• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ : เศรษฐกิจชะลอเช่นนี้ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำเกือบทุกแห่งต้องทำงานหนัก

กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ : เศรษฐกิจชะลอเช่นนี้ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำเกือบทุกแห่งต้องทำงานหนัก

เมื่อต้องเจอทั้งลูกค้าที่วิกฤตและลูกค้าพบโอกาสในการทำธุรกิจ…กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงของการเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายและธุรกิจการเงินหลายสิบปี เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ของธุรกิจและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนขณะนี้

กิติพงศ์ ระบุว่า ช่วงนี้ลูกค้ายังไม่กระทบมากนัก แต่เริ่มมีการเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างประเทศ เข้ามา ต่างจาก 2-3 เดือนก่อนที่เงียบมาก

"ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยขณะนี้ เป็นนักลงทุนต่างประเทศรายเดิม ๆ ที่เคยคุยกันค้างไว้ อย่าง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ส่วนสหรัฐมีน้อย โดยบริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยกลุ่มนี้ ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเท่าไหร่" กิติพงศ์ กล่าว

ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคธุรกิจ ก็ยังไม่พบมากนัก อาจด้วยเพราะ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกยังมาถึงไม่เต็มที่ แต่เชื่อว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นอีก ไม่นาน หากสุดท้ายผลกระทบแรง ก็จะ เริ่มเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ หานักลงทุนใหม่

" อีก 6-12 เดือน ยากจะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องรอดูกลุ่มผู้ส่งออก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่โชคดีที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความเข้มแข็ง" กิติพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศขณะนี้ ถือเป็นช่วงพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เชื่อว่าคนไทยยังมีศักยภาพ มีเงิน ไปลงทุนต่างประเทศได้ หรือแม้แต่ลงทุนในประเทศไทย ถ้าเจอบริษัทที่มีอนาคตดี แต่มีปัญหาการเงินขณะนี้ ก็น่าจะพิจารณา

"บริษัทไทยที่เข้มแข็ง มีกระแสเงินสดมาก สามารถไปซื้อของถูกในต่างประเทศได้" ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ กล่าว

กิติพงศ์ บอกว่า ถ้าบริษัทไทยไปเลือกลงทุนธุรกิจที่มีแบรนด์เนมอยู่แล้ว ถือว่าเป็นโอกาส เพราะราคาไม่แพงนัก เช่น ผู้ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า มีแบรนด์เนมดี ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าของสหรัฐและยุโรป เพราะจะช่วยให้บริษัทไทย ไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างแบรนด์เนม

กิติพงศ์ ระบุว่า ในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย จะให้คำแนะนำว่า โครงสร้างธุรกิจอย่างไร ดีที่สุด โดยพร้อมจะประเมินร่วมกับสาขาของเบเคอร์ในต่างประเทศ ว่าประเทศนั้น ๆ มีข้อจำกัดทางกฎหมายอย่างไร และรูปแบบลงทุน จากประเทศไทยอย่างไร ดีที่สุด เราเชื่อว่า หากนักลงทุนจัดโครงสร้างดี ภาษีก็จะไม่สูงมาก เนื่องจากภาษีของไทย ไม่เอื้อให้ไปลงทุนต่างประเทศและมีเงื่อนไขมาก

ขณะเดียวกันยังมีกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อนุมัติให้ นำเงินออกไปลงทุนไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งสรรพากรควรร่วมกันพิจารณาเรื่องกฎระเบียบการนำเงินกลับประเทศด้วย แม้จะเว้นภาษีให้ แต่มีเงื่อนไขมาก ไม่เอื้อให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศและส่งเงินกลับมาเมืองไทย

เนื่องจากปกติแล้ว ผู้ไปลงทุนในต่างประเทศจะลงทุนในประเทศที่ปลอดภาษี ตามประเทศที่เป็นเกาะต่าง ๆ รวม ถึงที่สิงคโปร์และฮ่องกง แต่ก็จะไม่นำเงินกลับมาเมืองไทย เพราะโดนภาษี จึงลงทุนในต่างประเทศเรื่อย ๆ ถือเป็นปัญหาของกฎหมายไทย ระบบภาษีต้องรื้อใหญ่เพราะทำให้การแข่งขันสู้ต่างประเทศไม่ได้

นอกจากนั้น การให้สิทธิประโยชน์บีโอไอ ภาษีศุลกากรต้องไม่สูงเกินไป เพื่อให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์เก็บภาษีเงินได้ 18% ฮ่องกง 16% มาเลเซีย 20% อินโดนีเซีย 28% เกาหลี 25% ขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษี 30%

กิติพงศ์ ยกตัวอย่างว่า หากรัฐบาล ไม่อยากลดภาษีแบบครอบคลุม ก็เน้น ไปที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก่อน เพราะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 550 บริษัท เสียภาษีนิติบุคคลให้รัฐบาล ถึง 22-25% หรือเสียภาษีไปแล้ว 1 ใน 4 ที่เหลือคือบริษัทข้างนอกที่มีถึง 3 แสนบริษัท

