• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ตรวจค้นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ไตรมาสแรก มูลค่ากว่า 56.8 ล้านบาท

ตรวจค้นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ไตรมาสแรก มูลค่ากว่า 56.8 ล้านบาท

ไม่อยากเชื่อเลยว่า เปิดศักราชใหม่มาเพียงไตรมาสแรกของปีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าตรวจค้นจับกุมองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คิดเป็นมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดกว่า 56.8 ล้านบาท!!!

เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) พร้อมด้วยหมายค้นได้เข้าตรวจค้นจับกุมองค์กรธุรกิจในแปดจังหวัดตามพยานหลักฐานที่พบจากการสืบเสาะ ตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสและการร้องเรียนจากเจ้าของสิทธิ์ ซึ่งพบการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จริง

โพสต์โดย : Atita 10/05/2010 13:45

การเข้าตรวจค้นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งสำคัญที่สุดในไตรมาสนี้คือ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ โรงงานแห่งนี้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำพวกกระจก หลอดไฟ และอื่นๆ ให้กับบริษัทรถยนต์รายหนึ่ง รายงานของตำรวจระบุว่าชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตโดยโรงงานแห่งนี้เป็นของแท้ แต่ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในโรงงานเป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มูลค่าราว 13.1 ล้านบาท

ตัวเลขการเข้าตรวจค้นจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ในระดับเดียวกับสองปีที่ผ่านมา ในปี 2552 ตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ คิดเป็นมูลค่า 43 ล้านบาท ส่วนในปี 2551ตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 56 ล้านบาท

ตัวเลขการตรวจค้นจับกุมในช่วงสามปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ มูลค่าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ตรวจพบแตกต่างกันเล็กน้อยเนื่องจากขนาด ของบริษัทและประเภทธุรกิจ

เป้าหมายหลักในการเข้าตรวจค้นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คือองค์กรธุรกิจ ข่าวลือที่ว่ามีการเข้าตรวจค้นโรงเรียนและองค์กรสาธารณะอื่นๆ นั้นไม่เป็นความจริง

“ผลการจับกุมในไตรมาสแรกนี้เน้นย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า บริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และฝ่าฝืนกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นเสี่ยงต่อการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า” นางสาววารุณี  รัชตพัฒนากุล ที่ปรึกษาของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทยกล่าว “บริษัททุกแห่งในประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ บริษัทไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ดำเนินธุรกิจประเภทใด ตั้งอยู่ส่วนใดของประเทศ หากละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แล้วเสี่ยงต่อการถูกเข้าตรวจค้นทั้งสิ้น”

บริษัทต่างๆ ที่ถูกตรวจค้นจับกุมในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไตรมาสแรกของปี 2553 ประกอบด้วยโรงงานขนาดใหญ่ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก บริษัทออกแบบและรับเหมาก่อสร้าง โรงงานผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนหลายแห่ง นักพัฒนาเกมส์ บริษัทออกแบบตกแต่งภายใน สำนักงานสถาปนิก รวมทั้งบริษัทออกแบบอนิเมชั่นและกราฟฟิกหลายแห่ง

ผู้ที่รายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางสายด่วนโทร. 02-714-1010 หรือทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้รายงานจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th

เกี่ยวกับบีเอสเอ

สมาชิกบีเอสเอรวมถึง อโดบี, อจิเล้นท์ เทคโนโลยีส์, อัลเตียม, แอปเปิ้ล, อควาโฟล,เออาร์เอ็ม, อาร์ฟิก เทคโนโลยี, ออโต้เดสค์, ออโต้ฟอร์ม, อวีวา, เอวีจี,  เบนลี่ ซิสเต็มส์, ซีเอ,คาเดนส์, ซิสโก้ ซิสเต็มส์,  ซีเอ็นซี/มาสเตอร์แคม, คอเรล,  แดสเซิลท์ ซิสเต็มส์ โซลิดเวิร์คส์ คอร์ปอเรชั่น,  เดลล์, เอ็มบาร์คาเดโร, ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ – ในเครือบริษัทออร์โบเท็ค  วาเลอร์, เอชพี, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินทุธ, แคสเปอร์สกาย แล็บ,  แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์, มินิแท็บ, พาราเม็ทตริกซ์ เทคโนโลยี คอร์เปอเรชั่น,โปรเกรส, ควาร์ค, เควสท์ ซอฟต์แวร์, โรเซ้ตต้า สโตน, เอสเอพี, ซีเมนส์, ไซเบส, ไซแมนเทค,ซินนอปซิส, ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพร์ส และ เดอะ แมธเวิร์กส์

 
ที่มา  OpenSource2day