ส.ป.ก.4-01 ผิดที่คนหรือกฎหมาย ?

หมายเหตุ เป็นบทความของ สิริอัญญา เผยแพร่ในนสพ.ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 26 มกราคม 2552

00000000000000000000000000000000000000000000000

เรื่อง ส.ป.ก.4-01 กลับมาเป็นข่าวฮือฮาอีกครั้งหนึ่งแล้ว !
และที่เป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมา ก็เพราะได้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง
ที่ฝ่ายการเมืองเขาถือว่าเป็นอาวุธอันคมกริบในการใช้ประหัตประหารกัน
โดยแท้จริงแล้ วมิได้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนเลย

และทุกครั้งที่ ส.ป.ก.4-01 เป็นข่าว
ก็จะถูกผสมโรงทั้งจากคนที่รู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง
จนก่อเกิดเป็นกระแสใหญ่และกลบเรื่องราวที่แท้จริงไปจนหมดสิ้น
จนกระทั่งถึงวันนี้กี่ปีต่อกี่ปีแล้ว
เรื่องราวที่แท้จริงและปัญหาที่แท้จริง
ก็ยังคงดำรงอยู่โดยไม่มีการแก้ไขใดๆ เลย

เพราะ ไม่ว่าใครเข้ามามีอำนาจเป็นรัฐบาล
ก็จะหวาดผวาและแขยงไม่กล้าแตะต้องเรื่อง ส.ป.ก.4-01
ซึ่งก็คือเรื่องเอกสารสิทธิในเขตปฏิรูปที่ดิน
ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ถามว่าการออก ส.ป.ก.4-01 ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น
เป็นเรื่องที่ต้องทำหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ
เพราะในที่ดินในเขตปฏิรูปนั้น จะออกเอกสารทางการรับรองได้เพียงประเภทเดียว
เท่านั้นคือ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งจะต้องออกให้ครบทุกแปลง

นับแต่มีกฎหมายปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2518 มาถึงวันนี้เป็นเวลา 34 ปีแล้ว
การออก ส.ป.ก.4-01 ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ยังจะต้องออกกันต่อไป
จนกว่าจะครบถ้วนเต็มพื้นที่ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งสำนักงานปฏิรูปที่ดิน
ก็ได้ดำเนินการอย่างแข็งขันตลอดมาทุกยุคทุกสมัย

เพราะไม่ว่านักการเมือง จะพูดเรื่อง ส.ป.ก.4-01 หรือไม่พูด
สำนักงานปฏิรูปที่ดินก็ยังคงทำหน้าที่ของตนอย่างต่อเนื่องตามอำนาจหน้าที่
เหมือนเดิม

ในขณะเดียวกัน สำนักงานปฏิรูปที่ดิน
ก็ได้เล็งเห็นปัญหาพื้นฐานที่สุดของกฎหมายปฏิรูปที่ดิน
และได้ตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการทำการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายปฏิรูปที่ดินมา
โดยลำดับ ทำต่อเนื่องกันมานับสิบปีแล้ว
จนบัดนี้ก็ยังปรับปรุงแก้ไขไม่ได้เลยแม้แต่มาตราเดียว

รัฐบาลแทบทุกยุคทุกสมัย ก็เห็นปัญหาและพยายามแก้ปัญหา แม้ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่ง ส.ส. ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ส.ป.ก. เพราะหากเป็นอยู่เช่นนี้ คนไทยในเขตปฏิรูปที่ดิน ก็จะกลายเป็นทาสติดที่ดิน และแผ่นดิน ส.ป.ก. จะกลายเป็นแผ่นดินทาสแทนที่จะเป็นแผ่นดินทอง

แต่แม้จะพยายามผลักดันกันสักเท่าใด ทุกยุคทุกสมัย ก็ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขกฎหมายปฏิรูปที่ดินได้เลย เพราะติดกำแพงกระแสการเมือง ซึ่งไม่รู้ว่ามาจากไหน

เพราะเมื่อสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ก็กลัวกระแส จึงแก้ไขไม่สำเร็จ มาคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็คงกลัวกระแสและแก้ไขไม่สำเร็จอีก ในที่สุดเวรกรรมทั้งหลาย ก็จะตกได้แก่ประชาชนในเขตปฏิรูปที่ดินตลอดไปชั่ว กัลปาวสาน

ต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นไม่ใช่ที่ป่า
เพราะที่ป่าคือเขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์
เขตต้นน้ำลำธาร หรือวนอุทยานทั้งหลายทั้งปวง
อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน
ซึ่งพิทักษ์หวงแหนที่ดินนั้นสุดชีวิตจิตใจ
ไม่มีทางที่จะยอมยกให้ใครโดยง่าย คงเหลือแต่การดูแลรักษา
ไม่ให้ถูกบุกรุกแผ้วถางเท่านั้น

ส่วนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ป่านั้น มีอยู่สามลักษณะ คือ

หนึ่ง ที่ดินที่เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นชุมชนเต็มรูปแบบมาแต่ก่อน แล้วถูกประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งตำบลหรือทั้งอำเภอ

