• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤศจิกายน 2559

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤศจิกายน 2559

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 71 เดือนพฤศจิกายน 2559

 

         น้ำตาชนร่ำไห้หลั่งทั่วแผ่นดิน
น้อมส่งองค์ภูมินทร์สู่ฟ้า
สิ้นแล้วมิ่งอมรินทร์ธ ท่านปกไทย
สูรย์ไม่สาดส่องหล้าดั่งฟ้าลาดิน

พุทธิมา เกิดศิริ : ผู้ประพันธ์

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1.    หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.    ขยายเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี

 

ข่าวภาษี

1.    ครม.ไฟเขียวคลังแก้กฎหมายภาษีเงินได้ขายอสังหาริมทรัพย์

2.    คลังวางแผนเก็บภาษีเพิ่มจากเจ้าของที่ดิน หลังราคาพุ่งจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

3.    คลังมั่นใจ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ บังคับใช้ปี 60

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2050/2559

ระหว่างบริษัท อ.โจทก์
กับกรมสรรพากรจำเลย
เรื่องค่าลิขสิทธิ์อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3)

 

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ค่าตอบแทนจากการให้บริการผลิตรถยนต์ต้นแบบฯ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 210) ได้เพิ่มเติมข้อความในข้อ 2 (22) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40 โดยกำหนดให้ค่าตอบแทนที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับจากการให้บริการผลิตรถยนต์ต้นแบบ หรือรถจักรยานยนต์ต้นแบบที่ใช้เพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตนั้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร

หากผู้ประกอบการประสงค์จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและการอนุมัติให้เป็นผู้วิจัยพัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์จากกรมสรรพสามิตมาแสดง

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/xVDScu

2. ขยายเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ 65/2559 กำหนดขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 ซึ่งเมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นแล้วรวมเป็นอัตราร้อยละ 7 ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 30 กันยายน 2560

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/NJoUaW

 

ข่าวภาษี

1. ครม.เห็นชอบให้คลังแก้กฎหมายภาษีเงินได้ขายอสังหาริมทรัพย์

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เกี่ยวกับฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดให้ใช้ราคาที่ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามความเป็นจริง หรือราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเดิมใช้ราคาประเมินพียงเป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้ดังกล่าว

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/oHiLm7

2. คลังวางแผนเก็บภาษีเพิ่มจากเจ้าของที่ดิน หลังราคาพุ่งจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีจากรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากส่วนต่างของราคาที่ดินที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ทั้งการลงทุนถนน มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ สนามบิน หรือรถไฟต่างๆรวมไปถึงโครงการลงทุนผ่านงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะจัดเก็บภาษีเจ้าของที่ดินซึ่งมีที่ดินสอดรับกับแผนการลงทุนของรัฐบาลมีการนำที่ดินมาหาผลประโยชน์ ทำให้ราคาที่ดินดังกล่าวมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยกระทรวงการคลังก็จะเข้าไปพิจารณาจัดเก็บภาษีจากส่วนต่างราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นในปี 2560

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/M8jW81

3. คลังมั่นใจ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ บังคับใช้ปี 60

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลังกล่าวในงานสัมมนา “ข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่” จัดโดยคณะกรรมการกฎหมายภาษีและกฎระเบียบ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ผ่านการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และมีการตั้งข้อสังเกตอยู่ 2-3 เรื่องที่จะต้องนำมาปรับปรุง ก่อนจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะมีการเสนอรัฐบาลเห็นชอบในส่วนของอัตราการจัดเก็บจริง ซึ่งคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2560 พร้อมยืนยันว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมีบ้านหลังแรกอย่างแน่นอน โดยการจัดเก็บภาษีหลักๆ จะอยู่ในกลุ่มที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเป็นหลัก

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/7jGdWS

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2050/2559

ระหว่างบริษัท อ.โจทก์
กับกรมสรรพากรจำเลย
เรื่องค่าลิขสิทธิ์อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3)

 

โจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร โดยแยกรายการชิ้นส่วนของระบบตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติในใบขนสินค้าขาเข้าด้วยการแยกรายการแผ่นบันทึกข้อมูล FD (Software) และราคาออกจากอุปกรณ์อื่น แต่เนื่องจากแผ่นบันทึกข้อมูลดังกล่าวเป็นระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จำเป็นในการทำงานของเครื่องและใช้ได้กับเครื่องที่ระบุไว้เท่านั้น จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องควบคุมของระบบตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติ เพราะหากไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานดังกล่าว ระบบตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติก็ไม่สามารถทำงานได้ และข้อเท็จจริงยังฟังได้อีกว่า การนำเข้าสินค้าพิพาทไม่ใช่การซื้อแบบแยกชิ้นเฉพาะส่วนที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ แต่เป็นการซื้อสินค้าชนิดที่ต้องประกอบไปด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ซึ่งจำเป็นเฉพาะสินค้าชิ้นนั้น เพื่อสามารถใช้งานได้ในลักษณะที่ไม่สามารถแยกจากส่วนประกอบอื่นได้

กรณีของโจทก์จึงไม่อาจฟังได้ว่า โจทก์นำเข้าระบบตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติจากผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยแยกราคาโปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานออกจากโครงสร้างหลักให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ ที่จะถือเป็นค่าลิขสิทธิ์อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) โจทก์จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 และไม่ถือว่าเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและมีการใช้บริการในราชอาณาจักร อันจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากประเด็นข้างต้น กรมสรรพากรได้เคยวินิจฉัยตามหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรที่ กค 0706/1347 ว่าการซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดมากับเครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะควบคุมเครื่องจักรอุปกรณ์ให้ทำงานได้ หากมีการเรียกเก็บราคาค่าเครื่องจักรอุปกรณ์แยกต่างหากจากค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผู้จ่ายเงินต้องหักภาษีสำหรับการจ่ายค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์เนื่องจากเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

ผู้เขียนเห็นพ้องกับศาลฎีกาในประเด็นที่ว่าในกรณีที่มีการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์พร้อมโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยมีลักษณะการใช้งานอย่างสินค้าสำเร็จรูป (Complete Set) ทำนองเดียวกับการซื้อเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานโดยทั่วไป และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นโปรแกรมพื้นฐานที่ควบคุมให้เครื่องจักรอุปกรณ์หลักใช้งานได้ โดยไม่สามารถนำไปใช้กับเครื่องจักรอุปกรณ์อื่นได้ ถือว่าโปรแกรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรอุปกรณ์ แม้จะมีการแยกราคาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกจากราคาเครื่องจักรอุปกรณ์ ก็ไม่ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (3) อันอยู่ในบังคับต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์พร้อมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมีลักษณะเช่นเดียวกับการซื้อสินค้าทั่วไป จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและมีการใช้บริการในราชอาณาจักร อันจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น กรมสรรพากรจึงควรกำหนดทางปฏิบัติในการแนะนำเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาว่าโปรแกรมพื้นฐานของเครื่องจักรอุปกรณ์ ไม่ถือเป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว

 นางสาวผกามาศ สงวนราษฎร์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

 

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th