รัฐบาลอาจจะลดภาษีเหลือ 20% ซึ่งจะทำให้บริษัทที่อยู่ข้างนอกตลาดหลักทรัพย์มีแรงจูงใจ ที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์  ดังนั้นจึงควรเอาคนกลางมาพิจารณาว่าควรลดภาษีอย่างไร

กิติพงศ์บอกว่า รัฐบาลควรใช้จังหวะที่เศรษฐกิจมีปัญหา เริ่มทำการปฏิรูประบบภาษีใหม่ เพราะในประเทศอื่นมีการปรับเปลี่ยนทุกปี แต่มองว่าเหตุที่รัฐบาลไม่อยากดำเนินการแก้ไข เพราะกฎหมายภาษี ต้องเข้าสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นกฎหมายการเงิน ถ้าไม่ผ่านรัฐบาลต้องลาออกเพื่อรับผิดชอบ ดังนั้น โอกาสในการปฏิรูปภาษี จึงยากมาก

สำหรับพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว คิดว่าควรเปิดเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะบัญชี 3 ที่มี 21 ประเภทธุรกิจที่ต่างชาติต้องขออนุญาต โดยหนึ่งในบัญชี 3 มีคำว่า "ธุรกิจบริการอื่นๆ" ซึ่งถือว่าครอบคลุมมาก

"แก้ไขยาก เพราะพอบอกว่าธุรกิจคนต่างด้าว ทำให้คนไทยกลัว ทั้งที่จริงๆ แล้วคนไทยทำได้หมดแล้ว ดังนั้น ควรจัดธุรกิจที่ควบคุมเพียง 10-15 อย่าง แต่ของไทยขณะนี้มีเป็น 100 รายการ ทั้งที่ควรจำกัดเฉพาะที่ควรสงวนเอาไว้เท่านั้น" กิติพงศ์ กล่าว

นอกจากนั้น ยังอยากเห็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เข้ามาปฏิรูปกฎหมายภาษี แต่ในความเป็นจริง คณะกรรมการกลับไม่มีบทบาทผลักดันกฎหมายเท่าไหร่นัก ขณะที่ส่วนตัวในฐานะผู้ปฏิบัติ พบปัญหามาก

กิติพงศ์ กล่าวว่า ในฐานะเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย ยังเห็นโอกาสในการเข้าไปช่วยเหลือ การจัดสรรการลงทุนและการจัดโครงสร้างของ "ธุรกิจครอบครัว" โดยเฉพาะตัวเจ้าสัวในต่างจังหวัด จะยังไม่เข้าใจระบบการจัดโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้น การจัดสรรหุ้นหรือการทำพินัยกรรมแบ่งทรัพย์สิน วิธีการนี้จะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจ สามารถดำรงอยู่ได้ถึงรุ่นสามรุ่นสี่เป็นร้อย ๆ ปี เหมือนในประเทศญี่ปุ่นหรืออิตาลี

ทั้งที่ควรมีการจัดโครงสร้างการส่งถ่ายอำนาจ โครงสร้างถือหุ้นและสิทธิประโยชน์ เช่น การจัดการเรื่องเครื่องหมายการค้า ควรใช้ชื่อใคร หรือธุรกิจจะยืนยาว 100 ปี จำเป็นต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ ทำให้เป็นมิติในภาพรวม รวมทั้งการทำพินัยกรรมว่าควรทำอย่างไร โดยตลาดนี้ใหญ่มาก บางธนาคารมีลูกค้าที่มีเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ถึง 3,000 ครอบครัว ธุรกิจเหล่านี้เป็นเหมือน เพชรในตม  อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศ

"ลูกค้าที่เข้ามาคุย เราก็แนะนำ ธุรกิจแบบนี้ ต้องอาศัยความเชื่อมั่น เพราะต่างเก็บความลับ ไม่ยอมเปิดเผย" กิติพงศ์ กล่าว

ล่าสุด สำนักงานกฎหมายเบเคอร์จะร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดสัมมนาโครงสร้างธุรกิจและภาษี เนื่องจากที่ผ่านมา ธุรกิจครอบครัว ยังจัดโครงสร้างภาษีไม่ดีพอ ทำให้เกิดข้อพิพาทของสมาชิกในครอบครัว

ในส่วนของการบริหารสำนักงานทนายความเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่นั้น เชื่อว่า การผ่านวิกฤตปี 2540 มาแล้ว ทำให้มีประสบการณ์ในการเตรียมบุคลากร ให้บริการกฎหมายที่แตกต่างให้อย่างเต็มที่

ขอบเขตการให้บริการของบริษัท เบเคอร์ ครอบคลุมกว้างขวาง ทั้งธุรกิจสถาบันการเงิน งานพาณิชย์ ทรัพย์สินทางปัญญา ภาษีและการระงับข้อพิพาท รองรับลูกค้าหลากหลาย แบ่งเป็นลูกค้าในประเทศ 60% และลูกค้าต่างประเทศ 40%

นอกจากนี้ บริษัทยังมีพาร์ตเนอร์  38 คน นักกฎหมายมืออาชีพเกือบ 100 คน และพนักงานสนับสนุนกว่า 150 คน

ที่มานสพ.โพสต์ทูเดย์ 22 มีนาคม 2552