จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนตุลาคม 2561

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 94 ตุลาคม 2561

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร และกฎหมายอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร

2. หลักเกณฑ์และวิธีการใช้ระบบบริการ Tax Single Sign On

3. หลักเกณฑ์การตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT Refund for Tourists

4. การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีการให้เช่าและเช่าทรัพย์สิน

5. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (New Start-up อุตสาหกรรมเป้าหมาย)

6. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีจ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

 

ข่าวภาษี

1. มาตรการภาษีเพื่อการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามข้อผูกพันที่ได้ทำขึ้น

2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร กำหนดการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2560

ระหว่าง             นาย ข กับพวก               โจทก์

กรมสรรพากร                 จำเลย

เรื่อง                  ผู้มีเงินได้ตามสัญญาเช่าที่ดินซึ่งจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร และกฎหมายอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร

ประกาศกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 กำหนดให้ยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ในการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร และกฎหมายอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร รวมถึงประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ ข้อกำหนด หรือแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ของกรมสรรพากร ยกเว้น 1.) กรณีจำเป็นและต้องการสำเนาเอกสาร 2.) กรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2CEsrAn

 

2. หลักเกณฑ์และวิธีการใช้ระบบบริการ Tax Single Sign On

ประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำร้อง คำขอ แบบแสดงรายการ หรือการดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กับ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร สามารถยื่นคำขอใช้ระบบบริการ Tax Single Sign On ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์(Web Site) ของกระทรวงการคลัง https://etax.mof.go.th โดยใช้ชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) เดียวกัน

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2NvUypA

 

3. หลักเกณฑ์การตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT Refund for Tourists

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 224) กำหนดหลักเกณฑ์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง มีสิทธิตั้งตัวแทนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ โดยสามารถทำหนังสือตั้งตัวแทนได้ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2561 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562 สำหรับกรณีขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วเป็นเงินสดจำนวนไม่เกิน 12,000 บาท โดยผู้มีความประสงค์จะประกอบกิจการเป็นตัวแทนดังกล่าวสามารถยื่นคำขออนุมัติได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรต้องแจ้งความประสงค์ที่จะขอคืนภาษีต้องดำเนินการขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและทำคำร้องขอคืนภาษีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้ต้องนำสินค้าและคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) พร้อมใบกำกับภาษีไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ท่าอากาศยาน ขณะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อให้เจ้าพนักงานศุลกากรประทับรับรองในคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.10) เมื่อผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ปฏิบัติครบเงื่อนไขของประกาศนี้ กรมสรรพากรจะคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับผ่านตัวแทนที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติ

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2OWZOzS

 

4. การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีการให้เช่าและเช่าทรัพย์สิน

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 299/2561 หนดให้ยกเลิกความในข้อ 3.4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 และกำหนดวิธีการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้ใช้ความใหม่มีสาระสำคัญ ดังนี้

กรณีประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สิน ให้นำรายได้ค่าเช่าหรือค่างวดและรายจ่ายที่เกี่ยวข้องมารวมคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามส่วนแห่งระยะเวลาการให้เช่าทรัพย์สิน โดยใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 หรือตามเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป

กรณีเป็นผู้เช่าทรัพย์สิน ให้นำรายจ่ายค่าเช่าหรือค่างวดและรายจ่ายที่เกี่ยวข้องมารวมคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามส่วนแห่งระยะเวลาการเช่าทรัพย์สิน โดยใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 หรือตามเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป เมื่อผู้ประกอบการได้เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายเพื่อคำนวณภาษีเงินได้แล้ว ให้ใช้วิธีนั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากร

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2Nl837q

 

5. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (New Start-up อุตสาหกรรมเป้าหมาย)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 330) กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ได้รับการยกเว้นเงินได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 337 (พ.ศ.2561) สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000 บาท ผู้มีเงินได้ต้องมีเอกสารหลักฐานอันได้แก่ เอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สำหรับกรณีที่เป็นการถือหุ้นในบริษัทจำกัด และเอกสารหนังสือรับรองการจ่ายเงินตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

กรณีได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วแต่ต่อมาไม่ได้ถือหุ้นต่อเนื่องกันจนครบกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่จ่ายเงินดังกล่าว ถือว่าผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้จ่ายเงินดังกล่าว พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย

กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (New Start-up อุตสาหกรรมเป้าหมาย) ที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุน ขาดคุณสมบัติตามที่กฎกระทรวงข้างต้นกำหนด ให้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดจากวันที่พ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามกฎหมาย

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2QrNIzd

 

6. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีจ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลของทางราชการหรือเอกชน โดยยกเว้นตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2NdeLfi

 

ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามข้อผูกพันที่ได้ทำขึ้น

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการกำหนดมาตรการภาษีเพื่อการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามข้อผูกพันที่ได้ทำขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดให้ใช้อัตราร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการกับองค์การระหว่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด เช่น องค์การสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล เป็นต้น

2. กำหนดให้ยกเว้นบรรดาภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ซึ่งเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรแก่สำนักงานข้างต้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ของสำนักงานนั้นด้วย โดยยกเว้นในส่วนของ

