• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤศจิกายน 2558

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤศจิกายน 2558

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 60 เดือนพฤศจิกายน 2558

กฎหมายใหม่ล่าสุด

กำหนดเงินได้บางประเภทไม่ต้องรวมคำนวณภาษี

รมว.การคลังออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 308 (พ.ศ.2558) กำหนดให้เงินได้ดังต่อไปนี้เป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

1. ผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสะสมที่ข้าราชการได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเนื่องจากการขอกลับไปใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

2. เงินส่วนเพิ่มที่ผู้รับบำนาญได้รับจากกรมบัญชีกลางเนื่องจากการขอกลับไปใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/mqZqnX

ชี้แจงหลักเกณฑ์การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 และภ.ง.ด. 2 ก

ตามที่กรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 255) และ (ฉบับที่ 260) กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นแบบเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 2 และ ภ.ง.ด. 2 ก โดยผ่อนผันเวลาให้แก่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบที่ยังปฏิบัติไม่ถูกต้องได้จนถึงเดือนภาษีมิถุนายน พ.ศ. 2559 และปีภาษี พ.ศ. 2559 ตามลำดับนั้น

เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบปฏิบัติได้ถูกต้อง กรมสรรพากรออกคำชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้

1. การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2

1.1 สำหรับเดือนภาษีกรกฎาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ให้ยื่นวิธีการใดวิธีการหนึ่งดังนี้

(1) ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 ที่เป็นกระดาษพร้อมกับแสดงรายการการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ตามรูปแบบข้อมูล (Format) พร้อมนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

(2) ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 โดยใช้บริการโปรแกรมสำหรับซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (Software Component: SWC) ของกรมสรรพากรโดยส่งข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากคอมพิวเตอร์ของผู้มีหน้าที่ยื่นไปยังคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของกรมสรรพากรผ่านอินเทอร์เน็ต และพิมพ์แบบ ภ.ง.ด. 2 จากระบบดังกล่าวไปยื่น ณ สรรพากรพื้นที่สาขาโดยไม่ต้องแนบแผ่นสื่อบันทึกข้อมูล

(3) ยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

1.2 กรณีผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีในข้อ (1) (2) หรือ (3) ข้างต้นภายในเวลาที่กำหนด ให้ได้รับการผ่อนผันด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งดังนี้

(1) กรณีที่เคยยื่นด้วยกระดาษทั้งหมดให้ได้รับการผ่อนผันให้ยื่นด้วยกระดาษทั้งหมดต่อไปได้

(2) กรณีที่เคยยื่นด้วยกระดาษ 1 ใบและยื่นด้วยสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ (Format) ที่ได้ยื่นมาก่อนแล้วนั้นจะยื่นในรูปแบบนั้นต่อไปก็ได้

อย่างไรก็ตาม การผ่อนผันดังกล่าวให้ใช้เฉพาะการยื่นรายการของเดือนภาษีกรกฎาคม พ.ศ. 2558 ถึง เดือนภาษีมิถุนายน พ.ศ.2559 เท่านั้น

2. การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 ก

2.1 สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ให้ยื่นวิธีการใดวิธีการหนึ่งดังนี้

(1) ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 ก ที่เป็นกระดาษพร้อมกับแสดงรายการการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ตามรูปแบบข้อมูล (Format) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

(2) ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 ก โดยใช้บริการโปรแกรมสำหรับซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (Software Component: SWC) ของกรมสรรพากรโดยส่งข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากคอมพิวเตอร์ของผู้มีหน้าที่ยื่นไปยังคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของกรมสรรพากรผ่านอินเทอร์เน็ต และพิมพ์แบบ ภ.ง.ด. 2 จากระบบดังกล่าวไปยื่น ณ สรรพากรพื้นที่สาขาโดยไม่ต้องแนบแผ่นสื่อบันทึกข้อมูล

2.2 กรณีผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 2 ก ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีในข้อ (1) หรือ (2)  ข้างต้นภายในเวลาที่กำหนด ให้ได้รับการผ่อนผันด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งดังนี้

(1) กรณีที่เคยยื่นด้วยกระดาษทั้งหมดให้ได้รับการผ่อนผันให้ยื่นด้วยกระดาษทั้งหมดต่อไปได้

(2) กรณีที่เคยยื่นด้วยกระดาษ 1 ใบและยื่นด้วยสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ (Format) ที่ได้ยื่นมาก่อนแล้วนั้นจะยื่นในรูปแบบนั้นต่อไปก็ได้

อย่างไรก็ตาม การผ่อนผันดังกล่าวให้ใช้เฉพาะการยื่นรายการของปีภาษีพ.ศ. 2558 และปีภาษีพ.ศ.2559 เท่านั้น

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/Cuok1C

 

ข่าวภาษี

 ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการถาวร

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการถาวรจากเดิมอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิเป็นอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิเป็นการถาวรตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/UKtjXn

มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

1. กำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ตามลำดับ เป็นร้อยละ 0.01 สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่ประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว และอาคารพาณิชย์ และมิใช่ที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินหรือที่ดำเนินการจัดสรรที่ดินโดยทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย

2.  กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์โดยมีเงื่อนไขดังนี้

2.1 ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อเนื่องกัน 5 ปีภาษี นับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยให้แบ่งใช้สิทธิเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี

2.2 จ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 59

2.3 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์

2.4 ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/UKtjXn

 ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการบริหารเงินทั้งหมดของ IHQ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการบริหารเงินทั้งหมดของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) จากการให้กู้ยืมแก่วิสาหกิจในเครือที่เป็นการบริหารเงิน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2558

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/ZqkwJD

 สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่งานวัฒนธรรมและพัฒนาการเรียนรู้

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่งานวัฒนธรรมและพัฒนาการเรียนรู้สำหรับบุคคลที่บริจาคเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้

1. บุคคลธรรมดาสามารถหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตาม พรฎ. (ฉบับที่420) พ.ศ. 2547 ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำมูลค่าของเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามพรฎ. (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/2X4Y87

 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up)

                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการรายใหม่เป็นระยะเวลา 5 รอบบัญชีโดยมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1. จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 58 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.59 โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และ

2. ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  (New Engine of Growth) ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดังนี้

2.1 กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม

2.2 กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

2.3 กลุ่มอุตสาหกรรมวิจัยพัฒนา

3. ต้องเป็นรายรับเกี่ยวเนื่องกับสินค้าและบริการตามข้อ (2) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายรับที่ได้จากการประกอบกิจการทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

4. ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งหากขาดคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/2X4Y87

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 16023/2557

ระหว่าง                   บริษัท ซ                                        โจทก์

กับ                         กรมสรรพากร ที่ 1 กับพวก                จำเลย

เรื่อง                       หลักเกณฑ์การออกใบลดหนี้

การที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ทำข้อตกลงขายชิ้นส่วนรถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อว่า ให้กำหนดราคาขายคำนวณจากต้นทุนจริงบวกกำไรตามข้อตกลง แต่โจทก์ไม่มีพยานเอกสารหรือพยานฝ่ายผู้ซื้อมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับผู้ซื้อมีข้อตกลงดังกล่าวกันจริง นอกจากนี้ โจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ปัจจัยที่เกี่ยวกับราคาวัตถุดิบ ค่าเครื่องจักร แรงงาน และระยะเวลาในการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าว เป็นสาเหตุที่ทำให้โจทก์คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริงดังที่บัญญัติในมาตรา 82/10 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการออกใบลดหนี้ของโจทก์มาจากมีการลดราคาสินค้าที่ขาย เนื่องจากคำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริงจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิออกใบลดหนี้ตามบทบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้น

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคดีข้างต้นในประเด็นของการออกใบลดหนี้นั้น โจทก์พยายามอ้างว่าตนมีสิทธิออกใบลดหนี้โดยอ้างเหตุว่าตนคำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง ตามมาตรา 82/10 (1) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนว่าโจทก์คำนวณผิดพลาดอย่างไร จึงต้องฟังว่าการออกใบลดหนี้ของโจทก์ไม่เข้าเหตุตามมาตรา 82/10 (1) แห่งประมวลรัษฎากรและเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนด การออกใบลดหนี้ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อนึ่ง ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วจะมีสิทธิออกใบลดหนี้ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากรและประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) ซึ่งกำหนดเหตุไว้ดังนี้

(1) มีการลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุดเสียหาย หรือขาดจำนวน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง

(2) มีการลดราคาค่าบริการเนื่องจากการให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน บริการขาดจำนวน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง

(3) ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา

(4) มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากเหตุและตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

(5) เหตุเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเงินอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อผูกพันในกฎหมาย

(6) เหตุเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการคืนเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า

(7) เหตุเนื่องจากมีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน

(8) เหตุเนื่องจากมีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนและผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะที่กระทำภายในเวลาอันสมควร

(9) เหตุเนื่องจากการให้บริการบกพร่อง หรือให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน

(10) เหตุเนื่องจากไม่มีการให้บริการตามสัญญา

จากหลักกฎหมายดังกล่าว เหตุแห่งการออกใบลดหนี้ตามประมวลรัษฎากรมีเพียง 10 เหตุข้างต้นเท่านั้น หากผู้ประกอบการจดทะเบียนรายใดออกใบลดหนี้โดยอ้างเหตุอื่นย่อมไม่ถือเป็นการออกใบลดหนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนรายนั้นไม่มีสิทธินำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ลดลงนั้นมาหักออกจากภาษีขายของตนได้

นายธรดล  จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร

                หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนน วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th