จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนตุลาคม 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

 

 

ฉบับที่ 82 เดือนตุลาคม 2560

         ธ เสด็จสู่ฟ้ามิคืนสู่ดิน
ชนทั่วปฐพีฝืนก้มหน้า
ฝนโศรกหลั่งนองพื้นนานเนิ่นปีกว่า
คราส่ง ธ สู่ฟ้าบ่ล้างโศรกไทย

พุทธิมา เกิดศิริ : ประพันธ์

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด
  1. เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้จากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ภาคตะวันออก)
  2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายจ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารห้องชุด หรือส่วนควบของอาคารหรือห้องชุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย
  3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายจ่ายค่าซ่อมแซมรถหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในรถที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย
  4. แก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศไทย เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
  5. หักลดหย่อนหรือหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินบริจาคผู้ประสบอุทกภัยได้ 1.5 เท่า
  6. ขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ข่าวภาษี
  1. ร่างอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา
  2. ร่างกฎกระทรวงยกเว้นเงินได้สำหรับรายจ่ายค่าประกันสุขภาพ
  3. ขยายเวลาการพิจารณากฎหมายภาษีที่ดิน
  4. กรมสรรพากรยืนยันการใช้พร้อมเพย์ไม่มีความสัมพันธ์กับการตรวจสอบภาษีหรือการเรียกคืนภาษีย้อนหลัง

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5560/2559

ระหว่าง                 บริษัท ซ.                                             โจทก์

กรมสรรพากร                                      จำเลย

เรื่อง                     การออกใบลดหนี้

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้จากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ภาคตะวันออก)

ตามที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 641) พ.ศ.2560 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้ (ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยหรือลูกจ้าง) เหลืออัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยองนั้น ต่อมาได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 306) กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม เช่น มีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศอย่างน้อยตามระยะเวลาที่กำหนด  และได้รับเงินเดือนจากนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/kfxGwT และ https://goo.gl/68xWHS

 

2. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารห้องชุด หรือส่วนควบของอาคารหรือห้องชุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย

กฎกระทรวง ฉบับที่ 331 (พ.ศ. 2560) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 307) ยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร หรือห้องชุดฯ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย ซึ่งผู้ใช้สิทธิดังกล่าวต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่า หรือผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน โดยมีหลักฐานการจ่ายเงิน หนังสือสัญญาซื้อขายหรือหนังสือสัญญาเช่า เป็นต้น

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/TLrmF8 และ https://goo.gl/iXH34T

 

3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมรถหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในรถที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย

กฎกระทรวง ฉบับที่ 331 (พ.ศ. 2560) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 308) ยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย ซึ่งผู้ใช้สิทธิดังกล่าวต้องมีหลักฐานการจ่ายเงิน หรือหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถหรือหลักฐานแสดงการเช่าซื้อรถ เป็นต้น

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/TLrmF8 และ https://goo.gl/U9Cn4t

 

4. แก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศไทย เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้  (ฉบับที่ 137) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศไทย เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป

ต่อมา ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้  (ฉบับที่ 309) ได้ยกเลิกข้อ 5 และข้อ 6 จากให้ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยเงินฝากต้องแจ้งเลขประจำตัวประชาชนและข้อมูลของผู้มีเงินได้ตามหนังสือแจ้งการขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็น แจ้งเพียงข้อมูลของผู้มีเงินได้ตามหนังสือแจ้งฯ เท่านั้น

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/H8wztZ และ https://goo.gl/2bLPbz

 

5. หักลดหย่อนหรือหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินบริจาคผู้ประสบอุทกภัยได้ 1.5 เท่า

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 645) พ.ศ. 2560 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึง 31 ตุลาคม 2560 โดยบุคคลธรรมดาสามารถหักเป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุด 1.5 เท่าของเงินบริจาค ทั้งนี้เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น และกรณีผู้บริจาคเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/niEN9Y

 

6. ขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 646) พ.ศ. 2560 กำหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากรเหลือร้อยละ 6.3 เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นเป็นอัตราร้อยละ 7 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 และจัดเก็บในอัตราร้อยละ 9 เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นเป็นอัตราร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/9qxgiy

 

ข่าวภาษี

1. ร่างอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติร่างความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไทย-กัมพูชาตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รับไปดำเนินการตามแบบพิธีทางการทูตและกฎหมายต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/PZRU5U

 

2. ร่างกฎกระทรวงยกเว้นเงินได้สำหรับรายจ่ายค่าประกันสุขภาพ

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่… (พ.ศ….) เพื่อยกเว้นเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สำหรับค่าเบี้ยประกันสุขภาพนั้นเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนเบี้ยประกันตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้กรณีเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตตามข้อ 2 (61) วรรคหนึ่ง และ กรณีเงินฝากไว้กับธนาคาร (94) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/xav816

 

3. ขยายเวลาการพิจารณากฎหมายภาษีที่ดิน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของคณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 2 จะมีการขยายเวลาการพิจารณากฎหมายภาษีที่ดินออกไปอีก 60 วัน ทำให้จากเดิมจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนขยายระยะเวลาสิ้นสุดเป็นเดือนพฤศจิกายน 2560 ในส่วนของการมีผลบังคับใช้นั้นสนช.ยืนยันที่จะให้กฎหมายภาษีที่ดินมีผลบังคับในปี 2562

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/BJMmTU

 

4. กรมสรรพากรยืนยันการใช้พร้อมเพย์ไม่มีความสัมพันธ์กับการตรวจสอบภาษีหรือการเรียกคืนภาษีย้อนหลัง

