• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • นายกฯประกาศเดินหน้าเก็บภาษีที่ดิน-มรดก อาจเป็นอัตราก้าวหน้า ตุนที่ดินไม่ใช้ทำประโยชน์ เก็บหนัก 2 เท่า

นายกฯประกาศเดินหน้าเก็บภาษีที่ดิน-มรดก อาจเป็นอัตราก้าวหน้า ตุนที่ดินไม่ใช้ทำประโยชน์ เก็บหนัก 2 เท่า

วันที่ 18 กรกฎาคม 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีชะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ คงสามารถเสนอเป็นกฎหมายได้ ในเรื่องภาษีที่ดินและทรัพย์สิน  ซึ่งมีการเสนอในขณะนี้ว่า ให้เก็บในอัตราก้าวหน้า
แล้วกันเงินส่วนหนึ่งมาแก้ปัญหา เป็นกองทุนที่ดินทำกินให้เกษตรเพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน แต่จะไม่จัดเก็บในอัตราสูง จนกระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน

"การไปขยับเรื่องภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม คงลำบาก ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรม ภาษีที่ดินและทรัพย์สิน เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้สำคัญ และจะเดินหน้า " นายอภิสิทธิ์
กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ " คิดเพื่ออนาคต ถอดโจทย์ประเทศไทย " ในโอกาสครบรอบ
32 ปี อสมท

นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าเรื่อง สิทธิ สวัสดิการ จะมีความชัดเจนตามลำดับ ทั้งเรื่องเรียนฟรี รักษาฟรี และนอกจากเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว จะเร่งรัดเบี้ยยังชีพผู้พิการ ที่ขณะนี้มี 3 แสนกว่าคนที่ยังไม่ได้รับ สิ่งจะเร่งทำต่อไปคือ การออม ต่อไปผู้สูงอายุ จะมีเงินออม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องสิทธินั้น ได้ให้แนวทางชัดเจนว่า รัฐบาลนี้ให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพคนทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะคนที่เห็นต่างกับรัฐบาล ให้แสดงความคิดเห็นได้ แต่สิ่งที่มีส่วนสำคัญมากในวันนี้คือ การใช้สิทธิ์หรือการอ้างการใช้สิทธิ โดยเฉพาะความเป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องยึดหลักสำคัญคือ ต้องเคารพกฎหมาย สิ่งที่ตนต้องตัดวงจรให้ได้คือ ต้องไม่ให้เกิดเรื่องของการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าโดยฝ่ายไหนก็ตามในภาครัฐ

"ผมแสดงออกชัดเจนจากการดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ใช้ความรุนแรง โดยภาครัฐในอดีต ทั้งเรื่องภาคใต้ การแก้ปัญหายาเสพติด โดยยังรักษาความมั่นคง และเดินหน้าเรื่องปรายยาเสพติดได้ โดยไม่ทำให้ภาครัฐถูกมองว่าใช้ความรุนแรง" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง สศค.ได้ยกร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. เสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนสิงหาคมนี้ ตามนโยบายของนาย กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นขั้นตอนต่อไป หากกฎหมายฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภาภายในปีนี้ คาดว่า กฎหมายนี้ จะมีผลบังคับใช้จริงภายในปี 2554 ตามที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล ข้อดีจะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 6 หมื่นล้านบาท

"ส่วนการดำเนินการในขณะนี้ ทาง สศค.ได้จัดให้มีการเดินสายจัดงานสัมมนา ให้ความรู้แก่นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ เกี่ยวกับการนำระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่รัฐบาลจะนำมาบังคับใช้ โดยเริ่มจากจังหวัดขอนแก่น, สุราษฎร์ธานีและที่เชียงใหม่ ที่จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 13-15 ก.ค.ที่ผ่านมา ครั้งต่อไปก็จะจัดที่ชลบุรี กรุงเทพฯและอุบลราชธานี คล้าย ๆ กับการทำประชาพิจารณ์ แต่เราจัดในรูปของงานสัมมนา"

นายสมชัยกล่าวต่อไปอีกว่า โครงสร้างของอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ จะมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดเก็บภาษี จากฐานของราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ประเมินโดยกรมธนารักษ์ ซึ่งจะแตกต่างจากภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่เก็บจากฐานของรายได้ในอัตรา 12.5%

แต่ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่เก็บ เพราะไม่มีรายได้ ดังนั้น เมื่อมีการนำระบบภาษีที่ดินแบบใหม่มาใช้ จะทำให้นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่นำที่ดินมาทำประโยชน์ จะเสียภาษีลดลง ส่วนผู้ที่กักตุนที่ดินไว้เก็งกำไร จะเสียภาษีมากขึ้น

โดยเฉพาะผู้ที่ปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อระบบเศรษฐกิจ จะมีการปรับอัตราเพิ่มขึ้นไปอีก 2 เท่าตัวทุก ๆ 3 ปีซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้มีการนำที่ดินที่กักตุนไว้ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มาก ยิ่งขึ้น

โครงสร้างของอัตราภาษี จะแบ่งออกเป็น 3 อัตรา ได้แก่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์ จะเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน, ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เสียภาษีอัตราไม่เกิน 0.1% ของมูลค่าทรัพย์สิน และที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.05% ของมูลค่าทรัพย์สิน

