ประโยคนี้ไม่ support อะไรเลย ผมก็ยังไม่รู้ว่าศาลเขียนขึ้นมาเพื่ออะไร อ่านแล้วก็ยังงง มึนเหมือนกันตรงนี้

แล้วความหมายของคำว่าลูกจ้างตามรัฐธรรมนูญมันจะไปครอบกฎหมายอื่น หรือเปล่า คือคำว่าลูกจ้างตามกฎหมายอื่น จะเปลี่ยนไปเป็นตามที่ให้ไว้ในคำวินิจฉัยหรือเปล่า ?

ถ้าดูจากแนวคำวินิจฉัยอันนี้ มันคงไม่ไปเปลี่ยนหรอก เพราะว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ก็วินิจฉัยไว้ตรงนี้ชัดว่า เขาหมายถึงลูกจ้างในความหมายของรัฐธรรมนูญ เหมือนกับศาลก็บีบเอาไว้ว่า จะใช้อยู่ในความหมายของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็คงไม่ไปกระทบกับกฎหมายภาษีอาการ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประมวลกฎหมายแพ่ง ก็คงอยู่ใน sense นั้น ไม่เกี่ยวข้องกัน แปลว่าต่อไปเราไปเรียนกฎหมายแรงงาน เราไปเอาอันนี้ว่าตรงนี้เป็นลูกจ้าง มีความสัมพันธ์กันตามสัญญาจ้างแรงงาน อันนี้ไม่ได้ ไม่ใช่

แต่ว่าถ้าตีความหมายในรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ว่า มันจะหมายถึง มาตรา 267 เท่านั้น หรือว่าหมายถึงมาตรา 209 ประกอบกับ มาตรา 207 และรวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ถ้าถามผม ผมเห็นว่ามันจะต้องหมายถึงกฎหมายพวกนั้นหมดเลย โดยเหตุผลที่ศาลให้ มันต้องใช้กับตำแหน่งในองค์กรของรัฐอื่นๆด้วย

ถ้าศาลมองว่า อันนี้เป็นการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ อันอื่นก็ต้องอยู่ใน sense ของลูกจ้างอันนี้เหมือนกัน และก็ต้องถือว่าขัดกันซึ่งผลประโยชน์เหมือนกัน ซึ่งจริงๆมันไม่ได้ขัดอะไรเลย รวมทั้งกรณีของคุณสมัครด้วย ผมก็ไม่เห็นว่าขัด แต่มันก็ขัดไปแล้ว โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งกรณีอื่นก็ต้องเป็นแบบเดียวกัน ไม่งั้นมันก็จะเป็นการใช้กฎหมายแบบ 2 มาตรฐาน ไม่ถูกต้อง

ทำไมอาจารย์ถึงมองว่าการไปทำอาหารไม่ขัดกับผลประโยชน์ ทั้งที่ความจริงอาจจะเห็นได้ว่า เขาอาจจะมีคำสั่งอะไรที่มันเอื้อแก่บริษัท แม้ว่าเขาจะไม่เกี่ยวกัน แต่ก็อาจจะเกิดความรู้จักมักคุ้นที่เขาไปทำงานด้วย ?

คือถ้าเราไปตีอย่างนั้น มันจะกว้างมากเลยนะ คือกรณีแบบนั้น มันจะต้องไปว่ากันเฉพาะเรื่อง ว่าถ้ามันมีการสั่งการไปเอื้อ มันก็จะเป็นปัญหาเฉพาะตัวคำสั่งอันนั้นไป แต่ว่าอันนี้ เรากำลังพูดถึงเรื่องลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เราไปคาดหมายไม่ได้ เราไปคาดหมายสิ่งนั้นไม่ได้ คือลักษณะการขัดกันมันไม่ได้ชัดเหมือนกับการเป็นลูกจ้าง คือลูกจ้างนั้น โดยสภาพของเรื่องมันขัดกันชัดเจน แต่การไปทำในลักษณะนี้ มันไม่ใช่

เพราะไม่อย่างนั้น มันก็เหมือนกับคนที่เป็นตุลาการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนั้น มีผู้บริหารเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคการเมืองหนึ่ง เราก็คิดว่า อ้าวก็ไปเอื้อประโยชน์สิ เดี๋ยวคดีมาที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คุณก็รู้จักกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่จ้างคุณไปสอน คุณก็ต้องตัดสินเป็นคุณกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคนั้น มันกว้างมากเลยนะ อย่างนี้มันอ้างไปได้หมด

