• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จ่ายค่าเสียหาย 25 ล้านบาทแก่ชาวบ้าน 131 ราย

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จ่ายค่าเสียหาย 25 ล้านบาทแก่ชาวบ้าน 131 ราย

เมื่อวันที่ 25 กพ.2558 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.1110-1128/2552 หมายเลขแดงที่ อ. 730-748/2557 ระหว่างนายคำ อินคำปาหรืออินจำปากับพวกรวม 131 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ผู้ถูกฟ้องคดี-กฟผ.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

(เครดิตภาพจาก Suriyan Tonghnueid )

โดยศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทำให้ชาวบ้าน อ.แม่เมาะหลายรายล้มป่วยและเสียชีวิต จึงพิพากษาให้ กฟผ.ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้ง 131 ราย รายละ 10,00 บาท ถึง 246,000 บาทรวมรวมเป็นเงินประมาณ 25 ล้าน ภายใน 30-60 วัน

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า พอใจในคำตัดสินของศาล แม้ว่าบางคนจะได้ค่าเยียวยาน้อยไปหน่อยก็ตาม ซึ่งเราได้ต่อสู้มาด้วยระยะเวลาที่ยาวนานถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน อย่างน้อยก็ได้พิสูจน์ให้สาธารณชนได้รู้ว่า พวกเราได้รับผลกระทบจริง ต่อจากนี้ไป ชุมชนแม่เมาะจะเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆในสังคมไทยที่จะต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเอง และกรณีดังกล่าว จะเป็นตัวอย่างให้ กฟผ.ต้องระมัดระวังในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินต่อไป

ข้อพิจารณา 

1.คดีนี้เป็นคดีสิ่งแวดล้อมที่ยุติว่า กฟผ.ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินโดยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการป้องกันมลพิษ ทำให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง กฟผ.สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่หาได้ทำไม่ จึงมิใช่ เหตุสุดวิสัย ตาม มาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถือเป็น การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

2.คดีนี้ ศาลฯฟังพยานผู้เชี่ยวชาญที่เบิกความว่า ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หากได้รับนานๆ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงน่าเชื่อว่า ผู้ฟ้องคดีที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ และโรคปอดระคายเคืองในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากการได้รับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาเกินมาตรฐาน จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฟผ.ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง “แหล่งมลพิษ” นั้น ตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 ที่บัญญัติว่า

 แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย แก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใด ๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้น จะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือ ประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามลพิษเช่นว่านั้นเกิดจาก
 (1) เหตุสุดวิสัยหรือการสงคราม
 (2) การกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ
 (3) การกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือ ความเสียหายเองหรือของบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้น
 ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่ง กำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นด้วย

3.ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายตามมาตรา 96 วรรคสอง แห่ง พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มิได้มีความหมายเฉพาะค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น เท่านั้น แต่ยังหมายถึง ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย ที่ได้รับหรือเกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย เช่น ค่าเสื่อมสมรรถภาพ สุขภาพ อนามัย ความสูญเสียด้านจิตใจ เป็นต้น 

4.คดีนี้แม้ศาลฯจะพิจารณากำหนดค่าเสียหายโดยคำนึงถึงพฤติการณ์ เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีระมัดระวังมิให้มีการแพร่กระจายของมลพิษจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายหรือเสียหาย และเพื่อป้องปรามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำผิดเช่นเดิมอีก แต่การกำหนดค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีรายละ 1200 บาทต่อครั้ง คิดเป็นค่าเสียหายรวมเพียงรายละ 10,000 บาท ถึง 246,000 บาท ก็น่าคิดว่า เป็นจำนวนค่าเสียหายที่ต่ำหรือน้อยเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับค่ารักษาพยาบาลและคุณค่าทางเศรษฐกิจของชีวิตชาวบ้านคนหนึ่งๆ 

5. คดีนี้ ใช้เวลาในการพิจารณาคดียาวนานถึง 11 ปี น่าจะถือได้ว่า ใช้เวลานานเกินไป ตามภาษิตกฎหมายที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม” – ( justice delayed is justice denied ) แสดงถึงปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมที่ควรต้องได้รับการปฏิรูปแก้ไขอย่างเร่งด่วนต่อไป

อ้างอิง 

1.สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจากสำนักงานศาลปกครอง 

2.คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ฉบับสมบูรณ์

3.ข่าวไทยรัฐ

4. พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ฉบับสำนักงานกฤษฎีกา