ถาม: เงินที่ผู้ถือหุ้นได้รับมาจากการที่บริษัทจดทะเบียนเลิกและได้ขายทรัพย์สินมีกำไรในระหว่างการชำระบัญชี จะถือว่าเป็นเงินปันผลหรือเงินได้พึงประเมินประเภทใด และมีสิทธินำมาเครดิตภาษีได้หรือไม่
ตอบ: เงินที่ผู้ถือหุ้นได้รับมาจากการที่บริษัทจดทะเบียนเลิกและได้ขายทรัพย์สินมีกำไรในระหว่างการชำระบัญชีมิใช่ผลกำไรจากการประกอบกิจการของบริษัท แต่เป็นผลกำไรจากการขายทรัพย์สินที่ต้องแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามส่วนเมื่อได้กันส่วนที่จะต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทแล้ว หรือเมื่อชำระบัญชีเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1269 เงินที่ได้รับจากการชำระบัญชีจึงมิใช่เงินปันผลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(4)(ข) แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา (40)(4)(ฉ) เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่ลงทุนในบริษัทดังกล่าว และไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7671/2546
ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติถึงความหมายของคำว่า “เงินปันผล” ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า เงินปันผลที่บริษัทจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของกำไรที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีที่ประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้ คดีนี้ในระหว่างการชำระบัญชีของบริษัท ข. แม้จะถือว่าบริษัทยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี แต่การที่ผู้ชำระบัญชีขายทรัพย์สินและดำเนินกิจการต่าง ๆ หลังจากจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว เป็นเหตุให้มีรายได้ระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีที่ขยายออกไปโดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรตาม
ประมวลรัษฎากร มาตรา 72 วรรคสาม ก็เป็นเพียงการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ในระหว่างที่การชำระบัญชียังไม่เสร็จเพื่อชำระสะสางการงานให้สิ้นไป และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทเท่านั้น รายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างการชำระบัญชีที่มีเหลืออยู่หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว จึงมิใช่ผลกำไรจากการประกอบกิจการของบริษัท แต่เป็นผลกำไรจากการขายทรัพย์สินที่ต้องแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นตามส่วนเมื่อได้กันส่วนที่จะต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทแล้ว หรือเมื่อชำระบัญชีเสร็จตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1269 เงินที่จำเลยได้รับจากการชำระบัญชีของบริษัท ข. ในปี 2542 จำนวน 10,861,200 บาท จึงมิใช่เงินปันผลอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(4)(ข) แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา (40)(4)(ฉ) เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่จำเลยลงทุนในบริษัทดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร