• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายน 2559

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายน 2559

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 69 เดือนกันยายน 2559

ภายในฉบับ

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. กำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าบริการหรือค่าที่พักในการท่องเที่ยวภายในประเทศ

3. ยกเว้นภาษีเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนการออมแห่งชาติ

4. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

5. หลักเกณฑ์การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสำหรับกิจการให้เช่ารถยนต์และทรัพย์สินที่ได้ใช้เป็นรถยนต์ต้นแบบ

6. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการบริจาคให้แก่สถานศึกษา

7. การยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 6)

ข่าวภาษี

1. ครม. เห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล

2. สรรพากรเห็นชอบในหลักการเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1109/2559

ระหว่างบริษัท ด.โจทก์
กับกรมสรรพากรจำเลย
เรื่องรายจ่ายที่เป็นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา และรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ (ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6), (13))

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. กำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 271) พ.ศ. 2559 กำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหน้าทีตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรดังเช่นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นทั่วไป

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/ZWvMYQ และ http://goo.gl/EU1wmS

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าบริการหรือค่าที่พักในการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 316 (พ.ศ.2559) กำหนดให้ขยายเวลาการได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พัก สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศที่ได้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2559 (เดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558) นั้น ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 273) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พักดังกล่าวให้แก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยมีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1)  กรณีโสด ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท

2)  กรณีมีคู่สมรส

–  มีเงินได้ฝ่ายเดียว ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท

–  ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ แต่ละฝ่ายได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท

3)  ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้จ่ายค่าบริการหรือค่าที่พัก เพื่อการเดินทางท่องเที่ยวของตนเอง

4)  มีหลักฐานการรับเงินจากผู้ประกอบการดังกล่าว โดยระบุชื่อผู้มีเงินได้ จำนวนเงิน และวัน เดือน ปี ที่จ่ายเงิน

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/kb5EGx และ http://goo.gl/kmPtGx

3. ยกเว้นภาษีเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนการออมแห่งชาติ

ตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 314 (พ.ศ.2559) กำหนดยกเว้นเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา โดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 274) และ (ฉบับที่ 275) พ.ศ.2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นเงินภาษีเงินได้ ดังต่อไปนี้

1.  เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาตินำไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินภายหลังจากที่ได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว

2.  เงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนการออมแห่งชาติจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ

ต่อเมื่อมีหลักฐานจากแพทย์หากทุพพลภาพ หรือหลักฐานแสดงถึงการตาย เป็นต้น

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/E7iGvp และ http://goo.gl/dpevHe และ http://goo.gl/VLZTjo

4. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 619) พ.ศ. 2559 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น โดย

– บุคคลธรรมดาต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น และ

– นิติบุคคลสามารถบริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สินก็ได้

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/yGmUvQ

5. หลักเกณฑ์การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสำหรับกิจการให้เช่ารถยนต์และทรัพย์สินที่ได้ใช้เป็นรถยนต์ต้นแบบ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 620) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับกิจการให้เช่ารถยนต์จะต้องไม่นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่น และทรัพย์สินที่เป็นรถยนต์ต้นแบบที่ใช้เพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต หากเข้าเงื่อนไขดังกล่าวสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมดได้ โดยต้องได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/nUSZpC

6. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการบริจาคให้แก่สถานศึกษา

ตามที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 616) พ.ศ. 2559 ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาค 2 เท่า เมื่อบริจาคให้แก่สถานศึกษา แต่ไม่รวมโรงเรียนกวดวิชา ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2561 พร้อมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ผู้บริจาค สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือกระทำตราสารนั้น

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1) กรณียกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาค

1.1) บุคคลธรรมดาต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น

1.2) นิติบุคคลสามารถบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้

2) กรณียกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขาย หรือกระทำตราสาร

ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือออกโดยสถานศึกษาผู้รับบริจาคดังกล่าว เช่น หนังสือขอบคุณ ใบอนุโมทนาบัตร เป็นต้น

ทั้งนี้ ประกาศ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/BtX7RT และ http://goo.gl/qVHMZr

7. การยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 6)

กรมสรรพากรได้ออกคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรฯ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2559 เพื่อแจ้งให้นิติบุคคลที่จดแจ้งเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวฯ ที่ได้นำส่งงบการเงินไว้แล้ว แต่พบข้อผิดพลาดทางบัญชีภายหลัง ให้สามารถปรับปรุงรายการทางบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2558 หรือปรับปรุงบัญชีเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดฯ อีกครั้งได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/MrTnCg

 

ข่าวภาษี

1. ครม. เห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล โดยอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างประกาศ 4 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1) เงินได้ตามมาตรา 40(7) และมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 60 โดยจะใช้บังคับกับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็น ต้นไป

2) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดา สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินใดๆ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งในระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2559 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

3) บริษัท SME มีสิทธินำรายจ่ายที่เกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ รายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี

4) ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นร้อยละ 0.01 เมื่อโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่

ทั้งนี้ การอนุมัติหลักการดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าจะได้มีการออกกฎหมาย

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/rTDpne

2. สรรพากรเห็นชอบในหลักการเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี

นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้เห็นชอบในหลักการที่จะให้สิทธิประชาชนผู้ซื้อประกันสุขภาพสามารถนำค่าเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปีสำหรับทุนประกันสุขภาพที่ไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการประกันสุขภาพมากขึ้นและเพื่อลดงบประมาณของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน แต่การเห็นชอบในหลักการดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าจะได้มีการออกกฎหมาย

