• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายน 2558

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายน 2558

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 58 เดือนกันยายน 2558

กฎหมายใหม่ล่าสุด

ข่าวภาษี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยลงรายจ่ายได้ 3 เท่า จากเดิม 2 เท่า

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับส่วนที่จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนเป็นจำนวน 3 เท่าของรายจ่ายจริง โดยไม่เกินจำนวนรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใดในรอบระยะเวลาบัญชี ตามหลักเกณฑ์ตามที่จะได้กำหนดต่อไป

ทั้งนี้โครงการวิจัยและพัฒนาฯต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการจากหน่วยงานที่กระทรวงการคลังกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/2Ic3tV

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขยายเวลาสิทธิประโยชน์รายจ่าย 2 เท่าสำหรับค่าบริจาคในการสนับสนุนทางกีฬา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษีที่ให้นำค่าบริจาคในการสนับสนุนการกีฬาไปเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง ซึ่งจากเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 ปี

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/8IzWOa

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าตนได้ลงนามเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปยังรัฐบาลแล้ว หลังจากนั้นต้องผ่านความเห็นชอบของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจก่อนเพื่อที่จะนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/1OnxQe

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2936/2558

ระหว่าง                    บริษัท ซ จำกัด                                   โจทก์

กับ                          กรมสรรพากร                                     จำเลย

เรื่อง                        การขายสินค้าโดยการส่งออกตามมาตรา 70 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร

เมื่อพยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งออกสินค้าเท่านั้น การส่งสินค้ากลับมายังประเทศไทยไม่เป็นผลดีแก่โจทก์เพราะไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่กิจการโจทก์ อีกทั้งเมื่อสินค้าตัวอย่างนั้นล้าสมัย โจทก์จะขายสินค้านั้นไปในต่างประเทศในราคาตลาดซึ่งอาจต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาทุนแล้วแต่กรณี จึงเป็นการบ่งชี้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะให้เกิดการซื้อขายสินค้าที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินค้าตัวอย่างในต่างประเทศโดยไม่มีเจตนาที่จะนำสินค้าทั้งหมดกลับมายังประเทศไทยตั้งแต่แรก

ประกอบกับโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าสินค้าพิพาทที่นำออกไปต่างประเทศเป็นชนิด ประเภท และจำนวนเท่าใด เพียงใด รายงานสินค้าเกี่ยวกับสินค้าตัวอย่างต่างประเทศและการทำประกันภัยสินค้าตัวอย่างต่างประเทศเป็นจำนวนเดียวกันหรือมีความสัมพันธ์กับสินค้าพิพาทหรือไม่ และลักษณะเฉพาะของสินค้านั้นยังทันสมัยเป็นที่นิยมในต่างประเทศในขณะที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบหรือไม่เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้านั้นยังใช้เป็นตัวอย่างได้

นอกจากนี้มาตรา 70 ตรี วรรคสอง (1) เป็นข้อยกเว้นความรับผิดแห่งภาษีจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องฟังว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์ส่งออกไปต่างประเทศให้แก่ตัวแทนมิใช่เป็นเพียงสินค้าตัวอย่างเพื่อนำไปแสดงแก่ลูกค้าเท่านั้น แต่โจทก์มีเจตนาจำหน่ายสินค้าดังกล่าวให้แก่ลูกค้าด้วย กรณีต้องถือว่าโจทก์ขายสินค้าพิพาทในประเทศไทยตามมาตรา 70 ตรี วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า หลักสำหรับการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ตัวแทนโดยมีลักษณะตามมาตรา 70 ตรีวรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากรนั้น ถือเป็นการขายในประเทศไทย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม (1)-(4) ของมาตราดังกล่าว ซึ่งตามคำพิพากษาในคดีข้างต้นมีประเด็นเฉพาะตาม (1) ว่า สินค้าที่ส่งออกไปเป็นสินค้าตัวอย่างหรือไม่ โดยศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยจากการดำเนินธุรกิจแล้วไม่เชื่อว่าสินค้าที่ส่งออกไปเป็นสินค้าตัวอย่างจริง เพราะไม่มีเจตนาที่จะนำสินค้าดังกล่าวกลับเข้ามายังประเทศไทย ด้วยเหตุนี้หากผู้ประกอบการมีเจตนาและส่งสินค้าไปเพื่อเป็นตัวอย่างในต่างประเทศ จึงควรมีเอกสารยืนยันและพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสินค้าตัวอย่างนั้นยังคงมีอยู่และไม่มีเจตนาขาย กรณีก็ไม่ถือว่าเป็นการขายในประเทศไทยดังนัยคำพิพากษาของศาลฎีกาข้างต้น

อนึ่ง การส่งสินค้าตัวอย่างตามมาตรา 70 ตรี วรรคสอง (1) นั้น เป็นคนละกรณีกับการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วมีการส่งกลับคืนมาให้ผู้ส่งในประเทศไทยตามมาตรา 70 ตรี วรรคสอง (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตาม (1) นั้นจะไม่คำนึงถึงระยะเวลาที่ส่งออกไปและนำกลับมา ด้วยเหตุนี้หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าของที่ส่งออกไปเป็นสินค้าตัวอย่างยังคงมีอยู่จริง แม้จะไม่ได้นำสินค้าตัวอย่างกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายใน 1 ปี กรณีจึงต้องถือว่าไม่เป็นการขายสินค้าในประเทศไทย ตามมาตรา 70 ตรี วรรคสอง (1) แห่งประมวลรัษฎากร

นายธรดล  จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนน วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th