• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ไทยเปิดเสรีบริการ 143 รายการ ต่อประเทศสมาชิกกลุ่มอาเชี่ยน

ไทยเปิดเสรีบริการ 143 รายการ ต่อประเทศสมาชิกกลุ่มอาเชี่ยน

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่าง ประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน อยู่ระหว่างการเสนอข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้า บริการชุดที่ 7 เพื่อเปิดเสรีธุรกิจภาคบริการให้แก่สมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น

ตามกำหนดสมาชิกจะต้องส่งตารางข้อผูกพันภายในเดือน พ.ค.2552 แต่ก็สามารถยืดหยุ่นได้ คาดว่าจะมีการยื่นตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดที่เพิ่มขึ้นภายในการประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ในเดือน ส.ค.นี้ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

สำหรับไทยมีการเสนอข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการเพิ่มเติมต่อสภาผู้ แทนราษฎร เพื่อพิจารณาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 ได้รับความเห็นชอบแล้ว ขณะที่ ครม.มีมติให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการยื่นข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุด ที่ 7 ต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้ ซึ่งก็ได้ดำเนินการไปแล้ว

“ธุรกิจบริการในข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 7 ประกอบด้วย สาขาบริการ 10 สาขา เป็นสาขาบริการย่อยทั้งหมด 143 รายการ ได้แก่ บริการด้านธุรกิจ การสื่อสาร ก่อสร้าง การจัดจำหน่าย การศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว นันทนาการ วัฒนธรรมและการกีฬา การขนส่งและบริการอื่น ๆ ที่ไม่จัดอยู่ในบริการข้างต้น

ซึ่งธุรกิจบริการทั้ง 143 รายการ อนุญาตให้ต่างชาติจากประเทศสมาชิกอาเซียน มีสิทธิถือหุ้นในนิติบุคคลที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยได้ไม่เกิน 49% ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กำหนดไว้” นางนันทวัลย์ กล่าว

นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านการถือหุ้นแล้ว ยังมีข้อจำกัดอื่น ๆ ในการกำกับดูแลธุรกิจ เช่น ข้อกำหนดสัดส่วนเรื่องผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นบุคลากร การกำหนดให้ผู้บริหารในนิติบุคคล ต้องเป็นคนไทย การกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำในการลงทุน โดยเฉพาะการกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับภายใต้กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง กับการขออนุญาตในการประกอบกิจการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไทยเปิดตลาดการค้าบริการเพิ่มเติม ประเทศในอาเซียนอื่น ก็ต้องเปิดตลาดเพิ่มเช่นเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการ ตามที่สมาชิกอาเซียนได้ผูกพันไว้ การลงทุนของไทยจะได้รับการปฏิบัติจากรัฐบาลของสมาชิกอาเซียนที่เป็นธรรม รวมทั้งลดความเข้มงวดในการใช้มาตรการและกฎระเบียบต่างๆ ต่อการลงทุนของไทย

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ไทยน่าจะได้ประโยชน์ในการดึงดูดการลงทุนเข้ามาประเทศ และเป็นการส่งสัญญาณด้านบรรยากาศการลงทุนที่ดีต่อประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน ด้วย เพราะข้อผูกพันของไทยแสดงให้เห็นถึงการดำเนินการของภาครัฐ ในการเปิดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศภายใต้ข้อผูกพันเป็นลายลักษณ์อักษร มีความโปร่งใสและชัดเจน สร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