• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

 

 

ฉบับที่ 77 – 78  เดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2560

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ฯ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซ่อมแซมรถหรืออุปกรณ์ในรถที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย

3. ขยายกำหนดเวลายื่นงบการเงิน หรือบัญชีรายรับรายจ่ายฯ ให้แก่นิติบุคคล

4. กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับการทำตราสารเพื่อจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล

5. คำชี้แจงกรณีกำหนดให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ฯ เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์

6. สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนในอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC)

 

ข่าวภาษี

1. ขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชน

2. ครม.เห็นชอบหลักการยกเว้นภาษี 3 เท่า รายจ่ายวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ฯ สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

            คำพิพากษาฎีกาที่ 5148/2559

            ระหว่าง              นาย ส.                                                  โจทก์

กับ                    กรมสรรพากร                                         จำเลย

เรื่อง                  เงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

           

 

 

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ฯ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 298) ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารฯ หรือห้องชุด ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ซึ่งผู้ใช้สิทธิดังกล่าวต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินค่าซ่อมแซมดังกล่าวชัดแจ้ง

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/5RFdME

 

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซ่อมแซมรถหรืออุปกรณ์ในรถที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 299) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่ได้จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถหรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ซึ่งบุคคลธรรมดาดังกล่าวต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินค่าซ่อมแซมดังกล่าว

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/cxLS11

 

3. ขยายกำหนดเวลายื่นงบการเงิน หรือบัญชีรายรับรายจ่ายฯ ให้แก่นิติบุคคล

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่องการขยายกำหนดเวลาการยื่นบัญชีงบดุล บัญชีทำการฯ กำหนดให้ขยายเวลาเฉพาะการยื่นงบการเงินฯ ให้แก่นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีรอบบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นงบการเงินฯ ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2560 โดยนิติบุคคลสามารถยื่นงบการเงินฯ ดังกล่าวได้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 โดยไม่เสียค่าปรับทางอาญา จากเดิมต้องยื่นงบการเงินฯ ดังกล่าวภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบบัญชี ณ สรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/oAsI5O และ https://goo.gl/8EtZ9K

 

4. กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับการทำตราสารเพื่อจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 56) กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนแสตมป์อากรในตราสาร เช่น ใบมอบอำนาจให้ยื่นคำขอจดทะเบียนนิติบุคคล หนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน, หนังสือสัญญาที่แก้ไขสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน และข้อบังคับของบริษัทจำกัด เป็นต้น

ทั้งนี้ หากตราสารดังกล่าวจัดทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2560 เป็นต้นไป แต่สำหรับตราสารที่มิได้จัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/o5RA1n

 

5. คำชี้แจงกรณีกำหนดให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ฯ เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์

ตามที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 608 – 610) พ.ศ.2559 กำหนดให้การประกอบกิจการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ฯ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 นั้น

กรมสรรพากรได้ออกคำชี้แจ้งเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยชี้แจงรายละเอียดพร้อมทั้งยกตัวอย่างเกี่ยวกับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

1) การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ฯ การใช้ภาษีซื้อสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม การเฉลี่ยภาษีซื้อของกองทุนรวมฯ และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

2) การเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่กระทำตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/6Yiox6

 

6. สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนในอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC)

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 640) พ.ศ.2560 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และนิติบุคคลนั้นต้องไม่เรียกเก็บค่าเช่าอุปกรณ์ดังกล่าวจากผู้รับชำระเงินผ่านอุปกรณ์นั้น (ผู้ประกอบการร้านค้า)

กรณีผู้ประกอบการร้านค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล (SMEs) ที่ได้ใช้อุปกรณ์รับชำระเงินดังกล่าวให้ยกเว้นเงินได้ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/jgJSfe

 

ข่าวภาษี

1. ขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชน

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งมีเงินได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้  สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2559

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายประกาศกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/iWWXYh และ https://goo.gl/AwAt2t

 

2. ครม.เห็นชอบหลักการยกเว้นภาษี 3 เท่า รายจ่ายทำวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ฯ สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคลสำหรับ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข ฯ ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายเพื่อการทำวิจัยและพัฒนาฯ มาหักเป็นรายจ่ายได้สูงสุด 3 เท่า เป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชี สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2562

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลดังกล่าวต้องไม่เกินกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับสำหรับรายจ่ายเพื่อการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่หน่วยงานของรัฐตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 598) พ.ศ.2559

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/3639

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5148/2559

ระหว่าง              นาย ส.                                                  โจทก์

กับ                    กรมสรรพากร                                         จำเลย

เรื่อง                  เงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุครบเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท น. และได้รับเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงานรวมทั้งสิ้นจำนวน 3,118,040 บาท โดยหนังสือแจ้งการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินบำเหน็จของบริษัท น. ซึ่งเงินได้ดังกล่าวแยกเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวน 1,792,000 บาท และเงินบำเหน็จจำนวน 1,326,040 บาท

เงินจำนวน 1,792,000 บาท จ่ายตามข้อบังคับการทำงาน ในกรณีพนักงานที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป และคำนวณจากอัตราเงินเดือนสุดท้ายเป็นระยะเวลา 300 วัน ซึ่งวิธีการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 118 (5) แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อีกทั้งเป็นเงินที่โจทก์ได้รับเมื่อเกษียณอายุอันเป็นการเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามความหมายของมาตรา 118 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังนั้นจึงถือว่าเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 45) ข้อ 1 (ค) แล้ว

การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยนำเงินได้จำนวนดังกล่าวทั้งจำนวนมาลงรายการเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานในข้อ ก.3 และนำมาคำนวณค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 45) จึงชอบด้วยมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

 

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

ในกรณีเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเป็นเงินที่ให้เนื่องจากการทำงานที่มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ผู้มีเงินได้สามารถเลือกไม่ต้องนำเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) หรือ (2) ก็ได้ และให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้จำนวน 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน แต่จะต้องไม่เกินเงินจำนวนดังกล่าว เหลือเท่าใดยังให้หักค่าใช้จ่ายได้อีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือนั้นซึ่งเป็นไปตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 (ค) และข้อ 2 (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

เดิมกรมสรรพากรมีความเห็นว่า ในกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุและข้อบังคับของนายจ้างได้กำหนดให้ลูกจ้างได้รับเงินได้รับเงินพิเศษโดยมีวิธีการคิดคำนวณซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น เงินจำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นเงินได้ของลูกจ้างที่ไม่อาจถือเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามข้อ 1 (ค) แต่ถือเป็นเงินได้ที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และถือเป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ง) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้นปรากฏว่า โจทก์ทำงานมากกว่า 10 ปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงานจำนวน 3,118,040 บาท โดยแบ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวน 1,7920,000 บาท และเงินบำเหน็จจำนวน 1,326,040 บาทนั้น

ผู้เขียนเห็นว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาให้เงินจำนวน 1,7920,000 บาทนั้น โดยมีวิธีการจ่ายเงินซึ่งเป็นไปตามมาตรา 118 (5) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ถือเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุอันเป็นการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด จึงถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจึงชอบแล้ว นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีความเห็นไปในทางเดียวกับศาลฎีกาว่า ในกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานนั้น ไม่ควรจำกัดเฉพาะกรณีที่นายจ้างเลิกกิจการ หรือยุบแผนก แต่จะต้องหมายความรวมถึงกรณีลูกจ้างเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างด้วย เพราะหากไม่รวมถึงเงินเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุแล้วก็ย่อมเป็นการจัดเก็บภาษีอย่างไม่เท่าเทียมกันโดยปราศจากอำนาจของกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการคำนวณภาษีและการใช้สิทธิแยกยื่นภาษีโดยไม่รวมกับเงินได้ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

อนึ่ง เงินชดเชยหรือค่าชดเชย หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

 

ธนินท์รัฐ เหลืองถาวรพจน์

            หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

 

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th

สุนทรี จุงเลียก

+662 680-9753

soontreej@dlo.co.th

ราชศักดิ์ กุลกัลยา

+662 680-9753

ratchasakk@dlo.co.th

ชัยศิริ ลิ่วสัมฤทธิ์

+662 680-9708

chaisiril@dlo.co.th