• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • 28 โครงการ “นอกมาบตาพุด” หนาว จ่อฟ้อง “ม.67” อุตฯโรงไฟฟ้า-ท่าเรือ

28 โครงการ “นอกมาบตาพุด” หนาว จ่อฟ้อง “ม.67” อุตฯโรงไฟฟ้า-ท่าเรือ

"ศรีสุวรรณ" ในนามสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ลุยฟ้องโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออีกรอบ คราวนี้ลามถึงจังหวัดชลบุรี "ไทยออยล์-อมตะ-พีทีที ฟีนอล-โรงไฟฟ้า-ท่าเรือ" เข้าข่ายโดนด้วย งานนี้จำเลยเก่า กระทรวงสาธารณสุขรอด เมินคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่ผ่อนผัน 9 โครงการให้ก่อสร้างต่อได้ ขู่เดินหน้ายื่นคณะกรรมการสิทธิ์ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ หวังปิดกั้นไม่ให้โครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงเดินหน้าต่อ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 10 มีนาคม สมาคมจะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางต่อหน่วยงานภาครัฐที่ได้มีการเห็นชอบ /อนุมัติโครงการลงทุนโดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรา 67(2) รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุว่า โครงการที่อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)/รายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA), การรับฟังความคิดเห็น และให้องค์การอิสระให้ความเห็นก่อนที่จะมีการอนุมัติ เป็นกรณีเดียวกับที่เคยฟ้องใน 76 โครงการมาบตาพุด

อย่างไรก็ตาม การฟ้องครั้งนี้จะขอให้ศาลปกครองพิจารณามีคำสั่งให้ระงับการดำเนินโครงการ ที่ยื่นฟ้อง เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยสมาคมจะรวบรวมข้อมูลโครงการพลังงาน-อุตสาหกรรม-ท่าเรือ ที่ได้รับความเห็นชอบ EIA ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง เฉพาะโครงการที่ได้รับความเห็นชอบ EIA หลังจากวันที่ 19 มิถุนายน 2552 (วันที่สมาคมยื่นฟ้อง 76 โครงการในครั้งแรก) และจังหวัดชลบุรี เฉพาะโครงการที่ได้รับความเห็นชอบ EIA หลังจากวันที่ 24 สิงหาคม 2550 (วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้)

"ขณะนี้สมาคมกำลังอยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลโครงการที่เข้าข่ายรุนแรงและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งโครงการเหล็ก, ทองแดง เป็นต้น สำนวนการฟ้องจะเหมือนกับครั้งแรก แต่สำหรับ ผู้ถูกฟ้องอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เดิมเคยฟ้อง 8 หน่วยงาน อาจจะมีการฟ้องหน่วยงานลดลง สมาคมคงไม่ฟ้องกระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการ" นายศรีสุวรรณกล่าว

สำหรับ กรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งผ่อนผันให้ 7 บริษัท จำนวน 9 โครงการในมาบตาพุด สามารถเดินหน้าโครงการในส่วนของการก่อสร้างได้ เนื่องจากเป็นส่วนที่ยังไม่สร้างผลกระทบและเป็นการบรรเทาอุบัติเหตุที่จะ เกิดขึ้น หากไม่มีการก่อสร้างต่อ ในประเด็นนี้สมาคมเห็นว่าเป็นการผิดเจตนาของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นคงจะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าว โดยสมาคมจะยื่นผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากสมาคมไม่สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ล่าสุดจากการ สำรวจข้อมูลเบื้องต้นของ "ประชาชาติธุรกิจ" โครงการอุตสาหกรรม-พลังงาน-ท่าเรือ ที่ได้รับความเห็นชอบ EIA ซึ่ง "เข้าข่าย" ที่จะถูกนายศรีสุวรรณหยิบยกขึ้นมาฟ้องให้ระงับการดำเนินการจะมีประมาณ 28 โครงการ แบ่งเป็นจังหวัดระยอง 14 โครงการ ได้แก่

 
1) โครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมไอพีพี ตั้งที่ ต.มะขามคู่ กิ่ง อ.นิคมพัฒนา ของบริษัท ไอ.พี.พี. (ไทยแลนด์) จำกัด
 