สอง ที่ดินที่เป็นไร่สวนของราษฎรที่ครอบครองทำกิน
กันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ แล้วถูกประกาศให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
ครอบคลุมไปทั้งตำบลและอำเภอ และ

สาม ที่ดินป่าเสื่อมโทรมที่ราษฎรปกครองทำประโยชน์
หมดสภาพป่าและไม่สามารถฟื้นสภาพป่าได้อีก กรมป่าไม้ กรมอุทยาน
กรมการปกครอง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเห็นพ้องต้องกันแล้ว
จึงเสนอเป็นลำดับชั้น
ให้คณะรัฐมนตรีลงมติให้โอนที่ดินดังกล่าวไปให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินนำไป
ดำเนินการออก ส.ป.ก. 4-01

ที่ดินทั้งสามลักษณะนี้ จึงไม่ใช่ที่ป่าตามที่พูดกัน แต่เป็นที่ซึ่งพึงออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎร เพื่อให้เป็นหลักทรัพย์ ให้เป็นทุนรอนและเปิดโอกาสให้สามารถลงทุนทำกิจการใดๆ ได้

แต่ปรัชญาทางกฎหมายของกฎหมายปฏิรูปที่ดิน เป็นไปเสียอีกทางหนึ่ง
คือมีหลักการสำคัญอยู่ 2 ประการ ที่เป็นอุปสรรค
กระทั่งมีลักษณะวิปริตผิดนิติปรัชญาโดยทั่วไป คือ

ประการแรก มีบทบังคับว่าที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ จะใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น

ลองนึกดูเถิดว่า ถ้าพื้นที่ใดทั้งตำบลหรือทั้งอำเภอ
ต้องปลูกแต่มันสำปะหลัง มีตลาด ร้านค้า โรงเรียน โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน
โรงแรมหรือโรงพยาบาลหรือธนาคารไม่ได้เลยแล้ว สังคมหรือชุมชนนั้น
จะอยู่ได้อย่างไร และอาชีพเกษตรกรรม มันทำให้คนไทยร่ำรวยสุดวิเศษหรือ ? จึงต้องบังคับให้ต้องทำแต่เกษตรกรรม ซึ่งรู้กันอยู่ว่านี่คือปมปัญหาความยากจนของคนไทยที่ยังแก้ไขไม่ตกอยู่ในขณะ นี้

ลองนึกดูเถิดว่าประชาชนทั้งตำบลหรือทั้งอำเภอ
ที่เขาทำอาชีพมากมายหลายอาชีพ แล้วถูกบังคับให้เลิกอาชีพเหล่านั้น
หันไปทำอาชีพเกษตรกรรม ใครเขาจะยินยอม ?

ประการที่สอง ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. จะต้องเป็นคนยากจน ซึ่งเคยได้รับการตีความว่าระดับของความยากจนนั้น หมายถึงไม่มีทรัพย์สินใดๆ ยกเว้นแต่จอบและเสียม
หากมีฐานะดีกว่านี้ แม้แค่มีบ้านสักหลังหนึ่ง มีรถกระบะสักคันหนึ่ง
ก็ไม่ใช่คนยากจนตามความหมายของกฎหมายนี้
จะไม่มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัยในแผ่นดินนี้อีกต่อไป

ในวันนี้ผู้คนที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งมีหลากหลายอาชีพและมีหลากหลายฐานะ ทั้งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ยากจน ถึงขนาดที่มีแต่จอบและเสียม จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับ ส.ป.ก.4-01
ดังนั้นหยิบยกเรื่อง ส.ป.ก.4-01 ขึ้นเมื่อใด ไม่ว่าโดยฝ่ายไหน
จึงเป็นเรื่องฮือฮาได้ทุกครั้งและก็เจ็บตัวกันถ้วนทั่วทุกครั้งเหมือนเดิม

เพราะเวลานี้ ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
รวมทั้งผู้ที่อยู่นอกวงทางการเมือง ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน
ล้วนมีคุณสมบัติไม่ครบเงื่อนไขทั้งสองข้อนี้ทั้งสิ้น

ดังนั้น ปมปัญหาแท้
จึงอยู่ที่นิติปรัชญาของกฎหมายปฏิรูปที่ดินที่จะต้องได้รับ
การแก้ไขเพื่อให้แผ่นดินประเทศไทยมีราคา ให้ราษฎรได้เป็นเจ้าของสิทธิ์
เป็นทรัพย์สินและฐานะของราษฎรเหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ที่มีโฉนดที่ดิน
ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่รัฐจากค่าธรรมเนียมอีกด้วย

จึงมีแต่ต้องดำเนินรอยตามพระบรมราโชบายของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5
ที่ทรงพระราชทานโฉนดที่ดินแก่พสกนิกรของพระองค์
เพื่อให้มีฐานันดรหรือเรียลเอสเตท (Real Estate) เช่นเดียวกับชาวยุโรป.

ที่มาผู้จัดการออนไลน์