กรมสรรพากรชี้แจงว่าการใช้พร้อมเพย์เป็นช่องทางการโอนเงินช่องทางหนึ่งเช่นเดียวกับการโอนเงินผ่านทาง e-Banking หรือผ่านทางเคาน์เตอร์ธนาคาร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีการส่งให้แก่กรมสรรพากร เฉพาะในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้เสียภาษีรายนั้นยื่นเสียภาษีไม่ถูกต้องเท่านั้นที่กรมสรรพากรมีอำนาจออกหมายเรียกให้ธนาคารส่งข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน (ไม่ว่าจะทำผ่านช่องทางใดก็ตาม) ให้แก่กรมสรรพากร

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/M6aUWw

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5560/2559

ระหว่าง                 บริษัท ซ.                                             โจทก์

กรมสรรพากร                                      จำเลย

เรื่อง                     การออกใบลดหนี้

 

การตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง มีลักษณะเป็นการซื้อขายที่สามารถคำนวณราคาได้ปกติก่อนทำการตกลงซื้อขาย การที่โจทก์ลดราคาสินค้าให้แก่ลูกค้าเนื่องจากมีข้อตกลงกับลูกค้าว่าจะเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าหากต้นทุนสินค้าเปลี่ยนแปลงไป ข้อตกลงดังกล่าวไม่ว่าจะมีอยู่แต่แรกหรือตกลงในภายหลัง ก็ล้วนประสงค์ให้ค่าตอบแทนจากการขายสินค้าเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นการให้ส่วนลดเมื่อต้นทุนสินค้ามีราคาลดลง ไม่ใช่เป็นการคำนวณราคาสินค้าที่ผิดพลาดสูงกว่าราคาที่เป็นจริง อีกทั้ง โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การออกใบลดหนี้แก่ลูกค้านั้น โจทก์ได้คำนวณราคาสินค้าแต่ละรายการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริงเพราะเหตุใด ดังนั้น การออกใบลดหนี้ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 82/10 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ความเห็น

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือให้บริการ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ หากต่อมาราคาสินค้าหรือค่าบริการมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงและมีเหตุที่ต้องเพิ่มหรือลดราคาสินค้าหรือค่าบริการตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ แล้วแต่กรณี ซึ่งใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้นั้น ถือเป็นใบกำกับภาษีอย่างหนึ่ง ที่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้เขียนจะขอสรุปเฉพาะเหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถออกใบลดหนี้ได้ เพื่อให้ท่านเข้าสามารถเข้าใจถึงเหตุผลตามคำพิพากษาฉบับนี้ ดังนี้

เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถออกใบลดหนี้ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ซึ่งประมวลรัษฎากรได้บัญญัติไว้ในมาตรา 82/10 ดังนี้

1. มีการลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกันสินค้าชำรุดเสียหายหรือขาดจำนวน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูง กว่าที่เป็นจริงหรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด

2. มีการลดราคาค่าบริการเนื่องจากการให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน บริการขาดจำนวน คำนวณราคาค่าบริการ ผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด

3. ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด

4. มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากเหตุและตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

นอกจากนี้ ยังมีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/10 (1) (2) (3) (4) ได้แก่กำหนดเหตุอื่นที่สามารถออกใบลดหนี้ได้ ดังนี้

1. เหตุเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเงินอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อผูกพันในกฎหมาย

2. เหตุเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการคืนเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า

3. เหตุเนื่องจากมีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน

4. เหตุเนื่องจากมีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนและผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะที่กระทำภายในเวลาอันสมควร

5. เหตุเนื่องจากการให้บริการบกพร่อง หรือให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน

6. เหตุเนื่องจากไม่มีการให้บริการตามสัญญา

เมื่อพิเคราะห์จากประมวลรัษฎากรและประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) แล้ว เห็นได้ว่าเหตุที่ผู้ประกอบการสามารถออกใบลดหนี้ได้นั้น มีทั้งสิ้น 10 กรณีด้วยกัน หากผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบลดหนี้โดยมิได้อาศัยเหตุดังกล่าว ก็ถือเป็นการออกใบลดหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้ที่ออกใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิจะออก ผู้นั้นจะต้องรับผิดตามจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบลดหนี้ และเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษี นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าปรับอีก 2,000 บาท และอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท อีกด้วย

เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาฟังได้ว่า โจทก์ออกใบลดหนี้โดยอาศัยข้อตกลงว่าโจทก์จะลดราคาสินค้าให้แก่ผู้ซื้อเมื่อโจทก์มีต้นทุนราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เข้าลักษณะของการคำนวณราคาสินค้าผิดพลาดในขณะที่ขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งข้อตกลงในการลดราคาสินค้าเมื่อต้นทุนลดลงดังกล่าวไม่ใช่เหตุที่โจทก์จะสามารถออกใบลดหนี้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การออกใบลดหนี้ของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้เขียนเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น

อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าผู้ประกอบการจะไม่สามารถลดราคาสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ลูกค้าของตนได้ หากกรณีไม่เข้าเหตุในการออกใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 10 กรณีตามที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการยังคงสามารถออกใบลดหนี้ทางการค้าให้แก่กันได้ เพียงแต่ไม่สามารถปรับลดยอดภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีฉบับเดิมลงด้วยการออกใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้เท่านั้น

 

ธนินท์รัฐ เหลืองถาวรพจน์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด เลขที่ 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทรศัพท์ (66) 2680 9777 Email: kamphols@dlo.co.th

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th