การจับตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษา

นายปฏิคม  ฟองโหย

ทนายความ

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

e-mail : patikomf@dlo.co.th

สวัสดีครับ วันนี้ผมขอนำสาระทางกฎหมายเรื่องการออกหมายจับจำเลยให้มาฟังคำพิพากษา  มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นเกร็ดความรู้สำหรับท่านที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา

ปัจจุบันนี้ เราจะพบข่าวคนดังที่มีชื่อเสียงระดับประเทศของเราตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและต้องโทษคดีอาญากันหลายต่อหลายคน ซึ่งผลคดีของจำเลยแต่ละคนก็แตกต่างกันไป  และมีทั้งที่มาฟังคำพิพากษาและไม่ยอมมาฟังคำพิพากษาก็ว่ากันไป

ในการดำเนินคดีอาญานั้น วันที่ถือว่าเป็นวันสำคัญที่สุดก็คือวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ไม่ว่าจะอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาก็ตาม โดยเฉพาะจำเลย  โดยหลักแล้วการดำเนินคดีอาญานั้นต้องกระทำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าจำเลยฉะนั้น จำเลยจะต้องมาศาลทุกนัด เว้นแต่จำเลยจะได้รับอนุญาตจากศาลให้พิจารณาคดีนั้นลับหลังจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ต้องมาศาล แต่อย่างไรก็ตามวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยจะต้องมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง จะมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นมาฟังคำพิพากษาแทนไม่ได้  ซึ่งจะต่างกับคดีแพ่ง ที่กฎหมายให้สิทธิจำเลยที่จะไม่มาฟังคำพิพากษาในคดีแพ่งก็ได้ แต่ในคดีอาญาไม่ได้เด็ดขาด จำเลยต้องมาฟังคำพิพากษาด้วยตนเองเท่านั้น  และในกรณีที่จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลจะอ่านคำพิพากษานั้นโดยที่ไม่มีตัวจำเลยอยู่ต่อหน้าก็ไม่สามารถทำได้   ปัญหาคือแล้วจะทำยังไงดี ?  เมื่อจำเลยก็ไม่ยอมมาฟังคำพิพากษา และศาลก็อ่านคำพิพากษานั้นไม่ได้   ถ้าเช่นนั้นก็ต้องจับตัวจำเลยมาฟังให้ได้ แล้วจะจับอย่างไร กฎหมายให้ทำได้หรือ ?

มีคำตอบครับ  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๒ บัญญัติว่า

คดีที่อยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ถ้ามีคำร้องระหว่างพิจารณาขึ้นมา ให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร เมื่อการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้พิพากษาหรือสั่งตามรูปความ

ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณา หรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี ถ้ามีเหตุอันสมควรจะเลื่อนไปอ่านวันอื่นก็ได้แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้

เมื่อศาลอ่านให้คู่ความฟังแล้ว ให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ ถ้าเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่มาจะอ่านโดยโจทก์ไม่อยู่ก็ได้ ในกรณีที่จำเลยไม่อยู่ โดยไม่มีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ก็ให้ศาลรอการอ่านไว้จนกว่าจำเลยจะมาศาล แต่ถ้ามีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ให้ศาลออกหมายจับจำเลย เมื่อได้ออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกหมายจับ ก็ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่าโจทก์หรือจำเลย แล้วแต่กรณีได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว

ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเลื่อนอ่านไปโดยขาดจำเลยบางคน ถ้าจำเลยที่อยู่จะถูกปล่อย ให้ศาลมีอำนาจปล่อยชั่วคราวระหว่างรออ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

หลักกฎหมายข้างต้น จึงเป็นทางออกให้กับศาลที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง กรณีที่จำเลยไม่มาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา ในทางปฏิบัติศาลจะพิจารณาพฤติการณ์ของจำเลยว่าการไม่มาศาลนั้น เป็นการจงใจจะไม่มาศาลหรือไม่ ถ้าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จงใจ ตัวอย่างเช่น จำเลยเจ็บป่วยถึงขั้นต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจริงๆ หรือที่บ้านจำเลยน้ำท่วมหนักไม่สามารถเดินทางมาศาลได้จริงๆ  เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยไม่จงใจที่จะไม่มาฟังคำพิพากษาของศาล ศาลก็อาจจะเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปก่อนได้ โดยที่จะไม่มีการออกหมายจับจำเลย แต่กรณีที่จำเลย ไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจงใจที่จะไม่มาฟังคำพิพากษาของศาล กรณีนี้ ศาลก็จะออกหมายจับตัวจำเลยให้มาฟังคำพิพากษาตามหลักกฎหมายข้างต้น เมื่อศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยแล้ว ศาลก็จะเลื่อนการอ่านคำพิพากษานั้นออกไปอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน เพื่อจับตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษา แล้วถ้าภายในหนึ่งเดือน หรือจนถึงวันนัดอ่านคำพิพากษาที่เลื่อนมาแล้วยังจับตัวจำเลยมาศาลไม่ได้  ศาลก็สามารถอ่านคำพิพากษานั้นได้โดยที่ไม่มีตัวจำเลยมาฟัง หรืออ่านลับหลังจำเลยได้ตามหลักกฎหมายข้างต้นเช่นเดียวกัน

การออกหมายจับตัวจำเลยให้มาฟังคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๒  มีเจตนารมณ์เพื่อจับตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการออกหมายจับตัวจำเลยมารับโทษตามคำพิพากษา ซึ่งหมายจับของศาลนั้น ยังมีอีกหลายประเภท มีทั้งหมายจับในคดีอาญา และหมายจับในคดีแพ่ง ในวันนี้ผมขอยกตัวอย่างเฉพาะในส่วนของหมายจับในคดีอาญา ที่ออกมาเพื่อจับตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งขณะที่ศาลออกหมายจับตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษานั้น โจทก์และจำเลยก็จะยังไม่ทราบผลของคำพิพากษาว่า ศาลจะพิพากษายกฟ้อง โจทก์ หรือพิพากษาลงโทษจำเลยเพียงใด ซึ่งผลของคำพิพากษาอาจเป็นได้ทั้งสองกรณี แต่โดยมากถ้าจำเลยพอรู้แกวว่าอาจถูกศาลพิพากษาลงโทษ ก็จะใช้วิธีไม่มาฟังคำพิพากษาของศาลในครั้งแรก และรอให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังไปก่อน เมื่อรู้ผลคำพิพากษาที่ศาลอ่านลับหลังว่าเป็นอย่างไรแล้ว ค่อยหาวิธีแก้ไขหรือต่อสู้คดีกันต่อไปจะว่าเป็นเทคนิคทางคดีของทนายความก็ว่าได้

เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ นี้ คงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านได้บ้างนะครับ ไว้โอกาสหน้าจะนำเกร็ดความรู้ทางกฎหมายมาเล่าสู่กันฟังใหม่ สวัสดีครับ

(๑๒ กันยายน ๒๕๖๐)