• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ครม.มีมติออกมาตรการทางภาษีและมาตราการทางการเงิน ช่วยเหลือเอสเอ็มอี

ครม.มีมติออกมาตรการทางภาษีและมาตราการทางการเงิน ช่วยเหลือเอสเอ็มอี

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ให้ออก มาตรการทางภาษีและมาตราการทางการเงินหลายประการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี ) 

( ภาพนายกฯ จากเว็บ ทำเนียบรัฐบาล 8 กย.25558 )

มาตรการทางภาษี 2 ประการ มีรายละเอียด ดังนี้ 

1. ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี ) ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป  จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เป็น ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ 

2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี ) ที่ประกอบกิจการที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี ) ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

(1) เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดิจิตอล และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
(2) จะต้องจดแจ้งการขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร
(3) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(4) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี ยัง มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ให้ออก มาตราการทางการเงินอีก 3 ประการ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี ) ดังนี้

1. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ SMEs ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องสามารถประคองตัวให้อยู่รอดและสามารถดำเนินธุรกิจต่อ ไปได้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา โดยกำหนดให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบัน การเงินเฉพาะกิจที่อัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อ 7 ปี วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท และรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสิน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อภายใน 31 ธันวาคม 2558

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี ) โดยใช้วงเงินจากโครงการนี้ ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล”

2) โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน

3) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

4) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ และ

5) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง

2. การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS-5) ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยให้ SMEs ที่ขาดหลักประกันในการกู้ยืมเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น มีวงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อราย SMEs สูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกัน 7 ปี โดย บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยความเสียหายไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกัน และคิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 โดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก และจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.25 ในปีที่ 2 ร้อยละ 0.75 ในปีที่ 3 และร้อยละ 0.25 ในปีที่ 4 โดยผู้ประกอบการสามารถรับคำขอค้ำประกันได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559

3. มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี )  ผ่านการร่วมลงทุนในระยะเริ่มต้น (Start-up) ที่มีศักยภาพสูง โดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนแห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี )ที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตได้ต่อไป

ทั้งนี้ ผลของมาตรการการเงินจะส่งผลให้ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องจำนวน 60,000 ราย (วงเงินสินเชื่อ SMEs เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3.3 ล้านบาท) สามารถรักษาสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 240,000 คน (เฉลี่ย 4 คนต่อราย) และส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบทันที ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 1.94 ล้านล้านบาท (ใช้ค่าเฉลี่ย Multiplier Effect ที่ 9.7 เท่า ของวงเงินโครงการ) ช่วยให้ SMEs มีความเข้มแข็งและเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป ส่วนมาตรการภาษีจะช่วยลดภาระต้นทุนทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