จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤษภาคม 2561

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 89 พฤษภาคม 2561

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดากรณีจ่ายเงินลงหุ้นหรือลงทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

ข่าวภาษี

1. มาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย

2. ขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 576/2560

ระหว่าง             นาง  ก.                          โจทก์

กรมสรรพากร                 จำเลย

เรื่อง  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดากรณีจ่ายเงินลงหุ้นหรือลงทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

         กฎกระทรวง ฉบับที่ 337 กำหนดยกเว้นเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา กรณีจ่ายเงินลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยยกเว้นเงินได้ให้ตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่รวมกันทั้งหมดไม่เกินหนึ่งแสนบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562

            ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2HLYOPw

 

ข่าวภาษี
1. มาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน และให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว        ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมด หรือโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน  และให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน แต่ไม่ใช่เป็น การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม  ทั้งนี้ รายจ่ายที่สามารถนำไปหักรายจ่ายได้จะต้องเป็นรายจ่ายตามที่กำหนด และเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามความข้างต้นต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ควบเข้ากันหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2EXDXm6

 

2. ขยายเวลามาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินการขายสินค้าหรือการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ เฉพาะการโอนทรัพย์สินและการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

2. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ที่จดทะเบียนจัดตั้ง  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ได้รับยกเว้นเงินได้เป็นจำนวน ร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชีมาเป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีได้รับการจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2riuLEQ

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 576/2560

ระหว่าง             นาง   ก.                         โจทก์

กรมสรรพากร                 จำเลย

เรื่อง      ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โจทก์เป็นพนักงานของธนาคาร ข. ได้เข้าร่วมโครงการลาออกก่อนเกษียณอายุ โดยได้รับอนุมัติให้ลาออกเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 ขณะนั้นโจทก์มีอายุ 58 ปี และโจทก์เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรประเภทเงินได้บุคคลธรรมดา  ซึ่งธนาคาร ข. หักภาษีจากเงินที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำส่งเป็นภาษีเงินได้ของโจทก์ให้แก่จำเลยในปีภาษี 2551

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิจารณาแล้วเห็นว่า ถึงแม้ว่าโจทก์จะลาออกเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์  แต่การลาออกดังกล่าวเป็นไปตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2551 ซึ่งไม่ใช่การลาออกตามปกติ แต่ถือเป็นข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงานเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือก่อนอายุ 60 ปี บริบูรณ์ เมื่อโจทก์ได้ใช้สิทธิตามโครงการนี้ก็ถือว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนั้นเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

 

ความเห็น

ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยเหตุผลดังนี้  เงินหรือผลประโยชน์ใดๆที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลูกจ้างลาออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย เป็นเงินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมเพื่อเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ประกอบกับ ข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น)  ก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ใน ข้อ 1 (1) ดังนี้ กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และได้ออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ถึงแม้ว่าโจทก์จะได้ลาออกก่อนเกษียณอายุ (58 ปี) ซึ่งยังไม่ครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่การลาออกของโจทก์ดังกล่าวเป็นไปตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2551 ที่ธนาคาร ข. มีวัตถุประสงค์ให้เป็นทางเลือกสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติมานาน และต้องการพักผ่อนหรือมีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งเป็นการปรับเปลี่ยนสภาพกำลังคนให้เหมาะสม เห็นได้ว่าธนาคารใช้โครงการนี้เพื่อจูงใจให้พนักงานขอลาออกจากงาน  ด้วยต้องการลดกำลังคน และค่าใช้จ่ายที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งแตกต่างจากกรณีลาออกของพนักงานตามปกติธรรมดา ที่เกิดจากความต้องการของพนักงานฝ่ายเดียว

ดังนี้ การลาออกจากงานตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2551 จึงไม่ใช่การลาออกจากงานตามปกติ แต่เกิดจากความประสงค์ของธนาคาร ข.  ที่ให้เป็นข้อกำหนดในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงานเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือก่อนอายุ 60 ปี บริบูรณ์ก็ได้ ดังนั้นการที่โจทก์ได้ใช้สิทธิตามโครงการดังกล่าว ก็ถือว่าโจทก์เกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว  และเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

 

นางสาวพนิดา  นามปวง

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760

 

 

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

   

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th