• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีไทยสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีไทยสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น.วันที่ 28 มิ.ย.2551 ศาลปกครองกลางได้ส่งโทรสารคำสั่งไปยังคู่ความ ในคดีที่ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่สนับสนุนให้มีการจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว

โดยศาลฯมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาดังกล่าวไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

คดีดังกล่าว ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำโดยนายสุวัตร
อภัยภักดิ์ นายสุริยะใส กตะศิลาผู้ประสานงานพันธมิตรฯและคณะรวม 9 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนพดล ปัทมะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นจำเลยที่ 1 คณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2551 ขอให้ขอศาลปกครอง ได้พิจารณามีคำสั่งรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและขอศาลปกครอง ได้โปรดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้

1) ให้เพิกถอนการกระทำของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
2) เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551ที่มีมติเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมฯโดยมอบหมายให้นายนพดล ปัทมะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ
3) ให้เพิกถอนการลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมฯ ของนายนพดล ปัทมะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ลงนาม เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551
4) มีคำสั่งให้ นายนพดล ปัทมะ ยุติความผูกพันตามคำแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโก

ศาลปกครองกลาง ได้นัดไต่สวนคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2551และมีคำสั่งเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น.ของวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมาโดยได้ให้เหตุผลในการออกคำสั่งครั้งนี้ว่าจากการได้ตรวจพิจารณาคำขอเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยศาลปกครองกลางได้ระบุเหตุผลใน คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในหน้า 15 ว่า

"ปรากฎว่า ในแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วม ที่ประเทศกัมพูชาเป็นผู้จัดทำขึ้น
มีการกำหนดเขตพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร อย่างชัดแจ้งโดยระบุในแผนที่ว่าเป็นพื้นที่ N1แม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีบริเวณจำนวนน้อยกว่าบริเวณปราสาทพระวิหาร ตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ก็ตาม อาจถือได้ว่าประเทศไทย ได้ยอมรับเขตแดนรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารปรากฏตาม ที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N ๑ โดยปริยาย

นอกจากนี้แถลงการณ์ร่วมในข้อ 4 ที่ระบุว่า ‘..เครื่องหมาย N. 3ไว้ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ 1 ข้างต้นให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าว โดยวิธีการประสานกันระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สินนี้แผนการจัดการดังกล่าวจะถูกรวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับองค์ปราสาทและพื้นที่รอบๆปราสาทนั้น .. ‘
ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าว อาจมีผลผูกพันประเทศไทยและอาจทำลายน้ำหนักในการอ้างอิงเขตแดนที่ประเทศไทยยึดถือสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนมาโดยตลอด ดังนั้นคดีจึงมีมูลรับฟังได้ " 

อ่านคำสั่งศาลปกครองกลางฉบับเต็ม

ที่มาผู้จัดการออนไลน์