• ธรรมนิติ
  • /
  • บทความกฎหมาย
  • /
  • รายงานพิเศษ : คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ รับรองสิทธิของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในการปฏิเสธการรักษาพยาบาล โดยการทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้า (living will)

รายงานพิเศษ : คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ รับรองสิทธิของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในการปฏิเสธการรักษาพยาบาล โดยการทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้า (living will)

วันพฤหัสที่ 18 มิถุนายน 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ 11/2558 รับรองสิทธิของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในการปฏิเสธการรักษาพยาบาล โดยการทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้า (living will)

( ภาพ liviing will โดย Ave Rara )

คดีนี้ แพทย์กลุ่มหนึ่งนำโดย นพ. ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ นางอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล และนางเชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้ร่วมกันฟ้อง นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายวิทยา บูรณศิริ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้นต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลพิพากษาให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการทางสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้าย หรือ เพื่อยุติการทรมาณจากการเจ็บป่วย พศ.2550 ที่ออกตามมาตรา 12 วรรคสอง ของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่า หลักการของกฎกระทรวงดังกล่าวคือ การุณยฆาต (mercy killing หรือ euthanasia) คือการปล่อยให้ผู้ป่วยตายโดยโดยการงดเว้นไม่รักษา หรืองดเว้นไม่ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในการรักษา เพื่อยุติชีวิตของคน จึงขัดต่อจรรยาบรรณของแพทย์ ที่ห้ามแพทย์หยุดการรักษาผู้ป่วย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไป ทั้งกฎกระทรวงพิพาทออกเกินจากขอบเขตอำนาจของกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 บัญญัติว่า

มาตรา ๑๒ บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ 

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการทางสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้าย หรือ เพื่อยุติการทรมาณจากการเจ็บป่วย พศ.2550 ที่ออกตามมาตรา 12 วรรคสอง ของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงให้ยกคำฟ้องของแพทย์กลุ่มดังกล่าว โดยมีข้อวินิจฉัยที่สำคัญ ดังนี้

1. กฎกระทรวงฯพิพาท ได้ออกตามกระบวนการ หลักการและวิธีการที่ถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ (พศ.2550)และกฎหมาย โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากสภาวิชาชีพ องค์กรต่างๆและประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการแล้ว

2. การทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาพยาบาลฯ เป็นการใช้สิทธิเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ หรือ เลือกที่จะไม่มีชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลที่รัฐธรรมนูญ (พศ.2550) มาตรา 32 ได้รับรองไว้

3. หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาพยาบาลฯ เป็นการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าเพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบความประสงค์ของผู้ป่วยว่า จะใช้สิทธิอย่างไร

หากใช้สิทธิเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาจากแพทย์ในช่วงระยะสุดท้าย เพื่อที่จะได้ตายตามธรรมชาติ เพื่อมิให้ยื้อความตายอย่างสิ้นหวัง หรือทำให้ผู้นั้นต้องทรมานจากการเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆที่หากไม่มีบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในระยะสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยแล้ว ผู้นั้นควรจะตายอย่างธรรมชาติ

หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาพยาบาลฯ จึงเป็นการใช้สิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น กฎกระทรวงตามคำฟ้องที่ให้สิทธิผู้ป่วยที่จะปฏิเสธการรักษาจากแพทย์ จึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้บังคับได้ โดยแพทย์ต้องเคารพการตัดสินใจของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯดังกล่าว

4.กฎกระทรวงฯพิพาทได้กำหนดองค์ประกอบสำคัญคือ

1.หนังสือแสดงเจตนาฯต้องครบถ้วนสมบูรณ์

2.แพทย์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯถึงแก่ความตายด้วยวิธีการใดๆ

3. ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯยังต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคองต่อไป

4. ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯต้องมีภาวะตามที่กฎกระทรวงฯกำหนดเช่น ป่วยหนักในวาระสุดท้าย หรือ ทรมาณจากการเจ็บป่วยที่ไม่อาจรักษาได้ เป็นต้น

5.แพทย์ที่รับผิดชอบมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยพยกรณ์โรคตามมาตรฐาน ทางการแพทย์

6. ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯต้องการตายอย่างธรรมชาติ

กฎกระทรวงฯพิพาท ไม่ใช่การปล่อยให้ผู้ป่วยตายโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือ การใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิตผู้ป่วย แม้ว่าเป็นการทำตามหนังสือแสดงเจตนาฯของผู้ป่วยก็ตาม ทั้งแพทย์ไม่มีอำนาจหน้าที่ทำตามหนังสือแสดงเจตนาฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากทำตาม ก็เป็นความผิดและอาจต้องรับผิดตามกฎหมาย โดย แพทย์ไม่อาจอ้างมาตรา 12 วรรคสอง แห่ง พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พศ.2550 มาอ้างเพื่อยกเว้นความผิดในการเร่งการตายหรือทำให้ตายได้

แพทย์ไม่มีอำนาจหน้าที่ชักชวน โน้มน้าวจูงใจ หรือทำให้ผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษา เพราะอาจเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา กฎหมายนี้มิได้รับรองให้แพทย์หรือบุคคลใด มีสิทธิฆ่าคนอื่น โดยอ้างความเมตตากรุณา ที่เรียกว่า “การุณยฆาต หรือปรานีฆาต” ( euthanasia” or “mercy killing)  โดยการทำให้บุคคลตายโดยเจตนาด้วยวิธีการที่ทำให้ตายโดยไม่เจ็บปวด ตายโดยเร็ว หรือตายอย่างสะดวก เช่น การใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิตผู้ป่วยเพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัส ในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคร้ายแรงไม่มีวิธีรักษา

ในการสัมมนาเรื่อง “การให้สิทธิการตายกับผู้ป่วย” ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ๊งประพันธ์ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ บอกว่า หลักการของ “หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Living will) เป็นการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ปฏิบัติได้ถูกต้องมีหลักการ เห็นว่า วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่มีเครื่องมือช่วยยืดชีวิตผู้ป่วย บางครั้งทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง” กล่าวคือ ผู้ป่วยจะต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจเพื่อจะได้รับออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ผู้ป่วยอาจจะไม่มีความรู้สึกตัว หรือมีเพียงเล็กน้อยจนไม่มีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้ การช่วยชีวิตแบบดังกล่าวทำให้ความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยลดลง ผู้ป่วยจึงควรมีสิทธิที่จะตายโดยปฏิเสธการรักษาดังกล่าวได้ เพื่อให้กระบวนการตายมีสภาพเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง..สิทธิที่จะตายจึงเป็นสิทธิตามธรรมชาติ  มนุษย์สามารถกำหนดว่าตนเองจะใช้สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (the right to life) หรือสิทธิที่จะตาย (the right to die) ได้ตามความประสงค์ของแต่ละคน เป็นการยอมรับสิทธิในการเป็นเจ้าของร่างกายตนเองของมนุษย์ รวมทั้งความมีอิสระในการตัดสินโชคชะตาของตนเอง (the right to self-determination) สิทธิที่จะตายจึงแฝงเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอิสระเสรีของมนุษย์นั่นเอง สิทธิที่จะการตาย ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ในต่างประเทศมีมานานแล้ว สำหรับเมืองไทยที่ถกเถียงเรื่องนี้มีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกมา สิทธินี้มีมาตั้งแต่ ปี 2550  แต่ผ่านมา 8 ปี ปรากฏว่าคนไทยใช้สิทธินี้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่รู้ถึงสิทธิดังกล่าว”

สำหรับผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติม แหล่งข้อมูลอ้างอิง

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ 11/2558 ฉบับสมบูรณ์  ที่มา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

2. สรุปย่อคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2558 วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ที่มา ข่าวสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

3. การูณยฆาต วิกีพีเดีย 

4. การุณยฆาต เป็นศัพท์ทางนิติศาสตร์ (euthanasia; mercy killing) ส่วน ปรานีฆาต เป็นศัพท์ทางแพทยศาสตร์ [1] หรือ แพทยานุเคราะหฆาต (physician-assisted suicide) ที่มา ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน

5. พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ฉบับสำนักงานกฤษฎีกาได้ ไฟล์ pdf

6. ข่าวอ้างอิง คมชัดลึก  ไทยรัฐ  ข่าวสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสุขภาพแห่งชาติ