จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมิถุนายน 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 101 เดือนมิถุนายน 2562

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าบริการนำเที่ยวหรือค่าที่พัก
2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าอุปกรณ์และเครื่องแต่งกายสำหรับการศึกษาและการกีฬา
3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้า OTOP
4. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหรือค่าบริการหนังสือ
5. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
6. หลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุนรวมและภาษีเงินได้นิติบุคคลของกองทุนรวม

ข่าวภาษี

1. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินและการนำส่งข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
2. การปรับปรุงแก้ไขการเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้ายาสูบ
3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2375/2561
ระหว่าง           นาย ส.                โจทก์
กรมสรรพากร      จำเลย
เรื่อง ฐานภาษีสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าบริการนำเที่ยวหรือค่าที่พัก
กฎกระทรวงฉบับที่ 344 (พ.ศ.2562) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่าที่จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือค่าที่พัก ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับที่จ่ายในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับที่จ่ายในจังหวัดอื่นซึ่งมิใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง แต่เมื่อรวมค่าที่บริการและค่าที่พักดังกล่าวทั้งในจังหวัดท่องเที่ยวรองและจังหวัดอื่นแล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่เกินจำนวน 20,000 บาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าอุปกรณ์และเครื่องแต่งกายสำหรับการศึกษาและการกีฬา
กฎกระทรวงฉบับที่ 345 (พ.ศ.2562) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้ออุปกรณ์และเครื่องแต่งกายสำหรับการศึกษาและการกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 15,000 บาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2HwMRvc

3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้า OTOP
กฎกระทรวงฉบับที่ 346 (พ.ศ.2562) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้า OTOP ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท
ทั้งนี้ สินค้า OTOP ดังกล่าวต้องลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้วและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2WfBv7h

4. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหรือค่าบริการหนังสือ
กฎกระทรวงฉบับที่ 347 (พ.ศ.2562) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหนังสือ หรือค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท จากผู้ขายหรือผู้ให้บริการในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2WiSCVH

5. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
กฎกระทรวงฉบับที่ 348 (พ.ศ.2562) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้ออาคารและที่ดินหรือห้องชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000,000 บาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีเงินได้ ซึ่งมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2JAV446

6. หลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุนรวมและภาษีเงินได้นิติบุคคลของกองทุนรวม
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 กำหนดให้ถือว่ากองทุนรวมซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายของต่างประเทศ (กองทุนรวม) เข้าลักษณะนิยามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้ ดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีกำหนดให้กองทุนรวมถือเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จึงกำหนดลักษณะของเงินได้ที่ได้รับจากหน่วยลงทุน การยกเว้นภาษีเงินได้ และการเสียภาษีเงินได้ ดังนี้
1.1 เงินปันผล ส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (รวมถึงกองทุนรวม) เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข)
1.2 ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหน่วยลงทุน รวมทั้งเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวม เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช)
1.3 ยกเลิกหลักเกณฑ์ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม และเงินได้ของกองทุนรวมตามมาตรา 42 (23) และ (24) แห่งประมวลรัษฎากร
1.4 ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยที่ได้รับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) จากกองทุนรวมจะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ดังกล่าว โดยให้ผู้จ่ายหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้และไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีกับเงินได้อื่นก็ได้

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณีกำหนดให้กองทุนรวมถือเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จึงกำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ และการเสียภาษีเงินได้ ตลอดทั้งแก้ไขอัตราภาษีเงินได้ของมูลนิธิหรือสมาคม ดังนี้
2.1 แก้ไขหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้ซึ่งเป็นเงินปันผลจากกองทุนรวมเป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง หรือทั้งจำนวนตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ให้สอดคล้องกับคำนิยามของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลข้างต้น
2.2 กำหนดให้กองทุนรวมไม่ต้องนำรายได้ที่มิใช่รายได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) มารวมคำนวณเป็นเงินได้ แต่ให้เสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ดังกล่าวก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งนี้ เงินได้ดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
2.3 กำหนดให้ยกเลิกอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม (2) (จ) สำหรับรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้อันมิใช่รายได้ตามมาตรา 65 ทวิ (13) ที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 และกำหนดให้รายได้ดังกล่าวเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ไว้ตามมาตรา 67 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2YIrcpG