ในทางกฎหมายเราไม่ทำแบบนั้น และนี่คือ ความแตกต่างระหว่างกฎหมายกับศีลธรรมหรือจริยธรรม มันไม่เป็นเนื้อเดียวกัน หรือตรงกันหรือทับกันสนิทในทุกกรณี เพราะฉะนั้นเวลาเราให้เหตุผลทางกฎหมาย ต้องระมัดระวังให้ดีๆ คือเหตุผลทางกฎหมาย เวลาเราให้นั้น เราต้องพยายามพูดให้มันชัดเจนที่สุด แล้วก็คิดตามหลักตรรกะได้ มันคิดไปได้ คล้อยตามไปตามหลักตรรกะได้

แต่ว่าเหตุผลในทางศีลธรรม ทางจริยธรรมอะไรต่างๆเหล่านี้ บางทีมันไม่ต้องใช้หลักตรรกะไง มันใช้ความศรัทธาหรือความเชื่อ นึกออกไหม ? กฎหมายมันไม่ใช่ อีกอันหนึ่งที่ผมเห็นก็คือว่า ช่วงหลังๆเวลาศาลมีคำพิพากษา บางทีศาลก็มีการอบรม หรือว่าสอนสั่งในคำพิพากษา ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของศาล ผมบอกว่าถ้าผมอยากฟังธรรมะ ผมไปวัดนะ ไม่ไปศาล ผมไปวัด จริงไหมล่ะ ?

ถ้าในมุมมองของอาจารย์ แน่นอนว่าการวินิจฉัยครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบทั้งมาตรา 207 และมาตรา 209 ด้วย ซึ่งจะเท่ากับว่าตุลาการของรัฐธรรมนูญบางท่าน ก็จะขาดคุณสมบัติด้วย แล้วอย่างนี้จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ ?

ก็เกิดสิครับ ตอนนี้ก็มีปัญหาแล้ว ทีนี้ ผมบอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า การวินิจฉัยคุณสมบัติ มันจำกัดอยู่แค่ 4 ตำแหน่งใช่ไหม คือ กกต. สส. สว. รัฐมนตรี ปัญหาคือแล้วถ้าเกิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขาดคุณสมบัติเสียเอง ใครเป็นคนวินิจฉัย ? ตรงนี้เป็นประเด็น ถ้าถามผม คำตอบคือพวกคุณไปใช้ช่องทางถอดถอน แต่การถอดถอนมันไม่ใช่การวินิจฉัยกันในเชิงกฎหมาย มันเป็นเรื่องการโหวตกันในวุฒิสภา ซึ่งมันไม่ตรง

แต่ว่าประเด็นที่ตรงที่สุดก็คือว่า ในความเห็นผม ถ้าคนที่เขาเห็นประเด็นทางกฎหมาย คือคนซึ่งเป็นคู่ความในคดีรัฐธรรมนูญ ต้องยื่นเรื่องเข้าไปต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้องค์คณะที่พิจารณานั้น วินิจฉัยคุณสมบัติ อย่างเช่นถ้าเราเป็นองค์คณะ แล้วมีคนยื่นเข้ามาว่า เราคนหนึ่งในนี้ขาดคุณสมบัติ เราต้อง วินิจฉัยกันเองว่าตกลงคนนั้นขาดหรือไม่ขาด เพราะว่ามันไม่มีหน่วยที่เป็นบริหารงานบุคคล

ดังนั้นจึงต้องวินิฉัยกันเอง แต่ถ้าเกิดมันขาดกันหมด 7-8 คน ที่นี้ก็จะยุ่ง กลายเป็นปัญหาความชอบธรรมในการตัดสินคดีแล้ว ถูกไหมครับ คนก็จะไม่เชื่อถือ ถ้าเกิดเขาเขียนประเด็นทางกฎหมายอย่างนี้ แต่สมมุติว่าเป็นคนหนึ่งขาดคุณสมบัติอย่างนี้ แล้วมีคนยื่นเข้ามาคัดค้านแล้วว่า คุณขาดคุณสมบัติ คุณก็จะต้องลาออก ถ้าคุณใช้เกณฑ์แบบเดียวกันในมาตรฐานจริยธรรมอันเดียวกัน คุณก็ต้องลาออก หรือไม่อย่างนั้นก็คือว่าคนอื่นก็ต้องวินิจฉัย

