ต่อเติม ดัดแปลง หรือสร้างอาคารใหม่ ลดภาษีได้ทันใจ!

ราชศักดิ์ กุลกัลยา

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

 

                เป็นโอกาสดีของผู้ประกอบที่เป็นนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะทำการลงทุนในกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติม ดัดแปลง หรือสร้างอาคารใหม่ ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้อีก 1 เท่า[i] โดยผู้เขียนขอนำเสนอดังต่อไปนี้

                 โดยปกติแล้วเมื่อผู้ประกอบการทำการต่อเติม ดัดแปลง หรือสร้างอาคารหลังใหม่ที่ใช้ในการประกอบกิจการ ประมวลรัษฎากรไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน[ii] อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคารส่วนที่มีการต่อเติม ดัดแปลงหรือสร้างใหม่นั้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประมวลรัษฎากรกำหนด[iii]         

ตัวอย่างที่ 1.

                ผู้ประกอบการสร้างอาคารถาวรหลังใหม่เพื่อใช้ในการประกอบกิจการสามารถหักค่าเสื่อมราคา ได้ไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี[iv]  หากผู้ประกอบการมีรายจ่ายในการลงทุนสร้างอาคารถาวรหลังใหม่นี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,000,000 บาท ผู้ประกอบการสามารถหักค่าเสื่อมราคาและสามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิของกิจการได้จำนวน 50,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี

                แต่ตามกฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ผู้ประกอบให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการต่อเติม ดัดแปลงหรือสร้างอาคารถาวรหลังใหม่ มาหักเป็นรายจ่ายได้อีก 1 เท่าในการคำนวณกำไรสุทธินับตั้งแต่ปีที่มีการต่อเติมหรือสร้างอาคารหลังใหม่นั้น แต่ถึงอย่างไรผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังต่อไปนี้

 1. อาคารถาวรที่ผู้ประกอบการลงทุนต้องมีลักษณะดังนี้

                1.1 ต้องเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งอาคารถาวรที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ

                     ไม่ว่าผู้ประกอบการจะสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่ หรือแม้จะเป็นเพียงการต่อเติมอาคาร หรือทำการตกแต่งภายในที่มีลักษณะเป็นการทำให้อาคารดังกล่าวมีสภาพดีขึ้นไปกว่าเดิม แต่ไม่รวมถึงการซ่อมแซมอาคารให้คงสภาพเดิม หรือเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการซื้อหรือเช่าซื้ออาคารถาวรหลังใหม่[v]

                1.2 ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน

                     ผู้ประกอบการไม่สามารถซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว นำมาใช้ในการต่อเติม ดัดแปลง หรือสร้างอาคารดังกล่าว

                1.3 เป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้

                     ผู้ประกอบการต้องศึกษาเพิ่มเติมได้จาก พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

                 1.4 เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

                     หากเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการลงทุนต่อเติม ดัดแปลง หรือสร้างอาคารของกิจการในต่างประเทศ รายจ่ายดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายฉบับนี้

                 1.5 ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้นำไปใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นและใช้สิทธิในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

 

2. เงื่อนไขในการจ่ายเงินและการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

                2.1 ต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริงตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

                     โดยปกติแล้ว ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลต้องใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้รายจ่ายของกิจการ กล่าวคือ ในกรณีที่บริษัทตกลงว่าจ้างผู้รับเหมาในการต่อเติมอาคารเพื่อทำให้ดีขึ้นมูลค่า 100,000 บาท ในปี 2559 ซึ่งผู้ประกอบการต้องหักค่าเสื่อมราคาโดยใช้เกณฑ์สิทธิตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แม้จะมีการจ่ายจริงในปี 2560 ผู้ประกอบการยังคงต้องเริ่มหักค่าเสื่อมราคาดังกล่าวในปี 2559 เช่นเดิม[vi]

                     แต่ตามกฎหมายฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริงเท่านั้น[vii] ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ดังนั้น ตามตัวอย่างข้างต้น ผู้ประกอบการจะไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ แม้จะมีการตกลงว่าจ้างกันจริงในปี 2559 แต่ได้มีการชำระเงินให้แก่ผู้เราเหมาจริงในปี 2560 ซึ่งไม่อยู่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

                 2.2 อาคารถาวรดังกล่าวอาจได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ก็ได้[viii]

