• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

 

 

ฉบับที่ 79-80 เดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2560

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้จากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ภาคตะวันออก)

2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ 1.5 เท่า และแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ 2 เท่า

3. กรมสรรพากรออกระเบียบใหม่ว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์

4. หลักเกณฑ์การลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (ภาคใต้)

5. เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ของนิติบุคคลสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

6. เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ของนิติบุคคลสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

ข่าวภาษี

1. ภาษีลาภลอย

2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร กรณีประกอบกิจการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e – Business)

3. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร กรณี Transfer Pricing

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

 

            คำพิพากษาฎีกาที่ 5230/2559

ระหว่าง             นาย ป.                                                                          โจทก์

กับ                    กรมสรรพากร                                                                จำเลย

เรื่อง                 สัญญาจ้างทำของ

 

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้จากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ภาคตะวันออก)

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 641) พ.ศ.2560 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้ (ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญหรือลูกจ้าง) เหลืออัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง และผู้มีเงินได้ยังได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ที่ถูกหักภาษีไว้แล้วดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี โดยต้องไม่ขอคืนภาษีหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดจาก  https://goo.gl/WQrPzS

 

2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ 1.5 เท่า และแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ 2 เท่า

ตามที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ต้องไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

ต่อมาพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 642) พ.ศ.2560 กำหนดให้ขยายเวลาการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ ได้อีก 1 ปี พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการยกเว้นรายจ่ายเพื่อการลงทุนจาก 2 เท่า เหลือเพียง 1.5 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

โดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 642) พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้ความหมายของคำว่า “เครื่องจักร” ไว้และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 300) ได้แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขการหักรายเพื่อการลงทุนฯ ดังกล่าว โดยให้สิทธิผู้ที่ขอใบอนุญาตและแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 แล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตามที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างหรือได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างดัดแปลงอาคารดังกล่าว ต่อมาจึงดำเนินการทำสัญญาจ้างหรือสั่งซื้อสั่งจ้างในช่วงที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับก็จะได้รับสิทธิ์หักรายจ่ายเพื่อการลงทุน 2 เท่า

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดจาก  https://goo.gl/XAuZqw และ https://goo.gl/nPnckT

 

3. กรมสรรพากรออกระเบียบใหม่ว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์

             ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2560 ได้ยกเลิกระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการจัดทำดังกล่าว ฯ พ.ศ.2555 ฉบับเดิม โดยมีการปรับปรุงเงื่อนการจัดทำฯ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้

1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสามารถยื่นคำขอจัดทำฯ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้ จากเดิมต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 10 ล้านบาท

2) ผู้ยื่นคำขอดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนเท่าใดก็ได้

3) ต้องส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือนภาษี โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 15 ของเดือนภาษีถัดไป จากเดิมจัดส่งข้อมูลภายในวันที่ 25 ของเดือนภาษีถัดไป เป็นต้น

ติดตามรายละเอียดจาก  https://goo.gl/x5tVZy

 

4. หลักเกณฑ์การลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (ภาคใต้)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) ยกเลิกข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 630) พ.ศ.2560 เป็นผลให้บุคคลธรรมดาและบริษัทที่จัดตั้งใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เพิ่มเติมใหม่มีรายละเอียดดังนี้

1) ต้องเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ (เดิมไม่จำกัดทรัพย์สิน)

2) ต้องโอนที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างด้วยราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น หรือราคาต้นทุนการซื้อที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลผู้โอนได้ซื้อมาตามหลักฐานสัญญาซื้อขายที่ได้ทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า (จากเดิมโอนตามราคาตลาด)

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/GMF6sy

 

5. เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ของนิติบุคคลสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย (จังหวัดในภาคใต้)

ตามที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 628) พ.ศ.2560 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง(แรงงานฝีมือ, ผู้เชี่ยวชาญ) ที่ได้รับเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคลเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายจริงสำหรับเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วน สำหรับการประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจนั้น (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา)

ต่อมาประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 294) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) กรณีลูกจ้าง

– ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เว้นแต่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานฝีมือจะสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือวิชาชีพเทคนิคก็ได้

– หากทำงานในสายงานตรงกับวุฒิการศึกษา ต้องมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี เว้นแต่ทำงานในสายงานอื่นที่ไม่ตรงสายต้องมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 8 ปี และต้องมีหนังสือรับรองการทำงานดังกล่าว

2) กรณีนิติบุคคล

– ต้องไม่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนการลงทุนนั้น

– ต้องไม่ขายหรือโอนหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนของนิติบุคคลดังกล่าว เว้นแต่มีเหตุอันสมควร

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/S746Gj และ https://goo.gl/YXYHz6

 

6. เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ของนิติบุคคลสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ตามที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 637) พ.ศ.2560 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ต่อมาประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 302) กำหนดให้นิติบุคคลที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว ต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้

1) ต้องยื่นคำร้องขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start – up) (ร.ม.1) ต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรและได้รับอนุมัติคำร้องดังกล่าวภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561

2) หากประสงค์จะเพิ่มกิจการหรือประเภทหรือบริการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องยื่นคำขอตามแบบ (ร.ม.2) ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

ทั้งนี้ หากนิติบุคคลดังกล่าวมีรายได้จากการประกอบกิจการทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกกัน และหากมีรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ให้เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามสัดส่วนรายได้ของแต่ละกิจการ

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/cxpBWS และ https://goo.gl/S4xB36

 

ข่าวภาษี

1. ภาษีลาภลอย

ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอยให้กระทรวงการคลังพิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยภาษีลาภลอยนั้นจะมีการจัดเก็บภาษีจากส่วนต่างของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์จากการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/qdzCwC

 

2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร กรณีประกอบกิจการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e – Business)

กรมสรรพากรเปิดเผยว่ามีแผนจะจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ….. โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล

1.1) นิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย

หากใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย กรณีต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินได้นั้นในประเทศไทย หากมีการใช้โดเมนท้องถิ่นของไทย มีการสร้างระบบการชำระเงินเป็นสกุลไทยหรือมีการโอนเงินจากประเทศไทย ฯ

1.2) นิติบุคคลที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย

หากได้รับเงินได้จากค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ ฯ ให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 และนำส่งกรมสรรพากร

2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม

หากนิติบุคคลต่างประเทศดังกล่าวมีเงินได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย นอกจากนี้หากมีการขายสินค้าหรือให้บริการผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นของผู้อื่น กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นดังกล่าวนั้นเป็นตัวแทนยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนนิติบุคคลดังกล่าว และให้มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดเช่นเดียวกับนิติบุคคลดังกล่าว

ทั้งนี้ โปรดติดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก  https://goo.gl/NKQcWj

 

3. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากร กรณี Transfer Pricing

กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….. เพื่อป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน โดยเพิ่มมาตรา 35 ตรี มาตรา 71 ทวิ และมาตรา 71 ตรี โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันดังกล่าวให้เป็นไปตามราคาตลาดได้

2) นิติบุคคลดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ปรับปรุงตามข้อ 1) ได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี หรือภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการปรับปรุงจากเจ้าพนักงานดังกล่าว

3) เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจแจ้งให้ยื่นเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับวิเคราะห์การกำหนดราคาโอนของธุรกรรมระหว่างกันได้ โดยนิติบุคคลต้องยื่นเอกสารฯ ดังกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นสามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนต้องระหว่างโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 200,000 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ โปรดติดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก  https://goo.gl/VSRTxQ และ https://goo.gl/mA98tN

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 5230/2559

ระหว่าง             นาย ป.                                                                          โจทก์

กับ                    กรมสรรพากร                                                                จำเลย

เรื่อง                 สัญญาจ้างทำของ

 

โจทก์ทำสัญญารับจ้างปลูก ดูแลสวนยางให้กับบริษัท พ. กำหนดว่า ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างให้ผู้รับจ้าง รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายสัญญา ซึ่งมีข้อความว่า ระยะปลูก 76 ต้นต่อไร่  พื้นที่ 1,000 ไร่และมีหมายเหตุต่อท้ายว่า หากผู้ว่าจ้างจัดทำพันธุ์ยางได้ไม่ครบตามข้อตกลง ผู้รับจ้างสงวนสิทธิในการจัดหาในราคาต้นละ 15 บาท แสดงว่าสัญญาจ้างดูแลสวนยางระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. มุ่งถึงผลสำเร็จของการปลูกจนแล้วเสร็จไปเป็นสำคัญ อีกทั้งตามสัญญา ข้อ 2 ยังกำหนดให้โจทก์ดำเนินการบำรุงรักษาสวนยาง ปราบวัชพืช ใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง ทำการป้องกันไฟฤดูแล้ง โดยโจทก์เป็นผู้จัดหาคนงาน สัมภาระที่ใช้ในการบำรุงดูแลรักษาสวนยาง รวมถึงเป็นผู้จัดหาคนงาน และทั้งนี้ตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง ตามหลักวิชาการเกษตร และโดยสัญญามีกำหนด 3 ปี จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อสัญญาใดระบุว่าโจทก์ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท พ. ซึ่งอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้างเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. จึงหาใช่สัญญาจ้างแรงงานไม่ ดังนั้น ที่เจ้าพนักงานของโจทก์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. เป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรจึงชอบแล้ว

 

ความเห็นทางกฎหมาย

 

สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของแม้จะมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างต่างต้องทำงานให้แก่นายจ้างหรือผู้ว่าจ้าง และนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายสินจ้างเป็นการตอบแทน แต่สาระสำคัญที่อาจใช้แบ่งแยกความต่างระหว่างสัญญาทั้งสองประเภท คือ สัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างมีสิทธิที่จะบังคับบัญชา มอบหมายหรือควบคุมการทำงานของลูกจ้าง ส่วนสัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสาระสำคัญ โดยผู้ว่าจ้างไม่อาจบังคับบัญชาผู้รับจ้างได้ ซึ่งพิจารณาได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบคำพิพากษาฎีกา

นอกจากนี้ หากพิเคราะห์จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานประกอบ คำว่า “จ้างทำของ” หมายความว่า (กฎ) น. ชื่อสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

“จ้างแรงงาน” หมายความว่า (กฎ) น. ชื่อสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

แต่ในด้านของภาษีอากรนั้น จะต้องพิจารณาหลักเนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ (Substance Over Form) ประกอบด้วย กล่าวคือ สัญญาใดแม้จะทำขึ้นตามรูปแบบของกฎหมาย แต่ถ้าสัญญานั้นทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ต้องเสียภาษี เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจที่จะประเมินภาษีได้ นอกจากนี้ การรับจ้างทำของเข้าลักษณะเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งที่อยู่ในบังคับที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาฎีกา ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลที่ศาลใช้ประกอบการตัดสินข้างต้นนั้น อาจจะยังไม่สอดคล้องกับหลักการเบื้องหลังอันเป็นหลักการในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายภาษีอากรที่ดี เนื่องจากกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ ประกอบกับเป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้เสียภาษี ทั้งยังมีผลต่อกิจการการค้า ดังจะเห็นได้ชัดจากสัญญาจ้างแรงงานของกรรมการบริษัท บริษัทมหาชน รวมถึงการจ้างกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายกำหนด และกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยราชการ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต่างได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม[1] ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้รับจ้างเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นพนักงาน กรรมการ ฯลฯ ย่อมใช้เพียงแรงกายและสติปัญญาในการตกลงรับทำงานให้แก่นายจ้างและนายจ้างตกลงจ่ายสินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้นั้น ย่อมสอดคล้องกับความหมายของการจากแรงงานตามพจนานุกรมฯ ดังนั้นคำว่า สัญญาจ้างแรงงานก็ไม่อาจใช้ตีความโดยนำเอาความหมายของการจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ เพราะเป็นการตีความที่แคบและไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี จากข้อเท็จจริงข้างต้น สัญญาจ้างทำของที่มีลักษณะใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้รับจ้างโดยเฉพาะ เช่นการให้บริการที่ปรึกษา ผู้เขียนเห็นว่าการที่ประมวลรัษฎากรยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจ้างแรงงาน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานต้องใช้แรงกายและความสามารถของแต่ละบุคคล ประกอบกับการให้บริการที่ปรึกษาไม่มีต้นทุนอย่างอื่นประกอบ ซึ่งแตกต่างจากการจ้างทำของหรือการให้บริการลักษณะอื่นที่มีต้นทุนวัตถุดิบ วัสดุหรืออุปกรณ์ ด้วยเหตุนี้ย่อมไม่ใช่การจ้างแรงงานเพียงอย่างเดียว ประมวลรัษฎากรจึงไม่บัญญัติยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ได้

จากข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อโจทก์ตกลงเป็นผู้จัดหาสัมภาระ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร ปุ๋ยบำรุง ยาปราบศัตรูพืช และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการบำรุงดูแลรักษาสวนยาง รวมถึงเป็นผู้จัดหาคนงาน และจะดูแลรักษาสวนยางตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง และตามหลักวิชาการเกษตรนั้น การดำเนินงานของโจทก์ จึงเข้าลักษณะการบริหารจัดการของโจทก์เองโดยเฉพาะซึ่งไม่ใช่การใช้เพียงร่างกายและสติปัญญาในการทำงานแต่โจทก์จะต้องจัดหาทีมงานและวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติม และกรณีนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาซึ่งมุ่งถึงผลสำเร็จของการปลูกต้นยางเป็นสำคัญ แม้ศาลฎีกามีคำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นการชอบแล้ว แต่ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลที่ใช้ประกอบยังคลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย

                        ธนินท์รัฐ เหลืองถาวรพจน์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

 


[1] ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 205)

 

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th

สุนทรี จุงเลียก

+662 680-9753

soontreej@dlo.co.th

ราชศักดิ์ กุลกัลยา

+662 680-9708

ratchasakk@dlo.co.th

ชัยศิริ ลิ่วสัมฤทธิ์

+662 680-9708

chaisiril@dlo.co.th