ติดตามรายละเอียดจาก http://goo.gl/X9tHtO

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1109/2559

ระหว่างบริษัท ด.โจทก์
กับกรมสรรพากรจำเลย
เรื่องรายจ่ายที่เป็นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา และรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ (ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6), (13))

 

คดีนี้ โจทก์สำแดงราคาสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าไว้ต่ำกว่าราคาตามเอกสารที่ศุลกากรตรวจยึดได้ โจทก์ทราบราคาที่แท้จริงอยู่แล้ว แต่มีเจตนาสำแดงราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริงเพื่อให้โจทก์มิต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้โจทก์ต้องรับผิดในค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย ซึ่งเห็นได้ว่า ค่าปรับ เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทยจึงมิใช่รายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือค่าใช้จ่ายตามปรกติในการประกอบกิจการโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นรายจ่ายเพื่อปลดเปลื้องความรับผิดมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ จึงไม่อาจถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

อีกทั้งเห็นว่า ค่าปรับทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามมาตรา 65 ตรี(6) มิใช่ค่าปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น แต่รวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยที่ผู้เขียนมิได้มีส่วนได้เสียในคดี ผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการดังนี้

1. การคำนวณรายจ่ายเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 65 ตรี (6) นั้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 10/2558 ได้วินิจฉัยทำนองว่า การตีความว่าเบี้ยปรับและ/หรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญานั้นหมายความถึง เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น

2. แม้ว่าคำวินิจฉัยฯ จะไม่มีสถานะเป็นกฎหมายให้ศาลจะต้องนำมาวินิจฉัย แต่คำวินิจฉัยฯ ก็ถือได้ว่าเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เสียภาษีซึ่งได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2528 จึงยังควรใช้หลักการดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรใหม่หรือกฎหมายใหม่ที่กำหนดเปลี่ยนแปลงหลักปฏิบัติดังกล่าว มิเช่นนั้นแล้ว ย่อมขัดกับหลักการพื้นฐานแห่งการภาษีอากรที่ว่า กฎหมายภาษีอากรจะต้องมีความแน่นอนให้ผู้เสียภาษีอากรสามารถปฏิบัติตามได้

3. การตีความมาตรา 65 ตรี (6) ควรจะต้องตีความอย่างแคบ เนื่องจากว่าประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายมหาชนที่กำหนดภาระหน้าที่ให้ประชาชนปฏิบัติต่อรัฐซึ่งกระทบกระเทือนต่อสิทธิและทรัพย์สินของประชาชน จึงต้องถูกตีความโดยเคร่งครัดและระมัดระวังในทางที่จะไม่ก่อให้เกิดภาระหน้าที่หรือกระทบต่อสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายที่จะต้องเสียภาษีเพิ่ม

เหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนไม่อาจเห็นพ้องด้วยว่าการตีความเบี้ยปรับและ/หรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามมาตรา 65 ตรี (6) จะหมายความรวมถึงเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายอื่นด้วย

4. มาตรา 65 ตรี (6) ก่อนได้รับการแก้ไขในปี พ.ศ. 2525 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า “ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติม การตีความก็ต้องสอดคล้องไปกับถ้อยคำอื่นๆ ในอนุมาตราเดียวกัน คือเป็นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าปรับทางอาญาในเรื่องของภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งหากผู้บัญญัติกฎหมายประสงค์จะให้หมายถึงเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายอื่นแล้วก็ควรจะต้องกำหนดให้ชัดเจน หรือกำหนดขึ้นใหม่เป็นอนุมาตราอื่น

5. การที่ศาลได้นำมาตรา 65 ตรี (13) เรื่อง รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ มาปรับใช้กับเรื่องเบี้ยปรับและ/หรือเงินเพิ่ม ค่าปรับทางอาญานั้นเป็นกรณีที่คลาดเคลื่อน เพราะว่าเมื่อมีบทบัญญัติเฉพาะก็ควรนำบทบัญญัติเฉพาะขึ้นปรับกับข้อเท็จจริงแทนที่จะนำอนุมาตรา (13) ซึ่งมีลักษณะอันพิจารณาได้ว่าเป็นบททั่วไปมาปรับใช้

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นด้วยในหลักการและเหตุผลที่ว่า  รายจ่ายเพื่อปลดเปลื้องความรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่ควรถือว่าเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ เพราะว่านิติบุคคลไม่ควรแสวงหากำไรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกฎหมายภาษีอากรไม่ควรส่งเสริมให้สามารถนำรายจ่ายเหล่านั้นมาใช้เป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีอากรได้ แต่ทว่าหลักการและเหตุผลดังกล่าวยังไม่ใช่กฎหมายลายลักษณ์อักษรในปัจจุบัน กฎหมายภาษีเป็นบทบังคับที่จำกัดสิทธิและทรัพย์สินควรของประชาชนถูกตีความและบังคับใช้โดยชัดแจ้ง หากรัฐเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ยังไม่ชัดแจ้งก็ควรจะต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายมีความชัดเจนและสามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามให้แก่ผู้เสียภาษีอากรได้ต่อไปตามหลักการภาษีอากรที่ดี

นายมนตรี อัจฉริยสกุลชัย

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email: budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

 

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th