ส่วนที่ดินว่างเปล่าจัดเก็บในอัตรา 0.5% ของมูลค่าสินทรัพย์ ยกเว้นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นศาสนสถาน วัง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดินของทางราชการ เป็นต้น

รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยโครงการวิจัยเรื่อง นโยบายและมาตรการการคลัง เพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ พบว่า การถือครองที่ดินในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน มีการกระจุกตัวมาก โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกใช้ให้เป็นพื้นที่ทางการค้า อาทิ เยาวราช ปทุมวัน

จากการเก็บข้อมูลในปี 2551 กรุงเทพฯมีขนาดพื้นที่สามารถถือครองได้ 927,074 ไร่ 1 งาน 18.6 ตารางวา จำนวนโฉนดที่ดินทั้งหมดในกรุงเทพฯ 1,915,388 แปลง ผู้ที่ถือครองที่ดินในกรุงเทพฯมีจำนวน 1,464,207 ราย โดยผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในกรุงเทพฯ 14,776 ไร่ 1 งาน 39.7 ตารางวา ขณะที่ผู้ถือครองน้อยที่สุดในกรุงเทพฯ คือ 0.1 ตารางวา

ผลการวิจัยพบ ว่า การกระจายการถือครองที่ดินในเขตบางรัก สัมพันธวงศ์ และปทุมวัน ซึ่งเป็นเขตที่ราคาที่ดินสูงที่สุดในกรุงเทพฯ มีผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในเขตบางรัก ถือครองที่ดิน 643 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา ในเขตสัมพันธวงศ์ 22 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา และในเขตปทุมวันคือ 86 ไร่ 3 งาน 61.9 ตารางวา ทั้งนี้ การถือครองที่ดินเฉพาะประเภทบุคคลธรรมดา ผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ 2,036 ไร่ 2 งาน 57.3 ตารางวา

ในขณะที่การถือครองที่ดินในต่างจังหวัด เริ่มที่จะมีการกระจุกตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี หรือ จ.ฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งได้ถูกพัฒนาให้เป็นย่านอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลจากตำบลแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ระบุสัดส่วนการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินว่า พื้นที่รวมผู้ถือครองจำนวน มากที่สุด 10 อันดับแรกอยู่ที่ 755.06 ไร่ และข้อมูลจากเทศบาลหนึ่งใน จ.ชลบุรี ผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่มากที่สุด 19 อันดับแรกอยู่ที่ 2,008.66 ไร่

"การวิจัยของเราพบว่า ที่ไหนที่พัฒนาเป็นเขตพาณิชย์ การกระจุกตัวในการถือครองที่ดิน จะมีสูงมาก การขยายตัวของเมืองเร็วมาก ใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นว่าองค์การบริหารส่วนตำบลกลายเป็นเทศบาล เป็นเขตเมือง การกระจุกตัว ที่ดินจึงเกิดขึ้น สอดคล้องกับที่ดินภาคการเกษตร ที่ชาวนาส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่วัยชรา

อีก 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่า การกระจุกตัวของที่ดินจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีภาษีที่ดิน โดยคาดว่า อีกไม่เกิน 12 ปี เราจะเข้าสู่สังคมชราภาพ ผู้เกษียณอายุจะมีตัวเลข 14 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ เรามีตัวเลขอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่ายในการดูแลคนแก่ จะสูงมาก รัฐบาลต้องหารายได้มาดูแล เราจะหารายได้ที่ไหนมาใช้จ่ายเชิงสวัสดิการ"

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้ ยังพบอีกว่า การกระจายการถือครองที่ดินของครัวเรือน ที่ทำการเกษตรในประเทศไทย พ.ศ.2549 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร้อยละ 40 ของครัวเรือนภาคการเกษตร ไม่มีที่ดินเลย หรือถือครองที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ และส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตที่แท้จริง แต่เป็นการซื้อที่ดินของนายทุนเพื่อการเก็งกำไร

ดร.ณรงค์ให้ความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ ในอนาคตที่จะผ่านการพิจารณาจากสภานั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เนื่องจากนักการเมืองในสภาเอง ก็เป็นผู้สะสมที่ดินรายใหญ่ " คุณต้องไม่ลืมว่า นักการเมืองในสภาจำนวนหนึ่ง มีที่ดินเยอะ หลายร้อยไร่

แล้วคนพวกนี้ ก็หาประโยชน์จากเทศบาลตำบล คือการนับหนึ่งของความเป็นเมือง หลาย ๆ เขต ถูกยกขึ้นมาเป็นเทศบาลตำบล เพราะว่าความหนาแน่นของประชากรมีมากพอ ก็แปลว่าชุมชนการค้า ก็เริ่มเกิดขึ้น ที่ดินก็เริ่มแพงขึ้น นักการเมืองก็เริ่มกักตุนแล้ว"

"ยกตัวอย่าง ที่ดินก่อนตัดถนนราคาแปลงละ 1 ล้านบาท พอมีถนนผ่านราคาขึ้นเป็น 5 ล้านบาท เจ้าของที่ดิน ไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น 4 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้น ควรจะแบ่งกลับไปให้รัฐบ้าง เพราะการลงทุนทำถนนนี้ มันเป็นการเอาภาษีชาวบ้านไปทำ เพราะฉะนั้น 4 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นโดยเจ้าของที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ควรจะแบ่งกลับไปให้สังคม" ดร.ณรงค์กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ และ ประชาติธุรกิจ