• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • คณะรัฐมนตรี อนุมัติแพคเกจลดภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

คณะรัฐมนตรี อนุมัติแพคเกจลดภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มมาตรการคือ

1.มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน

2.มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

3. มาตรการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว และ

4.มาตรการช่วยเหลือลดภาระการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ขององค์กร

โดยการลดภาษีครั้งนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผลใช้บังคับ เมื่อออกพระราชกฤษฎีกาและประกาศกระทรวง

ทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง และนายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมแถลงมติที่ประชุมครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้

กลุ่มที่ 1 มาตรการลดภาษีเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดย 1.) เพิ่มเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ ซึ่งเสียภาษี ร้อยละ 0.5 จากเดิมวงเงิน 60,000 บาท เป็น 1 ล้านบาท ทำให้มีผู้ประกอบการประมาณ 9.7 แสนราย ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ ทำให้เสียภาษีน้อยลง

2) เพิ่มเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ ของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมปีละ 1.2 ล้านเป็น 1.8 ล้านบาท สำหรับเงินได้พึงประเมิน ประจำปี 2552-2553

3) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเพิ่มขึ้น

มาตราการ กลุ่มที่ 1 นี้ คาดว่าจะทำให้รัฐขาดรายได้ค่าภาษีไป ประมาณ 1,400 ล้านบาท

นายศุภรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการลดภาษีในกลุ่มที่ 1 จะทำให้ กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ทั้งที่ขายเร่ ขายตามตลาดนัด หรือร้านขายของชำ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้มีอาชีพอิสระ รับจ้างทำของ รวมทั้งข้าราชการ หรือผู้มีเงินเดือน ในกลุ่มที่มีอาชีพเสริม ซึ่งมีรายได้จากอาชีพเสริมไม่เกิน 1 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยการไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง

กลุ่มที่ 2  มาตราการลดภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนี่ยมเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2552 สามารถนำเงินต้น มาใช้เป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท เฉพาะปีภาษี 2552

เป็นการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์เดิม ที่สามารถนำดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย มาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทรวมถึงการต่ออายุการลดค่าธรรมเนียม ภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่เกิดจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ออกไปถึงเดือนมีนาคม 2553

มาตราการนี้ น่าจะมีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยตรง เพราะจะช่วยให้คนตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยได้เร็วขึ้นภายในปี 2552 และยังช่วยโละสต๊อคบ้านที่คั่งค้างและนำไปสู่การสร้างบ้านใหม่เพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่า จะครอบคลุมบ้านในระดับราคาประมาณ 1.5-2 ล้านบาทเป็นหลัก ซึ่งมีปริมาณร้อยละ 80 ของตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน โดยน่าจะมีผลกระตุ้นให้มีการซื้อขายบ้านใหม่ถึง 100,000 หน่วย 

มาตราการ กลุ่มที่ 2 นี้ คาดว่าจะทำให้รัฐขาดรายได้ ค่าธรรมเนียมการโอน ธุรกิจเฉพาะและภาษีหัก ณ ที่จ่ายประมาณ 30,000 ล้านบาท และจากค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกประมาณ 6,500 ล้านบาท

กลุ่มที่ 3  มาตรการลดภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจการท่องเที่ยว โดยให้บริษัทและห้างหุ้นส่วน ที่จัดอบรมสัมมนาพนักงานในประเทศ สามารถนำค่าที่พัก ค่าโรงแรมและค่าอาหาร นำไปใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้สองเท่าของจำนวนค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริงในรอบบัญชีปี 2552

มาตราการ กลุ่มที่ 3 นี้ คาดว่าจะทำให้รัฐขาดรายได้ค่าภาษีไป ประมาณ 1,800 ล้านบาท

กลุ่มที่ 4  มาตรการลดภาษีเพื่อช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้( NPL) ของบริษัทเอกชน โดยการยกเว้นภาษีเงินได้ แก่ลูกหนี้ที่ได้รับจากการปลดหนี้จากสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น และเจ้าหนี้สามารถนำค่าหนี้สูญจากการปลดหนี้ดังกล่าว มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยได้รับยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปกติ

นอกจากนี้ ยังยกเว้นภาษีเงินได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์และค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ที่เกิดจากการโอนกิจการหรือสินทรัพย์ เพื่อใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นบริษัทมหาชนหรือบริษัทจำกัด เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยต้องโอนให้แล้วเสร็จภายในปี 2552 

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจที่มีปัญหาหนี้สิน แก้ไขปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่าจะมีธุรกิจขอปรับโครงสร้างหนี้จำนวนมาก เพราะผู้เกี่ยวข้อง ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างดี

มาตราการชุดนี้ (Plan B) เป็นมาตรการเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1
แสนกว่าล้านบาท (Plan A) ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 13
มกราคม 2552 โดยเชื่อว่า
มาตราการชุดนี้ (Plan B) จะสามารถกระตุ้นและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและธุรกิจ ขับเคลื่อนให้ระบบเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

เรียบเรียงจาก นสพ. มติชนรายวัน และ นสพ.โพสต์ทูเดย์