จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์ 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 127 เดือนกุมภาพันธ์ 2565

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าซื้อและติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด
2. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์
3. ยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”
4. กำหนดลักษณะและเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
5. กำหนดวิธีการและผู้ยื่นรายการแจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report)
6. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
7. กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์
8. กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินตามแบบ อ.ส.9 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับตราสารบางลักษณะ
9. เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ยื่น Disclosure Form แล้ว
10. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของกิจการที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

ข่าวภาษี
1. กำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
2. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินและประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากโครงการของภาครัฐ
3. กรมสรรพากรออกคู่มือการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2564
ระหว่าง     บริษัท อ. จำกัด     โจทก์
          กรมสรรพากร     จำเลย
เรื่อง       การจ่ายเงินลดทุนตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าซื้อและติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 416) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3f7PmEe และ https://bit.ly/3F9DiwV

2. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 417) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2565
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3Gjkixp และ https://bit.ly/3F9EIHL

3. ยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”
     กฎกระทรวง ฉบับที่ 379 (พ.ศ. 2564) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักรบางประเภทให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3t8xiCm และ https://bit.ly/3qFrQ8j

4. ลักษณะและเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 243) กำหนดให้มูลค่าของค่าไฟฟ้าของรอบชำระตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2563 หรือมูลค่าส่วนลดของค่าไฟฟ้าของรอบชำระเดือนเมษายน 2563 ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนพึงเรียกเก็บจากหรือได้ให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยตามลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนด เป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3FGylfr

5. กำหนดวิธีการและผู้ยื่นรายการแจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report)
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 419) ได้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 408) ดังนี้

     1. ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลงทะเบียนการใช้ระบบรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report) และแจ้งข้อความผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th โดยตรง หรือผ่านระบบบริการ Tax Single Sign On ของกระทรวงการคลัง
     2. หากเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลำดับสูงสุดของกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลข้ามชาติที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในต่างประเทศหรือเขตเศรษฐกิจอื่นอาจแต่งตั้งตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลำดับสูงสุดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเป็นผู้แจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report) ได้
     ทั้งนี้ สำหรับการแจ้งข้อความสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3qGXimP

6. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 39) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่จัดตั้งโดยสถานศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า อันเนื่องมาจากการบริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3tE04uM

7. กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 64) กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรจะเลือกยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินและชำระอากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยใช้แบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ก็ได้
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3nyVNFd

8. กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินตามแบบ อ.ส.9 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับตราสารบางลักษณะ
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 65) กำหนดให้ตราสารตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร บางลักษณะที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สามารถชำระอากรเป็นตัวเงินตามแบบ อ.ส.9 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3Ig0oE6

9. เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ยื่น Disclosure Form แล้ว
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สําหรับการยื่นแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 มกราคม 2565 กำหนดให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ยื่น Disclosure Form เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้รับเลขที่ใบรับแบบจากระบบการยื่น Discloser Form
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3FNZxZB

10. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของกิจการที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 420) กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ทั้งจากการประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจซึ่งได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 727) พ.ศ. 2564 และรายได้จากกิจการอื่นคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน แต่ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้เลขประจำตัวผู้ภาษีเสียอากรเดียวกัน โดยแยกกระดาษทำการของแต่ละกิจการออกจากกัน
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3HkFp2P

ข่าวภาษี

1. กำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
     เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้กิจการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3fXuobE

2. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินและประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากโครงการของภาครัฐ
     เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ดังนี้
     1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินเยียวยาที่ได้รับตามโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน และเงินอุดหนุนที่ได้รับตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับเงินดังกล่าว
     2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการกำลังใจ โครงการทัวร์เที่ยวไทย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเซษ โครงการคนละครั้ง ระยะที่ 1 – 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน โครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2564
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3fXuobE

3. กรมสรรพากรออกคู่มือการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล
     เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 กรมสรรพากรได้ออกคู่มือแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2564 พร้อมตัวอย่างการคำนวณ ทั้งนี้ ตามแนวทาง “ทำให้ชัด ผ่อนปรน มองอนาคต”
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3s9mqlo และ https://bit.ly/32LeK02

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2564
ระหว่าง     บริษัท อ. จำกัด     โจทก์
          กรมสรรพากร     จำเลย
เรื่อง       การจ่ายเงินลดทุนตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร

ประเด็นข้อพิพาท : ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินลดทุนเฉพาะที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกันตามมาตรา 40 (4) (ง) คำนวณอย่างไร

ข้อเท็จจริง : โจทก์ประกอบกิจการลงทุนในบริษัทในเครือ มีทุนจดทะเบียน 435,000,000 บาท และมีทุนสำรองตามกฎหมาย 43,500,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนลดทุนลง 325,250,000 บาท คงเหลือทุนจดทะเบียน 108,750,000 บาท และลดทุนสำรองตามกฎหมายลง 32,625,000 บาท คงเหลือทุนสำรองตามกฎหมาย 10,875,000 บาท จากนั้นโจทก์โอนทุนสำรองตามกฎหมายที่ลดลงไปเป็นกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร ทำให้มีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 43,972,139.42 บาท แล้วจ่ายเป็นเงินปันผล 43,935,000 บาท และหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย เป็นเงิน 4,393,499.99 บาท ต่อมาโจทก์ได้จ่ายเงินลดทุนคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น และหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย เป็นเงิน 2,448,641.81 บาท โดยคำนวณจากเงินลดทุนส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่าทุนสำรองตามกฎหมาย 10,875,000 บาท และกำไรสะสม 37,139.42 บาท แต่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเห็นว่า ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินลดทุนของโจทก์เฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกันตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร คือ ทุนสำรองตามกฎหมาย 43,500,000 บาท และกำไรสะสม 11,347,139.42 บาท รวมทั้งสิ้น 54,847,139.42 บาท ซึ่งปรากฏตามงบดุล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 โจทก์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 18,068,441.60 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีดังกล่าว โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย

คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า การจ่ายเงินปันผลตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการจ่ายจากกำไรของกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนการจ่ายเงินลดทุนตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการจ่ายเงินได้ที่ทำให้ส่วนของเจ้าของลดลงไป ไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินปันผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์เห็นชอบให้โอนทุนสำรองตามกฎหมาย 32,625,000 บาท ไปเป็นกำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร เป็นการจ่ายเงินได้ที่ทำให้ส่วนหนึ่งของเจ้าของลดลง จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่องบแสดงฐานะการเงินของโจทก์ของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ก่อนจ่ายเงินลดทุน โจทก์มีกำไรสุทธิจัดสรรไว้เป็นทุนสำรองตามกฎหมาย 43,500,000 บาท และมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 11,347,139.42 บาท โจทก์จึงต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 54,847,139.42 บาท และไม่อาจเอาทุนสำรองตามกฎหมายไปเป็นเงินกำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรรอันเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย หนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยไม่ขัดต่อหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามเกณฑ์เงินสดตามมาตรา 39 และมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เนื่องจากจำเลยไม่ได้นำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย 4,393,999.99 บาท มาถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีให้กับโจทก์ จำเลยจึงต้องนำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวมาถือเป็นเครดิตในการคำนวณก่อนคิดเงินเพิ่มตามกฎหมาย

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ว่า การจ่ายเงินลดทุนตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินปันผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกา ผู้เขียนยังมีความเห็นแตกต่างกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาใน 2 ประเด็นที่มีนัยสำคัญ ดังนี้

     (1) ประเด็นเรื่องการโอนทุนสำรองเป็นกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรแล้วจ่ายเป็นเงินปันผล ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การจ่ายเงินลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น
     ผู้เขียนเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1202 กำหนดให้ทุกคราวที่บริษัทจ่ายเงินปันผล บริษัทจะต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองจนกว่าจะมีจำนวนถึง 1 ใน 10 ของทุนจดทะเบียน ทุนสำรองดังกล่าวจึงมาจากกำไรสะสมของบริษัทที่ได้จัดสรรไว้ตามที่กฎหมายกำหนด การที่โจทก์โอนทุนสำรองกลับไปเป็นกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรแล้วจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นจึงเป็นการจ่ายจากกำไรของบริษัทอย่างแท้จริงตามมาตรา 1201 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นการจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
     นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการจ่ายเงินดังกล่าวไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินลดทุนตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการจ่ายเงินลดทุนที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายมีขึ้นเพื่อป้องกันการจ่ายกำไรสะสมให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยวิธีการลดทุนแทนที่จะนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ซึ่งหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำกำไรสะสมไปจ่ายเป็นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรก็จะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อคดีนี้ โจทก์ได้นำทุนสำรองโอนกลับไปเป็นกำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรรและนำไปจ่ายเป็นเงินปันผล การจ่ายเงินดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินปันผลตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่อาจเข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินลดทุนตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากรได้อีก

     (2) ประเด็นเรื่องฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินลดทุนของโจทก์เฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกันตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร เท่ากับ 54,847,139.42 บาท (ทุนสำรองตามกฎหมาย 43,500,000 บาท + กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 11,347,139.42 บาท)

     ผู้เขียนเห็นว่า ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินลดทุนของโจทก์เฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกันตามมาตรา 40 (4) (ง) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น จะต้องพิจารณาจากกำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน ณ วันที่มีการจ่ายเงินลดทุน คือ วันที่ 24 กันยายน 2555 เมื่อโจทก์มีกำไรสะสมที่จัดสรรไว้เป็นทุนสำรองตามกฎหมาย 10,875,000 บาท และมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 37,139.42 บาท ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ที่มีการลดทุนและจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้ว ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย จึงควรเท่ากับ 10,912,139.42 บาท ซึ่งจะเป็นไปตามเกณฑ์เงินสดตามมาตรา 39 และมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากรอย่างแท้จริง

     นอกจากนี้ การที่ศาลฎีกาให้นำกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 11,347,139.42 บาท มารวมคำนวณเป็นฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินลดทุน โดยไม่หักเงินปันผลระหว่างกาลออกก่อน ทั้งที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1201 วรรคสอง ให้อำนาจกรรมการในการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแก่ผู้ถือหุ้นได้ กรณีอาจเข้าลักษณะเป็นการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีต้องแบกรับภาระภาษีมากเกินสมควร ดังนั้น เมื่อโจทก์มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลก่อนการจ่ายเงินลดทุนแก่ผู้ถือหุ้น จึงควรหักเงินปันผลระหว่างกาลจำนวน 11,310,000 บาท ก่อนนำมาคำนวณเป็นฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินลดทุนของโจทก์ ซึ่งจะทำให้ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เท่ากับ 43,537,139.42 บาท (ทุนสำรองตามกฎหมาย 43,500,000 บาท + กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 37,139.42 บาท) ซึ่งจะสอดคล้องกับหนังสือของกรมสรรพากรที่เคยตอบข้อหารือของผู้เสียภาษีอากรอีกด้วย

นางสาววรรณนิภา สงวนราษฎร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: wannipas@dlo.co.th