• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมิถุนายน 2558

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมิถุนายน 2558

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 55 เดือนมิถุนายน 2558

กฎหมายใหม่ล่าสุด

ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีทำธุรกรรมในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

                ครม.ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 584) พ.ศ.2558 ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้มีเงินได้จากการขายสินค้า ให้บริการรวมถึงกรณีขายอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในปีพ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ.2560 โดยมีสิทธิประโยชน์เช่น กรณีบุคคลธรรมดาได้รับสิทธิในการเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินได้ กรณีได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 3 สิทธิอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและสิทธิลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/4zecPv

ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจให้บริการบางประเภท

                ครม.ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 585) พ.ศ.2558 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 กำหนดให้การให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/kkRSPe

ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ)

ครม.ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 586) พ.ศ.2558 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับ IHQ โดยมีสิทธิประโยชน์ เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเหลือร้อยละ 15 สำหรับการจ้างแรงงานต่างด้าว สิทธิในการเลือกเสียภาษีบุคคลธรรมดาตามที่ถูกหักไว้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ สิทธิลดอัตราภาษีเหลือร้อยละ 10 หรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้บางประเภท เป็นต้น อย่างไรก็ดี ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนด

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/jk9SHC

ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC)

ครม.ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 587) พ.ศ.2558 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับ ITC โดยมีสิทธิประโยชน์ เช่น ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือร้อยละ 15 สำหรับการจ้างงานชาวต่างด้าว สิทธิในการเสียภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับชาวต่างด้าวตามที่ถูกหักไว้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการซื้อขายสินค้าในต่างประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนด สิทธิในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผล เป็นต้น อย่างไรก็ดี ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนด

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/NLgfzg

ข่าวภาษี

สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายภาษีมรดก

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดกมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีการแก้ไขในประเด็นการขยายฐานภาษีจากมรดกส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทเป็นให้เสียเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 10 แต่หากผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานให้เสียในอัตราร้อยละ 5

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/4LOj21

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 8369/2551

ระหว่าง                 นางสาว ง.                                             โจทก์

กับ                       กรมสรรพากร                                        จำเลย

การที่โจทก์ได้รับค่าจ้างจากการเป็นพิธีกร แม้ว่าบทบาทของโจทก์จะมีลักษณะเป็นผู้ดำเนินรายการระคนปนไปกับบทบาทของนักแสดงจนไม่อาจแยกได้ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบทบาทการแสดงของโจทก์ไม่ได้มีการแสดงเทียบเท่ากับบทบาทของนักแสดงละคร ภาพยนตร์หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆตามความในมาตรา 8 (43) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 และไม่ได้มีสัดส่วนมากไปกว่าบทบาทการเป็นผู้ดำเนินรายการ ดังนั้น เงินได้ที่โจทก์ได้รับจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) มิใช่เงินได้พึงประเมินที่โจทก์สามารถใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ตามมาตรา 8 (43) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

เมื่อพิจารณาถ้อยคำในมาตรา 8 (43) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ที่ว่า “การแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี หรือกีฬาอาชีพหรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ” ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าเงินได้พึงประเมินประเภทที่ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมากรณีนี้ ต้องเป็นเงินได้ที่เกิดจากการแสดงตามประเภทต่างๆที่กฎหมายกำหนดเป็นสาระสำคัญ ไม่อาจตีความรวมไปถึงเงินได้ที่เกิดจากการกระทำประเภทอื่นแต่มีการแสดงรวมอยู่ด้วยเพียงเล็กน้อย

จากคดีข้างต้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในรายการพิพาททุกรายการโจทก์ทำหน้าที่เป็นพิธีกรโดยไม่ได้ใช้ความสามารถถึงขั้นเป็นนักแสดงแม้จะมีบทบาทการแสดงอยู่บ้างก็เป็นเพียงสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เงินที่โจทก์ได้รับต้องถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดจากการเป็นพิธีกรมิใช่นักแสดงตามมาตรา 8 (43) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินได้ดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามกฎหมาย

อนึ่ง เมื่อพิจารณา ข้อ 1 วรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบกับข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.102/2544 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.128/2544) จะเห็นได้ว่าผู้มีเงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะย่อมได้รับสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ต้องพิจารณาจากการได้รับเงินได้เป็นคราวๆว่ารับในฐานะเป็นนักแสดงสาธารณะหรือไม่ ดังนั้น ตามคดีข้างต้นแม้ว่าโจทก์จะมีอาชีพหลักเป็นนักแสดงสาธารณะก็ตามแต่เมื่อเงินได้ที่โจทก์ได้รับ โจทก์รับในฐานะที่เป็นพิธีกร เงินได้ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ โจทก์ไม่อาจหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาจากเงินได้ดังกล่าวได้

นายธรดล  จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนน วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th