ข้อสังเกตต่อแถลงการณ์สภาทนายความ

ตามที่สภาทนายได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเมือง โดยเผยแพร่ ณ เว็บไซต์ของสภาทนายความเองนั้น

ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูง ข้าพเจ้ามีข้อทักท้วง และข้อสังเกตบางประการ เกี่ยวกับการออกแถลงการณ์ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ที่ฉบับที่ ๒-๔/๒๕๕๓ ความดังนี้

๑. สภาทนายความในฐานะองค์กรทางวิชาชีพ ในการส่งเสริม ควบคุมมาตรฐานของทนายความ จนอาจถือได้ว่าเป็นตัวแทน (represent) ของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในด้านทนายความ ดังนั้น การเคลื่อนไหวในแต่ละครั้งของสภาทนายความ ภายใต้การนำของนายกสภาทนายความในฐานะผู้แทนองค์กร ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โดยทั่วไปแล้ว เป็นที่เข้าใจของประชาชนว่า การแสดงออกของสภาทนายความ อาจถือเป็นการแสดงออกของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทั้งหมด เพราะฉะนั้น ในการออกแถลงการณ์ของสภาทนายความในแต่ละครั้ง ทางสภาทนายจำต้องกระทำด้วยความรอบคอบ และใช้ระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการออกแถลงการณ์อันอาจถือได้ว่า มีผลต่อสังคมโดยทั่วไป ซึ่งเข้าใจว่าแถลงการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นตัวแทนทางความคิดของสมาชิกสภาทนายความทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายบริหารของสภาทนายความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาทนายความในฐานะองค์กรนำ จะต้องถูกเรียกร้องให้แยกระหว่างความคิดเห็นในฐานะบุคคลธรรมดา ออกจากคำแถลงการณ์อันเป็นการแสดงออกของสภาทนายความทุกฉบับ เพื่อให้เกิดแถลงการณ์ที่มีลักษณะทั่วไป และเป็นกลางปราศจากอคติทั้งปวง

๒. การออกแถลงการณ์ของสภาทนายความ ปัจจุบันไม่มีหลักเกณฑ์อันปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า กรณีใดบ้างสมควรออก และกรณีใดบ้างที่ไม่สามารถจะออกแถลงการณ์ได้ นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏขอบเขตที่ชัดเจนของเนื้อหา ว่าจะนำเสนอในกรอบทางความคิดแบบใด แม้ตามที่สภาทนายความพยายามจะหยิบยกมาว่า เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปก็ตาม ก็ยังเป็นเรื่องที่กว้างขวางอันปราศจากขอบเขต ดังนั้น ตามที่ปรากฏตลอดมา จึงกลายเป็นเรื่องสุดแต่ใจของสภาทนายความ ในการออกแถลงการณ์ในแต่ละคราว ซึ่งไม่อาจจะกำหนดขอบเขตของเนื้อหาได้

๓. เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ผ่านมานี้ สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ ๔ เรื่อง การออกหมายเรียกนายพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

ตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อการทำหน้าที่เชิญคุณพงษ์พัฒน์มาชี้แจง กรณีมีผู้แจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยความเคารพต่อแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นพ้องด้วยที่สภาทนายความ จะออกแถลงการณ์ในลักษณะเฉพาะเจาะจงเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เนื่องจากการกระทำดังกล่าวนี้


สภาทนายความเองอาจถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกปฏิบัติต่อสังคม เพราะยังมีอีกหลายกรณีที่มีความร้ายแรงกว่ากรณีนี้ แต่สภาทนายความไม่ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านแต่อย่างใด เช่น กรณีทีมีการจับกุมนักเรียน นักศึกษาที่ชูป้ายประท้วง คัดค้านการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารบ้านเมืองในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ซึ่งการประท้วงดังกล่าวนี้ กระทำภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมือง และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลเหล่านี้ ยังเป็นเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต แต่กลับได้รับการปฏิบัติเยี่ยงผู้กระทำผิดคดีอุกฉกรรจ์ในการตรวจค้น ออกหมายจับ รวมทั้งเชิญตัวไปสอบสวนหลายต่อหลายครั้ง พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่ามีความร้ายแรงมากกว่าข้อเท็จจริงกรณีของคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควร ที่สภาทนายความจะออกแถลงการณ์เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเพิกเฉยต่อกรณีที่มีความร้ายแรงกว่า อันนำมาสู่ความไม่สบายใจของทนายความและสังคมโดยทั่วไป

๔. ท้ายสุดนี้ แถลงการณ์ของสภานายความตั้งแต่ฉบับที่ ๒-๔/๒๕๕๓ เป็นต้นมา เนื้อหามีความโน้มเอียงไปในทางที่สอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานของบุคคลบางกลุ่ม หรือบางพวก และโดยที่สภาทนายความเอง เป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย ในการให้เขาได้รับมาซึ่งความเป็นธรรมตามที่ควรจะได้รับการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงข้อกังขาของสังคมเช่นนี้ได้ ย่อมไม่อาจเกิดความไว้วางใจต่อประชาชนที่มีความเดือดร้อน ซึ่งผู้คนเหล่านั้นมีความเห็นทางการเมือง หรือมีความเชื่อต่างไปจากที่สภาทนายความแสดงออกผ่านทางแถลงการณ์แต่ละฉบับ ดังนั้น สภาทนายความเองควรต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือข้อสงสัยของสังคมในการเคลื่อนไหวในครั้งต่อ ๆ ไป

ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูง และโดยความมุ่งหวังของข้าพเจ้าต่อการยกระดับวิชาชีพทนายความ และการเป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการประสาทความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกัน

ที่มา ประชาไท