• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • หลักปฏิบัติเรื่อง การป้องกันและแก้ไขในกรณีพนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน

หลักปฏิบัติเรื่อง การป้องกันและแก้ไขในกรณีพนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ประกาศที่ ๑/๒๕๕๒

เรื่อง หลักปฏิบัติเรื่องการป้องกันและแก้ไข กรณีพนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน

——————————————

โดยที่ในการทำงานวิชาชีพหรือการทำงานใด ๆ ของบริษัท อาจเกิดกรณีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เกิดขึ้น กล่าวคือ ผลประโยชน์ของพนักงานขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์ของบริษัท ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) อื่น ๆ และเนื่องจากพนักงานมีหน้าที่ซื่อสัตย์ ภักดีต่อบริษัทและต่อลูกค้า (Duty of Loyalty)

ดังนั้น จึงสมควรกำหนดหลักปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไข กรณีพนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อนให้ชัดเจน เพื่อให้พนักงานทราบและปฏิบัติอย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาและความเสื่อมเสียทางจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานหรือทำหน้าที่ของพนักงาน ในกรณีเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือในกรณีพนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน

คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาแล้ว จึงได้มีมติให้ใช้หลักปฏิบัติเรื่องการป้องกันและแก้ไข กรณีพนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน ตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๒

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 

—————————————— 

กรณีพนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือกรณีพนักงานมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict Of Interest: COI) หมายถึง กรณีที่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวของพนักงาน กับผลประโยชน์ของบริษัท หรือผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น ลูกค้า เป็นต้น  

พนักงาน มีหน้าที่ซื่อสัตย์ภักดี (Duty of Loyalty) ต่อบริษัท และต่อลูกค้า เมื่อเกิดกรณีผลประโยชน์ส่วนตัวของพนักงาน ขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์กับการทำหน้าที่ดังกล่าว อาจทำให้การตัดสินใจหรือการทำหน้าที่โดยไม่ลำเอียง หรืออย่างถูกต้องชอบธรรมเป็นไปได้โดยยาก

เมื่อเกิดกรณีพนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้อาจไม่มีการตัดสินใจหรือการทำหน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง แต่กรณีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นปัญหาจริยธรรมขั้นพื้นฐานหรือจรรยาบรรณของวิชาชีพเรื่องหนึ่ง ที่นับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากไม่มีการป้องกันและแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็อาจสร้างความเสื่อมเสียต่อพนักงาน ต่อบริษัท และต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้

แต่กรณีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่กรณีที่ผลประโยชน์ของพนักงาน บริษัท หรือลูกค้า สอดคล้องไปด้วยกัน ตามทำนองคลองธรรม เช่น ลูกค้าได้ประโยชน์ บริษัทได้ประโยชน์ และพนักงานก็ได้ผลงาน เป็นต้น

ดังนั้น พนักงานชาวธรรมนิติ จึงควรต้องป้องกันและแก้ไข ในกรณีที่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ตัวอย่างกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนที่มี หรืออาจมี

(1) การทำงานให้ลูกค้ารายหนึ่ง ขัดแย้งกับการกับการทำงานให้ลูกค้าอีกรายหนึ่ง เนื่องจากทั้งสองรายพิพาทกัน

(2) การทำหน้าที่ในงานหนึ่ง ขัดแย้งกับการทำหน้าที่อีกงานหนึ่ง เช่น เป็นกรรมการของทั้งสองบริษัท และสองบริษัทมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน หรือเป็นปฏิปักษ์กันในกิจการงานใด ๆ เป็นต้น

(3) กรณีบุคคลที่ใกล้ชิดในครอบครัวของพนักงาน เช่น สามี ภริยา บุตร หรือญาติสนิท  ให้บริการ ใช้บริการ ซื้อ ขาย หรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับบริษัท โดยพนักงานผู้นั้นเป็นผู้รับงาน ตกลงค่าบริการ ให้บริการ หรือทำงานทางวิชาชีพด้วยตนเอง เป็นต้น

(4) การเสนอหรือตกลงค่าบริการ การดูแลลูกค้า การดูแลงานวิชาชีพ และการทำงานวิชาชีพ ซึ่งพนักงานมีผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียในกิจการนั้น ๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม

(5) การรับของขวัญมูลค่าสูงหรือค่าตอบแทนอื่น ๆ จากลูกค้า หรือผู้อื่น ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจากการทำงานของบริษัท เช่น ทราบว่าลูกค้าของบริษัทต้องการหาผู้รับทำบัญชี จึงแนะนำผู้รับทำงานบัญชี แล้วรับค่านายหน้าจากผลการแนะนำงานนั้น

(6) การใช้ทรัพย์สินอุปกรณ์ของบริษัท นอกเหนือจากระเบียบการใช้ทรัพย์สินอุปกรณ์    นั้น ๆ ที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

(7) เป็นลูกจ้างหรือกรรมการของบริษัทหรือบุคคลอื่น โดยไม่แจ้งให้บริษัททราบ

(8) ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า หรือกิจการของลูกค้าหรือของบริษัท หรือโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เพื่อประโยชน์ของตนเอง

เมื่อเกิดกรณีพนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน ควรต้องใช้หลักปฏิบัติดังนี้

(1) เปิดเผย (Disclosure) ต่อคณะกรรมการบริหาร และเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้รับผิดชอบว่า งานหรือเรื่องใด พนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน

(2) ถอนตัว (Refusal) ออกจากการทำหน้าที่การตัดสินใจ หรือทำงานที่พนักงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน

(3) แก้ไขสถานะของตำแหน่งหรือหน้าที่ในการทำงานที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน (Removal) เช่น ลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ซึ่งขัดแย้งกัน เป็นต้น

——————-——————————