ถ้าเกิดผมนั่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็ต้องวินิจฉัยว่า ท่านต้องหยุดปฏิบัติ ผมจึงบอกว่าก่อนที่จะขึ้นวินิจฉัยเรื่องลูกจ้างว่าเป็นอย่างไร คุณตีความไปตีความมา คุณตีความกว้างๆๆๆ จนคลุมตัวคุณเองเลย คุณตีความไม่ระวังนี่ ตีความไปตีความมา มาตรา 267 เฮ้ย! เราด้วยนี่ เราเลยคลุมเข้าไปด้วย ซึ่งก็ต้องไปเถียงนะว่ามันไม่คลุม ซึ่งเถียงยากนะ

คือตอนนี้ประเด็นที่จะออกทางเดียวคือ ก็จะต้องพูดกันหรือบอกกันว่ามันไม่เข้า มันไม่เหมือนกัน เขาต้องบอกนะว่ามันไม่ใช่ เขาไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไร บางคนก็บอกว่าเป็นเรื่องการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ผมถามคุณก็ได้ว่า เกี่ยวไหมเสรีภาพทางวิชาการ มันเป็นประเด็นไหม มันไม่เกี่ยว มันคนละเรื่องเลย มันเป็นคนละประเด็นเลยนะ เสรีภาพทางวิชาการน่ะ

เรากำลังพูดกันถึงเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม คุณมีเสรีภาพอะไร คุณก็มีไปเถอะ มันไม่เกี่ยวกัน ตรงนี้มันสุดๆแล้ว ในความเห็นผม อันนี้เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ได้ ส่วนข้ออ้างที่ว่า มหาวิทยาลัยเป็นองค์การทางธุรกิจที่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร มันก็อ้างไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้พูดว่าเป็นลูกจ้างขององค์การซึ่งแสวงหาผลกำไร เขาบอกว่าเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ก็จบแล้ว คุณจะเถียงยังไง คุณก็เถียงไม่ออกแล้ว

อย่างนี้คำพิพากษามันจะยังมีผลบังคับอยู่หรือเปล่า ?

ผมจะบอกให้ว่า กฎหมายนั้นมันมีพลัง ตราบเท่าที่คนยังฟังอยู่ วันหนึ่งถ้าคนไม่ฟังก็หมดพลัง ก็ถ้าเกิดทำอย่างนี้บ่อยๆ คนก็อาจจะไม่ฟัง หรือมันก็จะเกิดความเคลือบแคลงขึ้นมา ในเชิงการตัดสินว่าอย่างนี้ยังไง แต่ทีนี้มันก็มีคนคิดอย่างนี้ไง บางคนก็ปรบมือไง ก็บอกว่าดีแล้ว แล้วเสียงกระแสสังคมส่วนหนึ่งก็บอกว่าดีแล้วที่พ้น อาจจะมีคนหนึ่งที่บอกว่าไม่พ้น แต่ว่าอย่างที่ผมบอกคือคนส่วนใหญ่เขาจะปรบมือหรือไม่ปรบมือนั้น เราต้องเข้าใจว่าเขาเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งเขาไม่ได้รู้กฎหมาย

คนที่ชื่นชมคุณสมัคร ก็เสียใจที่คุณสมัครพ้น คนที่เกลียดคุณสมัคร ก็ปรบมือดีใจที่คุณสมัครพ้น แต่เราอยู่ในมหาวิทยาลัย นี่คือปัญหาความเป็นมืออาชีพทางวิชาการ เวลาที่เราวินิจฉัยหรือวิเคราะห์ เราต้องตัดความรู้สึกนึกคิดในทางการเมืองออกไปเสียก่อน แล้วก็วินิจฉัยตรงนี้ไป บนพื้นฐานของหลัก อันเดียวกัน คิดในเกณฑ์อันเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน แต่ละคนมีความคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ผมก็มี ทุกคนก็มี

