อายุความการลงโทษในคดีอาญา

นายปฏิคม  ฟองโหย

ทนายความ

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

e-mail : patikomf@dlo.co.th

 

สวัสดีครับ วันนี้ผมมีเกร็ดความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง อายุความการลงโทษในคดีอาญา มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องที่หลายๆ คนอยากรู้เรื่องนี้เช่นกัน

หลักกฎหมายเกี่ยวกับอายุความการลงโทษในคดีอาญา จะมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

(๑)  ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี

(๒)  สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี

(๓)  สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

(๔)  ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น

                ซึ่งจากบทบัญญัติของมาตรา ๙๘ ดังกล่าว เป็นตัวบทกฎหมายที่กำหนดเรื่องระยะเวลาที่จะต้องนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามคำพิพากษา หากล่วงเลยระยะเวลาดังกล่าวแล้วและยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามคำพิพากษาของศาลได้ ก็จะไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นได้อีก ซึ่งผู้กระทำความผิดบางรายก็จะใช้วิธีการหลบหนีคดีให้หมดอายุความ ตามมาตรา ๙๘ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษา

                สำหรับการนับระยะเวลาตามมาตรา ๙๘ นั้นต้องนำโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาเปรียบเทียบกับระยะเวลาตามมาตรา ๙๘ ก็จะทราบว่าอายุความในการจับตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษนั้นมีระยะเวลากี่ปี

ยกตัวอย่างเช่น จำเลยถูกฟ้องคดีอาญา ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๕ ปี โดยไม่มีการรอการลงโทษไว้ แต่จำเลยได้หลบหนีไปก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ต้องนำโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดนั้น มาพิจารณาเปรียบเทียบกับมาตรา ๙๘ ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้น หากพิจารณามาตรา ๙๘ (๓) ที่บัญญัติว่า “สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี” หมายความว่า หากจำเลยในคดีนี้หลบหนีคดีก็ต้องหลบหนีไปเป็นเวลา ๑๐ ปี  เพราะโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดนั้น คือจำคุก ๕ ปีหลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วระยะเวลา ๑๐ ปีที่ว่านั้นจะเริ่มนับกันตั้งแต่เมื่อไหร่ สำหรับอายุความในมาตรา ๙๘ นั้น จะแยกเป็น ๒ กรณีคือ กรณีที่ผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ คือหลบหนีไปโดยที่ยังไม่ได้รับโทษเลย ก็ให้นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และกรณีที่ผู้กระทำความผิดได้รับโทษไปบ้างแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนี ก็ให้นับแต่วันที่หลบหนีเป็นต้นไป

ระยะเวลาอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ เป็นบททั่วไป กรณีที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นที่มีบทบังคับหรือบทยกเว้นไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ไม่อาจนำอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๘ ไปใช้บังคับได้ยกตัวอย่างเช่น ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๑ จะมีบทบัญญัติในมาตรา ๗๔/๑ บัญญัติว่า “ในการดําเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีไป ในระหว่างถูกดําเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําเลย ถ้าจําเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ มาใช้บังคับ” ดังนั้น ถ้าผู้ใดถูกลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ ก็จะไม่อาจนำอายุความการลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ มาใช้ได้หมายความว่าต้องหลบหนีกันไปตลอด จับตัวได้เมื่อไหร่ก็ต้องมารับโทษเมื่อนั้น

ดังนั้น ถ้าใครคิดจะหลบหนี หรือมีคนที่รู้จักคิดจะหลบหนีคดี ก็ควรใคร่ครวญให้ดีและลองพิจารณาถึงระยะเวลาที่จะต้องหลบหนีกันให้ดี บางคนอายุมากแล้วแต่ตัดสินใจที่จะหนีคดีไปอีก ๑๐ ปีหรือ ๒๐ ปี ซึ่งหากนับรวมกับอายุตัวเองขณะที่หลบหนีแล้วบางคนเท่ากับต้องหนีไปตลอดชีวิตเลยก็มีจะไหวหรือเปล่าก็ต้องใคร่ครวญกันให้ดี ติดคุกยังมีวันออกนะครับ

เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆนี้ คงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านได้บ้างนะครับ ไว้โอกาสหน้าจะนำเกร็ดความรู้ทางกฎหมายมาเล่าสู่กันฟังใหม่ สวัสดีครับ

(๒๘ กันยายน ๒๕๖๐)