กทช.ออกเกณฑ์คุมโทร.ตปท. ห้ามมัดมือชกใช้”+”แทนรหัส

นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า
คณะกรรมการ กทช. เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2552
ที่ผ่านมาได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ที่กล่าวหาว่า
บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ใช้อำนาจทางการตลาดไม่เป็นธรรม

เนื่องจากทำการเรียกรหัสโทร.ทางไกลออกต่างประเทศ ผ่านเลขหมาย 005
ในกรณีที่ลูกค้ากดเครื่องหมาย "+" แทนเรียกผ่านเลขหมาย 001 ของ กสทฯ
ซึ่งเป็นที่รับรู้ของผู้ใช้บริการทั่วไปมานาน

โดย กสทฯให้เหตุผลว่า
การที่บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 25 % ทำให้การดำเนินการดังกล่าว ขัดต่อข้อ
11 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด
หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549
ขอให้ กทช.เร่งกำหนดเงื่อนไขและมาตรการในการใช้เครื่องหมาย "+"
สำหรับบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ กทช.พิจารณาแล้วว่า
ปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมาย "+"
และการกระทำของเอไอเอส มีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อประกาศของ
กทช.จึงมีมติให้

1.กสทฯไปดำเนินการเจรจากับเอไอเอสภายใน 30 วัน
และทำหนังสือแจ้งผลการเจรจาอย่างเป็นทางการแก่ กทช.

2.ให้สำนักงาน
กทช.ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ carier selection
สำหรับธุรกิจโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศภายใน 30 วัน
เพื่อให้มีความชัดเจนในการทำธุรกิจมากขึ้น

นอกเหนือจากการร้องเรียนต่อ กทช.แล้ว
กสทฯยังฟ้องแพ่งเอไอเอสข้อหาละเมิดสัญญา เนื่องจากโดยพฤตินัย การที่
กสทฯให้บริการ 001 ผ่านเครื่องหมาย "+" มานานจนเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป
และมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ที่ชัดเจน มีการแจ้งค่าบริการแบบ single
billing ผ่านใบแจ้งค่าบริการของเอไอเอส ถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง

ต่อมาเอไอเอสเปลี่ยนแปลงเครื่องหมาย "+" ให้ผ่านเลขหมาย 005
ของบริษัทลูกของตัวเอง
โดยไม่ได้ตกลงกับ กสทฯ จึงเป็นการกระทำที่ผิดสัญญา
โดยขณะนี้คดีความยังอยู่ในขั้นตอนของการไต่สวนข้อมูล

ด้านนายพีรศักดิ์ อรุณสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์
สายงานธุรกิจโทรศัพท์ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า
การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ carier selection การใช้เครื่องหมาย "+" นั้น
อยากให้ผู้ใช้บริการเป็นคนเลือกเอง ว่าจะใช้บริการผ่าน access code
ของบริษัทใด

และในการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภคต้องมีข้อมูลสำหรับตัดสินใจอย่างเพียงพอด้วย เช่น
อาจให้ลงทะเบียนว่า จะเลือกใช้เครื่องหมายใดในครั้งแรกแล้วการใช้เครื่องหมาย
"+" หลังจากนั้น ก็เรียกผ่าน access code
ที่ได้เลือกไว้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมที่ กทช.ต้องดูแล
เนื่องจากผู้ประกอบการอาจมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงเลขหมาย
หากไม่ใช่ access code ของบริษัทในเครือตัวเอง

"การที่ให้
กสทฯไปเจรจากับเอไอเอสนั้น ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าให้เจรจาทำไม
ในเมื่อประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยคนกลางเป็นผู้ตัดสิน
เรื่องการทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ carier selection เป็นเรื่องที่ดี

ควรจะนำร่างหลักเกณฑ์ออกมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็น ส่วนเรื่องคดีความที่ กสทฯฟ้องไว้
หากมีหลักเกณฑ์ของ กทช.ออกมา
เราคงต้องศึกษาดูก่อนว่า จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่
จากนั้นอาจพิจารณาเกี่ยวกับคดีนี้อีกครั้ง"

รายงานข่าวจาก
กทช.ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วใน ต่างประเทศ เช่น
ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแก้ไขโดยการออกประกาศให้เลิกใช้เครื่องหมาย "+"
แทนรหัสโทร.ต่างประเทศ
กรณีผู้ใช้งานในประเทศจากเครือข่ายมือถือโทร.ออกต่างประเทศ
แต่จะให้ใช้กับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศแล้วใช้บริการโทร.
ต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติ
จึงมีความเป็นไปได้ว่าในไทยอาจใช้แนวทางเดียวกัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