การอบรมบ่มเพาะของคนแต่ละคน มันไม่เหมือนกันหรอกในการหล่อหลอมคนแต่ละคนขึ้น มา มันขึ้นอยู่กับบริบทที่เติบโตมา เติบโตมาเป็นลูกชาวนา เติบโตมาเป็นลูกพระยา มันก็แตกต่างกัน แต่ปัญหาอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ว่า ถ้าวันหนึ่งเราเป็นผู้พิพากษา เป็นตุลาการ สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักไว้ในใจ คือ เราอย่าเอาความคิดทางการเมือง ความต้องการของการเมือง ไปตีความกฎหมายให้เป็นอย่างที่เราต้องการ เราทำอย่างนั้นไม่ได้

บางทีเราตีความกฎหมายไปแล้ว อาจจะไม่ตรงกับที่เราอยากให้มันเป็น แต่ว่าหลักมันเป็นแบบนี้ วิชามันเป็นแบบนี้ ก็ต้องตีไปอย่างนั้น อย่าเอาความต้องการของเราไปแทนที่กฎหมาย นั้นคือการบิดเบือนกฎหมาย อย่าทำ ผิดอย่างมหันต์เลย แล้วก็การเป็นตุลาการที่ดี หรือการเป็นนักกฎหมายที่ดี คือการให้เหตุผลที่ชัด และเสมอภาคกับทุกคน สิ่งนี้เป็นเรื่องซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญ

ผมไม่ค่อยเน้นเรื่องสอนคุณธรรมความดี ไม่ใช่เพราะผมเห็นว่าไม่สำคัญ แต่เพราะผมคิดว่า เราทั้งหลายที่มาสัมภาษณ์ผมอยู่นี้ ก็เรียนมาเยอะ เราก็รู้ ผมว่าคนธรรมดาทั่วไป ก็รู้ว่าอะไรดีไม่ดี แต่ว่าในเรื่องของตัวหลักวิชา ที่เราต้องเที่ยงตรง ตรงนี้เป็นหลักสำคัญ และเป็นหลักที่ผมคิดว่ามันขาดในสังคมของเรา

บางทีเราเข้าใจว่าเรามีตำแหน่งตรงนี้แล้ว เราเอาความต้องการของเรานั้น ใส่ลงไปในคำพิพากษาได้ ซึ่งมันไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ที่พูดนี่ ผมพูดในบริบททั่วไปนะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกัน ผมพูดถึงในภาพรวมทั่วไป

อาจารย์คิดว่าคำวินิจฉัยในคดีนี้ได้ให้บทเรียนอะไรแก่เราบ้าง ?

ผมไม่ได้คิดว่า คำวินิจฉัยนี้ จะเป็นคำวินิจฉัยแรกที่จะให้บทเรียนแก่เรา ผมคิดว่าคำวินิจฉัยนี้ ไม่ได้ให้บทเรียนอะไรใหม่แก่เรา สำหรับผมเอง ผมมีบทเรียนมากพอแล้วจากคำวินิจฉัยของศาลในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ผมก็ไม่คิดว่าเป็นบทเรียนอะไรสำหรับผม แต่สำหรับคนที่เป็นนักศึกษา ก็อาจจะเป็นสิ่งซึ่งจะเอามาวิเคราะห์ คิดตรึกตรองด้วยความคิดของตัวเอง แล้วก็ฟังความเห็นของหลายๆคน แล้วก็ลองดูว่าความเห็นของใครมีน้ำหนักมากกว่า

เรื่องบางเรื่องบางทีในบางเวลา เราก็อาจจะยังไม่เห็นหรอก ข้อวิจารณ์บางอย่าง เราก็อาจจะยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็น แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง 2 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี หรือบางทีอาจจะชั่วชีวิตของคนๆหนึ่ง อาจจะเห็นก็ได้ มันก็คงเป็นบทเรียนสำหรับคนซึ่งเป็นนักศึกษากฎหมาย ในทางการเมือง มันก็ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง แล้วก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มา มันอาจจะแก้ปัญหาทางการเมืองไปได้เปลาะหนึ่งหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ

หรือว่าเป็นการขมวดปมปัญหาให้ยุ่งวุ่นไปอีกก็ไม่รู้ เพราะเรื่องทางการเมือง เราไม่อาจจะพยากรณ์มันได้ แต่สำหรับผม ผมบอกนักศึกษาไปแล้วว่า ผมมีบทเรียนมาเยอะมากแล้วจากคำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลในช่วงหลังๆมานี้ คำวินิจฉัยนี้ จึงไม่ได้ให้บทเรียนอะไรใหม่แก่ผมเลย

ที่มา ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์