ข่าวภาษี

1. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินและการนำส่งข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้เงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินด้วยบัตรเดบิต หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งได้มีการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการนั้นให้กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เงินชดเชยดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่เกินหนึ่งพันบาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2X2XM5c

2. การปรับปรุงแก้ไขการเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้ายาสูบ
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้การยาสูบแห่งประเทศไทยเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้ายาสูบซึ่งเป็นทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทุกทอด ที่ซื้อสินค้ายาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ (วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561) จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562
ทั้งนี้ ให้เงินได้จากการขายสินค้ายาสูบที่การยาสูบแห่งประเทศไทยได้เสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าดังกล่าวทุกทอดตามมาตรา 48 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ (วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561) จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2VVAHVD

3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายเวลาการจดแจ้งการขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการประกอบกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดให้มีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสำหรับกำไรสุทธิจากรายได้ที่เกิดจากการผลิตสินค้าหรือการให้บริการและมีการใช้บริการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/30Esyn5

4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิในการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เฉพาะส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต ไม่ว่าจะกระทำในประเทศหรือนอกประเทศเป็นเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้สิทธิประโยชน์ ได้แก่ โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ซึ่งจำหน่ายคาร์บอนเครดิตประเภท Voluntary Emission Reductions (VERs) ที่ได้ขึ้นทะเบียนการดำเนินโครงการจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

2. การเริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้สำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ซึ่งจำหน่ายคาร์บอนเครดิตประเภท Voluntary Emission Reductions (VERs) ให้เริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีแรกเมื่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ออกใบรับรองการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ

3. ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของกิจการและโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ โดยให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเดียวกันในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/30Esyn5

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2375/2561
ระหว่าง                นาย ส.                  โจทก์
กรมสรรพากร        จำเลย
เรื่อง ฐานภาษีสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อเท็จจริง : โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการขายอาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งสำนักงาน และย่านการค้า แต่โจทก์แสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แสดงยอดขายเดือนละ 175,000 บาท หรือประมาณวันละ 7,000 บาท เท่ากันทุกเดือน เจ้าพนักงานประเมินจึงเข้าตรวจสอบสถานประกอบการแล้วพบว่าโจทก์ยื่น ภ.พ. 30 แสดงยอดขายไม่เหมาะสมกับสภาพของกิจการ เมื่อเปรียบเทียบกับยอดรายได้ตามคำให้การของโจทก์ที่ให้การว่ามีรายได้วันละ 15,000 ถึง 17,000 บาท ประกอบกับหลักฐานทางการเงินอื่น ๆ แล้วจึงประเมินโดยใช้เกณฑ์เฉลี่ยยอดขายวันละ 15,000 บาท คูณด้วย 26 วัน เพื่อให้ได้ยอดรายรับต่อเดือนแล้วคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม
ประเด็นที่ต้องพิจารณา : การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกา : เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบข้อมูลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการของโจทก์ ประกอบคำให้การของโจทก์ถึงยอดรายได้ต่อวันและพยานหลักฐานทางการเงินอื่น ๆ แล้ว พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าโจทก์ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดมูลค่าที่ควรได้รับเพื่อประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ตามกฎหมาย การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบด้วยกฎหมาย
ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว เนื่องจากตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรประเภทที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหมายถึง บุคคล (ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล) ซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ

การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้า ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ต้องคำนวณจากมูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า หรือกรณีขายสินค้าโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ก็ได้กำหนดให้ถือราคาตลาด ณ วันที่มีการขายสินค้าเป็นมูลค่าที่ผู้ประกอบการได้รับ เพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการต้องเสีย ทั้งนี้ตามมาตรา 79 ประกอบมาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น จากกรณีข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานปรากฎว่าผู้ประกอบการแสดงยอดรายได้ต่ำกว่ามูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า จึงไม่เป็นไปตามประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินยอดรายรับทั้งหมดให้ถูกต้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานดังกล่าวได้

นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760