                      การที่ผู้ประกอบการได้ทำการต่อเติม ดัดแปลง หรือสร้างอาคารถาวรให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาของกฎหมายฉบับนี้ย่อมเป็นการยาก เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวมีระยะเวลาเพียง 14 เดือน ซึ่งกว่าผู้ประกอบการจะทำการวางแผนก่อสร้างและดำเนินการขอใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานอาจใช้เวลาไปแล้วพอสมควร กฎหมายฉบับนี้จึงอนุโลมให้การต่อเติม ดัดแปลง หรือสร้างอาคารถาวรดังกล่าวสามารถแล้วเสร็จหรือมีสภาพพร้อมใช้งานภายหลังระยะเวลาที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดได้ แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายมิได้อนุโลมถึงการชำระเงินจากการลงทุนดังกล่าว ยังคงถือหลักวันที่จ่ายจริงในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดิม เพราะมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการเร่งลงทุนเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว

                      นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 แต่หากเป็นกรณีที่ไม่ถือว่าเป็นการสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องมีหลักฐานจากการจ้าง ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 [ix]

 

3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี

                เมื่อปฏิบัติครบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทั้งหมดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าวเพิ่มได้อีก 1 เท่า โดยกฎหมายกำหนดให้เฉลี่ยหักเป็นรายจ่าย 20 รอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกัน ทั้งนี้ เพื่อความเข้าใจวิธีการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนตามกฎหมายฉบับนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประกอบ ดังต่อไปนี้

 ตัวอย่างที่ 2.

                ผู้ประกอบการมีรายจ่ายในการลงทุนสร้างอาคารถาวรหลังใหม่รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,000,000 บาท และได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทั้งหมดดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังนี้

                1. หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา (ดังที่อธิบายมาแล้วตามตัวอย่างที่ 1.)

                2. หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนฯ เพิ่มได้อีก 1 เท่าตามกฎหมายฉบับนี้

                               

                จากตัวอย่างดังกล่าว ในกรณีที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิเพียงหักค่าเสื่อมราคา เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพียง 50,000 บาท เป็นระยะเวลา 20 ปี รวมเป็นรายจ่ายทั้งสิ้น 1,000,000 บาท เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทรัพย์สินดังกล่าว แต่ถ้าผู้ประกอบการได้รับสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ด้วยแล้ว จะทำให้ได้รับสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายได้อีก 1 เท่า โดยเฉลี่ยเป็นเวลา 20 รอบระยะเวลาบัญชี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหักค่าใช้จ่ายได้รอบบัญชีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี รวมเป็นรายจ่ายทั้งสิ้น 2,000,000 บาท มากกว่ารายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริงเป็นจำนวน 1 เท่า

                 อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์รายจ่ายเพื่อการลงทุน ฯ มีประเด็นค่อนข้างซับซ้อนยากต่อการตีความ ดังนั้น ควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษี ก็จะสามารถช่วยให้ท่านดำเนินการทางด้านภาษีได้อย่างถูกต้องและลดความเสี่ยงในการถูกประเมินภาษีจากเจ้าหน้าที่สรรพากร นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษียังสามารถช่วยให้ข้อมูลข่าวสารหรือกฎหมายภาษีท่านสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงประเด็นกฎหมายภาษีใหม่ๆ ที่สำคัญทุกประเด็น

                นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว ยังมีประเด็นทางภาษีที่ผู้ประกอบการต้องควรทราบเกี่ยวกับการต่อเติม ดัดแปลง หรือสร้างอาคารนี้ ซึ่งอาจต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อจากการดำเนินการดังกล่าวในกรณีที่ผู้ประกอบการได้ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากผู้ประกอบการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว อาจเสียสิทธิที่ตัวเองจะได้รับในการเฉลี่ยภาษีซื้อและในบางกรณีอาจต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกด้วย โดยผู้เขียนจะขอนำเสนอประเด็นดังกล่าวในบทความฉบับต่อไป

 

สนใจบริการด้านที่ปรึกษาภาษี กรุณาสอบถามรายละเอียดบริการเพิ่มเติมได้ที่

 02 – 6809708, 02 – 6809760, 02 – 6809753



[i] พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

[ii] มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

[iii] มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

[iv] มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

[v] มาตรา3 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

[vi] ทั้งนี้ อาคารที่ต่อเติมดังกล่าวต้องพร้อมใช้งานในปี 2559 ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการหักค่าเสื่อมราคา

[vii] มาตรา3 วรรค 2 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

[viii] มาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 622) พ.ศ. 2559

[ix] ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับเงินได้ (ฉบับที่ 266) ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับเงินได้ (ฉบับที่ 270)