2) โครงการเพิ่มกำลังผลิตโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ของบริษัท บี เอส ที อิลาสโตเมอรัส จำกัด

3) โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีคาร์บอเนต 275,000 ตัน/ปี ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง ของบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด

 
4) การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าเพื่ออุตสาห กรรม ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) อ.ปลวกแดง ของบริษัท อมตะ สตีม ซัพพลาย จำกัด
 
5) โครงการโรงงานผลิตสารฟีนอล ของบริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ของบริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด
 
6) โครงการโรงงานผลิต purified terephthalic acid (PTA) (ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ) ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ของบริษัท อินโดรามา ปิโตรเคมี จำกัด
 
7) โครงการผลิตเหล็กเส้น ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา บริษัท เหล็กทรัพย์ตะวันออก จำกัด

8) โครงการโรงงานคลอร์อัลคาไลน์ โรงงานไวนิล และโรงงานผลิตผงพลาสติกพีวีวี นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)

 
9) โครงการถมทะเลและก่อสร้างท่าเทียบเรือและคลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งทำสัญญาร่วมดำเนินงานกับบริษัท ระยอง เทอร์มินัล จำกัด

10) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือและคลังผลิตภัณฑ์เหลวในเขต จ.ระยอง ของบริษัท พีทีที แทงค์เทอร์มินัล จำกัด

 
11) โครงการขยายระบบท่อขยายส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ของบริษัท ระยองไปป์ ไลน์ จำกัด อ.เมืองระยอง
 
12) โรงไฟฟ้าเพื่ออุตสาหกรรมปลวกแดง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ อ.ปลวกแดง ของบริษัท อมตะเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
 
13) โครงการ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 600 เมกะวัตต์ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ของบริษัท โกลว์ เอส พีพี 3 จำกัด และ
 
14) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ของบริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด

ส่วนที่จังหวัดชลบุรีมี 14 โครงการที่เข้าข่าย ได้แก่

 
1) โครงการเขตอุตสาหกรรมปิ่นทองโครงการ 3 (ก.ม. 9) ตั้งที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
 
2) โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองโครงการ 1 (ส่วนขยาย) ต.หนองขาม อ.ศรีราชา
 
3) โครงการเตาเผากากของเสียเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร
 
4) โครงการหน่วยกำจัดสารทำความเย็นที่เสื่อมสภาพที่นิคมอุตสาห กรรมอมตะนคร ของบริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด

5) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสหโคเจน (ส่วนขยายระยะที่ 2) ที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ต.หนองขาม อ.ศรีราชา

 
6) การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการปรับปรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ หน่วยที่ 3 ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ต.แหลมฉบัง อ.ศรีราชา
 
7) การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงงานหล่อฝาสูบเครื่องยนต์อะลูมิเนียมที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อ.พานทอง ของบริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด

8) การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ระยะที่ 1-8 ครั้งที่ 2 อ.เมือง และ อ.พานทอง ของบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 
9) โครงการโรงงานผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและเหล็กแท่ง (บิลเลต) ที่ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง ของบริษัท ไพศาลสตีล จำกัด
 
10) โครงการผลิตไฟฟ้าและ ไอน้ำเพื่ออุตสาหกรรมที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ต.บ้านเก่า อ.พานทอง ของบริษัท อมตะเพาเวอร์ จำกัด

11) โครงการขยายกำลังการผลิต โรงงานหลอมอะลูมิเนียมและทองแดง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี บริษัท เมทเทิลคอม จำกัด

 
12) โครงการโรงงานหล่อเหล็กรูปพรรณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อ.พานทอง ของบริษัท ไอซิน ทาคาโอก้า ฟาวน์ดริ บางปะกง จำกัด
 
13) โครงการผลิตแท่งทองแดง (ส่วนขยาย) นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ต.คลองตำหรุ อ.เมือง ของบริษัท โอเรียนเต็ลคอปเปอร์ จำกัด และ
 
14) โครงการผลิตของบริษัท ไทยโตไกคาร์บอนโปรดักส์ จำกัด ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา