• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • เพียงใจ แก้วสุวรรณ “นโยบายภาษีต้องชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย”

เพียงใจ แก้วสุวรรณ “นโยบายภาษีต้องชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย”

เพียงใจ แก้วสุวรรณ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) คนใหม่ และนับเป็นนายกสมาคมที่เป็นผู้หญิงคนแรกในวงการ

ภาระหน้าที่จากนี้ไป ก็คือการบริหารอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงที่เรียกว่าเป็นขาขึ้น แต่พร้อม ๆ กันนี้ก็มีความท้าทายหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง พลังงาน หรือว่าภาคแรงงานที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้
ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นอย่างไร แนวทางของสมาคมจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากการสัมภาษณ์พิเศษของ "กรุงเทพธุรกิจ ยานยนต์"

 

ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมคนใหม่ มีแนวทางการบริหารงานสมาคมอย่างไร

แนวทางที่ดิฉันและคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่จะยึดมั่นในการดำเนินการ คือ การบริหารงานที่มุ่งหวังว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่สมาชิกที่ ประกอบด้วยผู้ผลิตรถยนต์ จักรยานยนต์และชิ้นส่วน ทั้งหมด 134 บริษัทอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยวิธีการดำเนินการที่โปร่งใสและชัดเจน และจะยึดมั่นในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาค รัฐ เอกชนและองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยมีความเจริญและ แข็งแกร่งเพียงพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและสานต่อเจตนารมณ์ ของทุกภาคส่วนในประเทศไทย ที่ต้องการเห็นการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่าง ยั่งยืน


เหตุการณ์ทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ ประเมินว่า มีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไรบ้าง

โดยภาพรวมไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ถ้าจะมีก็เป็นเพียงความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นจากมาตรการบางประการของภาครัฐ เช่น เคอร์ฟิวก่อนหน้านี้ เพราะโรงงานต้องทำงานใน Shift กลางคืน ส่งชิ้นส่วนเพื่อผลิตแบบ just in time แต่ก็ได้มีการแก้ปัญหาโดยขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ เพื่อไม่ให้การประกอบหยุดชะงัก

ผู้ประกอบการอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งประชาชนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ประเทศไทย เหมือนเช่นที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ก็ผ่านไปด้วยดี

ประเมินความต้องการของตลาดในประเทศ ภาคการผลิต และส่งออกรถยนต์ เป็นอย่างไร

ขณะนี้ยอดการผลิต จำหน่ายในประเทศและต่างประเทศยังเป็นไปตามเป้าหมายและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาจจะเป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากการคาดการณ์ตัวเลขการผลิตเบื้อง ต้นปี 2553 อยู่ที่ 1.4 ล้านคัน สำหรับตลาดในประเทศ 6 แสนคัน ต่างประเทศ 8 แสนคัน ผ่านไตรมาสแรกของปีนี้ ผลที่ออกมาเป็นไปตามเป้าหมายและมีแนวโน้มที่ดีอย่างเห็นได้ชัด มียอดขายในประเทศ 2.23 แสนคัน ส่งออก 2.73 แสนคัน และมีการผลิต 4 เดือน  4.88 แสนคัน

คาดว่าหลังจากไตรมาส 2 จะมีการประเมินตัวเลขการผลิตใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะเป็น 1.5-1.6 ล้านคัน คงต้องมีการประเมินตัวเลขกันอีกครั้งหนึ่ง

อะไรคือปัจจัยบวก
1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยเป็นไปได้รวดเร็วและต่อเนื่อง

2. ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในช่วงที่ไม่เคลื่อนไหวรุนแรง คือ 65-80 ดอลลาร์

3. อัตราดอกเบี้ยยังคงรักษาระดับเฉลี่ยพอดีไม่ขึ้นลง ยกเว้นความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ซึ่งผันผวนมากในขณะนี้ อาจจะมีผลกระทบบ้างทางด้านส่งออกกับยุโรป

ก่อนหน้ามีการชุมนุมทางการเมือง มีกระแสเรื่องการทบทวนโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

ถ้าหมายถึงภาษีสรรพสามิตที่เพิ่งจะมีข่าว ครม. อนุมัติเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีความเห็นว่า หลักการเหตุผลที่ ครม.อนุมัติ คือ เพื่อช่วยรัฐลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศและเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทย มีรายได้จากการปลูกพืชผลการเกษตรเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล

ทั้งนี้ โดยหลักการแล้วภาคเอกชนยินดีที่จะยอมรับในเหตุและผลที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศไทยโดยรวม แต่ในวิธีการที่รัฐได้อนุมัติเพื่อดำเนินการนั้น ในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่พอดีและความไม่สอดคล้องกันกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ มีอยู่หรือที่มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับรถยนต์ที่ใช้ อี 85 เพิ่มขึ้น 3% (จาก 25-22%) ขณะที่การลงทุนเพิ่มของการผลิตหรือนำเข้าไม่ได้มาก

เมื่อเทียบกับรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco-Car) ที่รัฐบาลกำหนดว่าต้องมีเงินลงทุนอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ถึงแม้จะกำหนดภาษีไว้ที่ 17% แต่การคำนวณ ณ ขณะนั้น ยังไม่ได้มีนโยบายเรื่อง อี 85 เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าจะให้เกิดความเที่ยงธรรม สำหรับผู้ลงทุนรถยนต์ทั้ง 6 รายที่เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐในการสร้าง Product Champion ตัวที่ 2 ให้แก่ประเทศแล้ว รัฐควรจะดำเนินการพิจารณาลดภาษีลงในอัตราเดียวกันด้วย


อย่างไรก็ตาม การปรับลดภาษีสรรพสามิตแต่ละครั้งนั้น รัฐจะต้องพิจารณาถึงโครงสร้างของรถประเภทอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ยุติธรรมและไม่กระทบต่อการดำเนินงานของผู้ลงทุนเดิม รวมทั้งไม่ไปทำลายโครงสร้างภาษีทั้งระบบอีกด้วย ถ้ามองอย่างเป็นกลางแล้ว นโยบายด้านภาษีของภาครัฐต้องมีความชัดเจนและไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งมีความแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย

สถานการณ์ของบุคลากรทางด้านยานยนต์ เป็นอย่างไร

การเพิ่มขึ้นของการผลิตอย่างรวดเร็ว ย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับบุคลากร ถ้าเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะเพิ่มขึ้นถึง 40-50% เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาวะที่ตกต่ำที่สุด คนงานที่ถูกปลดไป คงไม่สามารถเรียกกลับเข้ามาได้ครบและทันกับความต้องการขณะนี้ สภาพตอนนี้ยังเกิดมีการแย่ง แข่งขันในเรื่องค่าแรงสูงมาก แต่อุตสาหกรรมยานยนต์อาจจะได้เปรียบตรงสามารถจ้างค่าจ้างที่สูงกว่าได้ จึงสามารถดึงดูดแรงงานเข้าสู่การผลิตได้ดีกว่า

ในระยะยาว เรากำลังจะมี Automotive Human Recourse Institute ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือของการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดของไทยและญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งสถาบันนี้จะเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่คนในอุตสาหกรรม ยานยนต์ให้พัฒนาได้ยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ก็ยังคงสภาพด้านขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดีอยู่ รวมทั้งทักษะด้านแรงงาน สิ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัด คือ รถที่ประกอบในประเทศไทย มีปริมาณการส่งออกสูงขึ้นเป็นลำดับโดยต่อเนื่อง ซึ่งได้แสดงถึงคุณภาพและศักยภาพของคนและการผลิตที่ เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ไทยสามารถส่งออกได้ทั่วโลกรวมถึงประเทศที่มีระดับเทคโนโลยีที่สูงกว่าประเทศไทย อย่างเช่น ยุโรป หรืออเมริกา ด้วย

ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