2.1 สถานทำการของสำนักงาน ที่อยู่ของหัวหน้าของสำนักงาน

2.2 ยานพาหนะของสำนักงาน และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน

2.3 เงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าเบี้ยเลี้ยงที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานได้รับจากสำนักงาน เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2Nj9iE7

 

2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร กำหนดการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. กำหนดให้ยกเลิกนิยามกองทุนรวมในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้งยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมดังกล่าว โดยบทบัญญัติดังกล่าวยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะแก่กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

2. กำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

3. กำหนดให้ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหน่วยลงทุนเฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนในกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี บุคคลธรรมดาไทยและต่างประเทศยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม)

4. กำหนดให้บุคคลธรรมดาไทยสามารถเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราร้อยละ 10 โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนกรณีคนต่างประเทศ กำหนดให้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10

5. กำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เท่ากับร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2y3a2Zh

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่      575/2560

ระหว่าง                         นาย ข กับพวก                            โจทก์

กรมสรรพากร                             จำเลย

เรื่อง      ผู้มีเงินได้ตามสัญญาเช่าที่ดินซึ่งจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน

 

ข้อเท็จจริง : เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 นาง ป. ทำสัญญาให้บริษัท บ. เช่าที่ดิน มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2586 ตกลงชำระค่าหน้าดิน 87,500,000 บาท ในวันเดียวนาง ป. ก็ได้ทำหนังสือสัญญาให้สิทธิเก็บกินแก่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเก็บกินในที่ดินดังกล่าวตลอดชีวิต และบริษัท บ. ตกลงจ่ายค่าหน้าดินและค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นหลานในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกิน และมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย ตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกันตามข้อตกลงเพิ่มเติม ต่อมา นาง ป. และโจทก์ทั้งสามไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังจากที่มีการทำสัญญาเช่าระหว่างนาง ป. กับบริษัท บ. หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามนำเงินค่าหน้าดินที่ได้รับมาคิดเฉลี่ยเพื่อยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยยื่นรายการตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับใช้ยื่นก่อนถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ (ภ.ง.ด. 93) และได้ชำระภาษีเป็นการล่วงหน้า

วันที่ 30 มีนาคม 2555 โจทก์ทั้งสามยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด. 90) เพื่อขอคืนเงินภาษีอากรประเภทเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2554 ที่บริษัท บ. หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และนำส่งจำเลยแล้วตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสามไม่ใช่ผู้มีสิทธิขอคืนภาษี

 

ประเด็นที่ต้องพิจารณา : โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิขอคืนภาษีหรือไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกา : คดีนี้ นาง ป. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเป็นผู้ทำสัญญาให้บริษัท บ. เช่า เป็นเวลา 30 ปี บริษัท บ. ตกลงชำระค่าหน้าดิน 87,500,000 บาท ในวันเดียวกันนาง ป. ทำหนังสือสัญญาให้สิทธิเก็บกินบนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นหลาน และบริษัท บ. ตกลงจ่ายค่าหน้าดินและค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แต่เพิ่งไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังจากที่มีการทำสัญญาเช่าแล้ว ดังนั้น ผู้มีเงินได้ตามสัญญาเช่า คือ นาง ป. ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงผู้รับเงินค่าเช่าแทนนาง ป. เท่านั้น การที่บริษัท บ. ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่โจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการออกหนังสือรับรองผิดหน่วยภาษี โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษี

 

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใด ๆ แสดงว่าเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญนั้นก็ได้ เมื่อนาง ป. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินและเป็นผู้มีชื่อในหนังสือสัญญาเช่าระหว่าง บริษัท บ. ผู้เช่า อันถือว่ามีชื่อในหนังสือสำคัญ กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับการที่นาง ป. ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้กับโจทก์ทั้งสามภายหลังจากการทำสัญญาเช่าและให้โจทก์ทั้งสามรับเงินค่าเช่าจากบริษัท บ. แทนตนนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามมิได้มีพยานหลักฐานหรือเอกสารอื่นที่จะพิสูจน์ได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้รับผลประโยชน์เอง กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ไม่มีเอกสารหลักฐานหรือพยานอื่นมาพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยหรือหรือมีพยานหลักฐานหรือเอกสารใด ๆ แต่ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นตัวแทนเชิดของบุคคลใด ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงต้องประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากนาง ป. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือมีชื่อในหนังสือสำคัญ และบริษัท บ. ผู้เช่าจึงต้องจ่ายค่าเช่าและหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของนาง ป. ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามมิใช่ผู้มีเงินได้สำหรับค่าเช่าในที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจขอคืนภาษีนั้นได้

นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่า บริษัท บ. และนาง ป. ควรตกลงกันเพื่อแก้ไขสัญญาเช่า โดยให้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่ดินดังกล่าวเป็นผู้ให้เช่าและรับเงินค่าเช่าจากบริษัท บ. โดยตรง เพื่อให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีเงินได้สำหรับค่าเช่าในที่ดินดังกล่าวต่อไป

           นายวรินทร สะรุโณ

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760